svasdssvasds

รัสเซีย - ยูเครน กับเงื่อนไขที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม

รัสเซีย - ยูเครน กับเงื่อนไขที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สาม

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร วิเคราะห์เจาะลึกความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน จะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ ? หรือจะเลวร้ายยิ่งกว่านั้น ?

(หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565)

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่รัสเซียนำกองกำลังนับแสนประชิดใกล้ชายแดนยูเครน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนกำลังที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง และสถานการณ์ยังทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศรับรองสถานะของโดเนตสก์และลูฮันสก์ ที่ต้องการแยกตัวจากยูเครนให้เป็นรัฐอิสระ และได้ส่งกองกำลังเข้าไป ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้

แม้จะมีความพยายามจำกัดให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มประเทศสมาชิกนาโต้ ที่นำทีมโดยสหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรป ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันเนื่องมาจากการที่ยูเครนต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ และสหภาพยุโรป เพื่อให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของรัสเซีย  

ความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบหรือไม่ ? หรือจะเลวร้ายยิ่งกว่านั้น ? SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์ได้วิเคราะห์สถานการณ์รัสเซีย - ยูเครน อย่างเจาะลึก ดังต่อไปนี้    

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัสเซีย-ยูเครน และปฏิบัติการทางการทหาร ที่อาจนำไปสู่สงคราม

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ได้แบ่งปฏิบัติการทางการทหารออกเป็น 3 ส่วน 1. การเตรียมกำลัง 2. การโจมตีทางอากาศ และ 3.กองกำลังภาคพื้นดินเคลื่อนกำลังบุกเมืองหลวง ซึ่งสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ในเวลานี้ก็ถือได้ว่า ปฏิบัติการทางการทหารที่อาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ... ได้เกิดขึ้นแล้ว

“ถ้าดูจากการเตรียมการเพื่อเข้าสู่สงครามของฝ่ายรัสเซีย - ยูเครน ก็ต้องถือว่าปฏิบัติการณ์ทางการทหาร เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยปฏิบัติการทางการทหารมีอยู่ 3 ส่วน

“ส่วนแรก เป็นการเตรียมกำลัง ซึ่งก็แอบแฝงมาด้วยการซ้อมรบ มีการวางกำลัง อพยพผู้คน จารกรรม การทำสงครามไซเบอร์เพื่อโจมตีระบบบัญชาการ ฯลฯ ซึ่งการเตรียมกองกำลังเกือบสองแสนนาย ถือว่าเป็นกองกำลังที่มีจำนวนมากพอที่จะเข้าไปบุกยึดกรุงเคียฟ (เมืองหลวงของยูเครน) ได้ หรือหลายพื้นที่ในยูเครนได้แล้ว เพราะทหารยูเครนมีกำลังไม่ถึง 2.5 แสนนาย

“ปฏิบัติการทางการทหารส่วนที่ 2 ยังไม่ได้เกิดขึ้น และหวังว่าจะไม่เกิด หวังว่าการเจรจาทางการทูตรอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดย รมว.ต่างประเทศของรัสเซีย กับ รมว.ต่างประเทศของยูเครน ที่ประสานโดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะทำให้เกิดการปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ ได้ตอบตกลงโดยหลักการแล้ว

“โดยปฏิบัติการทางการทหารส่วนที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากการเคลื่อนกำลังประชิดชายแดน แล้วมีการโจมตีทางอากาศตามมา อันนี้เป็นขั้นตอนจริงๆ ที่เราจะได้เห็นหากสงครามเกิดขึ้น โดยจะมีการทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ การโจมตีโดยขีปนาวุธพิสัยกลาง แต่ย้ำนะครับว่า ขณะนี้ส่วนที่สองยังไม่เกิดขึ้น และหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น

“ส่วนปฏิบัติการทางการทหารส่วนที่ 3 เมื่อโจมตีเสร็จแล้ว ก็จะตามมาด้วยการเคลื่อนกองกำลังทางภาคพื้นดิน หรือกองกำลังทางบกเข้าล้อมกรุงเคียฟ แต่คงได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง เพราะทางยูเครนก็มีกองกำลังหลายหมื่นคน ขณะนี้น่าจะเกณฑ์ได้เป็นแสนแล้ว

“ซึ่งถ้าเกิดปฏิบัติการทางการทหารส่วนที่ 3 ก็จะสร้างหายนะให้กับหลายฝ่าย รวมทั้งในยูเครนก็มีกองกำลังของหลายประเทศ ของโอเอสซีอี (องค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป) ที่อยู่ตรงนั้น ก็อาจมีการปะทะกัน ถ้ารัสเซียไม่ยอมถอนกำลัง แต่ในเวลานี้ยังมีความพยายามใช้การเจรจาทางการทูต เพื่อปลดชนวนสงคราม”

วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ถ้าเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะลุกลามไปถึงสงครามโลกครั้งที่สาม หรือไม่ ?

จากกรณีที่รัสเซียเคลื่อนกำลังนับแสน ประชิดใกล้ชายแดนยูเครน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนกำลังที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทั่วโลกเกิดความกังวลว่า จะเกิดสงครามใหญ่ หรืออาจเลวร้ายในระดับกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม ?

แต่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร วิเคราะห์ว่า ยังไม่น่าจะไปไกลถึงขั้นนั้น เพราะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ คือการเคลื่อนกำลังของฝ่ายที่สนับสนุนยูเครน รวมถึงการขยับของพญามังกร  

“ยังไม่น่าจะไปถึงขั้นนั้น (สงครามโลกครั้งที่สาม) ประเด็นแรกก็คือ ยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ จึงยังไม่ได้รับการปกป้องตามมาตรา 5 ว่าหากยูเครนถูกโจมตี สหรัฐฯ กับพันธมิตรนาโต้อีก 30 ประเทศจะมาปกป้อง เหมือนป้องกันอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เพราะฉะนั้นโอกาสที่นาโต้จะเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง จึงยังไม่มี  

“ประเด็นที่ 2 ขณะนี้สหรัฐยังไม่ได้เสริมกำลังเข้าไปในยูเครน ส่วนในกองกำลังนาโต้ ก็ยังไม่ได้ระดมกองกำลังใหญ่ที่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้า และดูเหมือนกับว่านาโต้ค่อนข้างลดบทบาทลงด้วยซ้ำ เหมือนปล่อยให้ยูเครนเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยลำพัง ฝรั่งเศสเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยเจรจาก็จริง แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่มีการขยับกองกำลัง ส่วนเยอรมนีก็ยังไม่มีทีท่าจะส่งยุทโธปกรณ์ไปสนับสนุนยูเครนแต่อย่างใด

“ฉะนั้นการลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่ ไม่น่าจะเกิดขึ้น เว้นเสียแต่ว่า พันธมิตรของรัสเซียในเอเชีย จะเปิดฉากโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ควบคู่กันไป ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นว่าจีนจะทำเช่นนั้นไปทำไม แต่ถ้าสมมติทำเช่นนั้นเพื่อช่วยเหลือรัสเซีย ก็จะทำให้เกิดสงครามสองสมรภูมิ เป็นสงครามใหญ่ไปเลย แต่ว่าในขณะนี้ถือว่าแนวโน้มยังไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไหร่นัก

“ในเวลานี้ จีนก็ยังคงสงวนท่าที ยังไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย อย่างเป็นทางการ แต่หลายท่านคงทราบแล้วว่า จีนสนับสนุนรัสเซีย ฉะนั้นคงให้ความช่วยเหลือกันพอสมควร (ถ้าเกิดสงคราม) แล้วก็พยายามเคลื่อนไหวทำให้สหรัฐฯ พะวักพะวงอีกสมรภูมิหนึ่งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จีนก็มีการฝึกซ้อมรบ อันนี้ก็จะเป็นท่าทีโดยรวม สรุปก็คือ ถ้าจะให้เลือกข้าง จีนก็ได้เลือกไปแล้ว ที่จะอยู่กับรัสเซีย"

วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ยูเครนมีความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ รัสเซียจึงยอมให้ฝักใฝ่นาโต้ไม่ได้

หากจะกล่าวว่า ด้วยท่าทีที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ ร่วมถึงสหภาพยุโรปของยูเครน เป็นอีกปัจจัยสำคัญแห่งความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่สงคราม ก็ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปนัก เพราะถ้ายูเครนยังมีท่าทีฝักใฝ่กลุ่มประเทศตะวันตก ตีตัวออกห่างรัสเซีย ก็จะทำให้รัสเซียตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบในแง่ภูมิยุทธศาสตร์

“ยูเครนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยุโรป (อันดับ 1 รัสเซีย) มีพื้นที่ 6 แสนกว่าตารางกิโลเมตร แล้วก็มีความอุดมสมบูรณ์ มีแร่เยอะ เป็นพื้นที่ทางตะวันตกของรัสเซียที่มีขนาดใหญ่มาก

“ประชากรค่อนข้างมีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพทางการทหารสูง เทคโนโลยีทางการทหารส่วนใหญ่ได้มาจากรัสเซีย เพราะเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต แล้วก็เป็นพื้นที่ภูมิยุทธศาสตร์ เป็นป้อมปราการที่จะไปสู่ยุโรปตะวันตก ดังนั้นถ้ายูเครนไปอยู่กับกลุ่มประเทศตะวันตก ก็หมายความว่ารัสเซียจะไม่มีกันชนเลย แล้วอิทธิพลของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกก็จะมาประชิดพรมแดนรัสเซีย

“บริเวณที่เป็นประเทศยูเครนในปัจจุบัน มีความพยายามแยกออกมาตั้งแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต (รัสเซียเดิม) เมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็มีการประกาศเอกราช ก่อนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย เมื่อปี 2534 ยูเครนก็มีการลงประชามติแยกตัวออกมาเป็นเอกราช และพยายามรักษาความเป็นกลาง เคยใกล้ชิดกับรัสเซียช่วงหนึ่ง แต่ช่วงหลังๆ ยูเครนมีท่าทีฝักใฝ่กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกมากกว่า เพราะต้องการเป็นสมาชิกนาโต้ และสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก"

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประชาชนยูเครน ส่วนใหญ่ไม่ต้องการถูกรัสเซียครอบงำ

ยูเครนเป็นประเทศที่ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ มีทั้งที่อยากอยู่กับรัสเซีย กับไม่อยากอยู่ภายใต้อิทธิพลรัสเซีย แต่ถ้าว่ากันตามสัดส่วนแล้ว ประเภทหลังจะมีมากกว่า

“ยูเครนมีประชากร 43 ล้านคน เป็นชาวยูเครนประมาณ 77 %  รัสเซียประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นก็เป็นเบลารุส มอลโดวา ไครเมีย บังกาเรีย ฮังการี โรมาเนีย

“ด้วยความที่มีชนกลุ่มน้อยเยอะ ทำให้การปกครองไม่ลงตัว มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้พยายามจะแยกตัวไปอยู่กับรัสเซีย แบบไครเมีย แต่ว่าเสียงส่วนใหญ่ของประชากรยูเครน ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับกลุ่มประเทศตะวันตก ต้องการอยู่ในความคุ้มครองของนาโต้

“คนยูเครนส่วนใหญ่ต้องการเป็นอิสระจากรัสเซีย ไม่อยากให้รัสเซียครอบงำ แต่ด้วยความผูกพันด้านเศรษฐกิจที่มีมานาน จึงไม่อยากจะทะเลาะ ไม่อยากเผชิญหน้า ไม่อยากมีปัญหาหรือทำสงครามด้วย แต่ถ้ามีสงครามจริงๆ ชาวยูเครนจำนวนมากก็พร้อมลุกขึ้นสู้ ทำให้หลายประเทศมองว่า ถ้าเกิดสงครามขึ้นจะทำให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมาก”

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กับ วลาดีมีร์ ปูติน ประธานธิบดีรัสเซีย

การเจรจาระหว่าสหรัฐ กับรัสเซีย เพื่อถอดชนวนสงคราม จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?

ฝรั่งเศสได้แสดงบทบาทในการคลี่คลายสถานการณ์ร้อนระอุระหว่างรัสเซีย - ยูเครน โดยใช้วิถีทางการทูตเข้าแก้ปัญหา และพยายามทำให้เกิดการเจรจาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ที่เป็นความหวังว่า จะทำให้เกิดการถอดชนวนสงคราม ส่วนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ได้วิเคราะห์ดังนี้

“การเจรจาเพื่อหาทางออก ต้องสนับสนุนให้สำเร็จ ประเทศไทยก็สนับสนุนแนวทางสันติ ต้องการให้ทุกฝ่ายเจรจากันผ่านทางกรอบของสหประชาชาติ กรอบของโอเอสซีอี รวมถึงกรอบอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส ที่เสนอกรอบนอร์มังดี ก็จะมีเยอรมนี ยูเครน รัสเซีย แล้วในที่สุดก็ต้องไปเจรจากับสหรัฐฯ ที่จะเป็นการประชุมสุดยอด ซึ่งขณะนี้สหรัฐก็ตอบตกลงในหลักการแล้ว แต่จะประชุมกันเมื่อไหร่ อีก 2 -3 วันก็อาจจะเห็นข่าว เมื่อ รมว.ต่างประเทศของยูเครน กับรัสเซีย พบกัน ก็หวังว่าแนวทางนี้จะเดินต่อไปได้

“ซึ่งการที่ยูเครนจะเข้าไปเป็นสมาชิกนาโต้ มีขั้นตอนต่างๆ เยอะมาก ทั้งในแง่ของการปรับระบบ การแก้ปัญหาทางการเมืองเรื่องชนกลุ่มน้อย กว่าที่จะเข้าเป็นสมาชิกได้จริงๆ ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ดังนั้นถ้ามีแถลงการณ์ออกมาอย่างเป็นทางการว่า กระบวนการการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน ยังไม่เสร็จสิ้น ยังไม่มีการตอบรับ เพราะมีหลายประเทศที่สมัคร แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับอีกเป็นจำนวนมาก

“หากมีแถลงการณ์ในลักษณะนี้ออกมา รัสเซียก็จะมีทางลง แล้วในการประชุมก็อาจมีข้อตกลงลับว่า นาโต้ยังไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่รัสเซียต้องการ รวมถึงข้อเสนอในการการซื้อพลังงาน ด้วยราคาที่รัสเซียพอใจ , การเปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 เพื่อให้รัสเซียจ่ายพลังงานโดยตรงเข้าไปสู่เยอรมนี , แล้วก็มีการวางระบบป้องกันดูแลชนกลุ่มน้อยรัสเซียในยูเครน ที่รัสเซียมองว่าถูกทางการยูเครนรังแก ฯลฯ เรื่องเหล่านี้อยู่บนโต๊ะเจรจาได้ทั้งหมด เพราะถ้าปูตินกลับบ้านมือเปล่า ก็คงจะอยู่ยากน่ะครับ ชาวรัสเซียก็คงไม่พอใจ

“ซึ่งถ้าไม่นับการโฆษณาชวนเชื่อของแต่ละฝ่าย มองแบบกลางๆ ก็น่าเห็นใจรัสเซีย เพราะบริเวณรัฐกันชนกว่า 10 รัฐไปอยู่กับสหภาพยุโรปหมดแล้ว ก็เหลือแต่ยูเครน และอีกแค่ไม่กี่ประเทศ เขาก็คงจะถอยลำบาก แล้วรัสเซียก็มองว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย อิทธิพลของกลุ่มประเทศตะวันตกก็จะประชิดพรมแดนประเทศของเขา

“แต่ถ้ามองแบบเห็นใจยูเครน เขาก็อยากเจริญรุ่งเรือง เพราะอยู่กับรัสเซียอาจไม่ได้เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองเท่ากับอยู่กับสหภาพยุโรปและนาโต้ครับ

“เยอรมนีทำไม่ได้ในรอบที่แล้ว ที่ไครเมีย ตอนนั้นเยอรมนีเป็นหลักในการเจรจา แต่ตอนนี้ฝรั่งเศสเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน แล้วก็เริ่มทำได้ดี แต่ฝรั่งเศสไม่ได้มีเครื่องมือในการต่อรองกับรัสเซียแบบเยอรมนี เพราะว่าเยอรมนีซื้อพลังงานจากรัสเซียมากที่สุด เพราะฉะนั้นน้ำหนักในการเจรจาก็อาจจะน้อยลง

“แล้วข้อเสนอของฝรั่งเศส ที่ขอให้ยูเครนประกาศความเป็นกลางแบบฟินแลนด์ เป็นพื้นที่กลาง ยูเครนก็ไม่ตอบรับ ทำให้ฝรั่งเศสอาจจะมีบทบาทน้อยกว่าที่หลายคนคาดหวังไว้”

วลาดีมีร์ ปูติน ประธานธิบดีรัสเซีย กับ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน  

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบอย่างไรกับไทยบ้าง ?

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รวมถึงท่าทีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ได้ให้ข้อมูลและเสนอแนะดังนี้

“สัญญาณที่ไม่ค่อยดีเหล่านี้ ก็ส่งผลกระทบแล้วทางด้านพลังงาน ในเรื่องของตลาดหุ้น ตลาดทุน ซึ่งก็กระทบในยุโรป แล้วก็กระทบกับประเทศไทยด้วย แต่เป็นในระยะสั้นหรือเฉพาะหน้า ส่วนเรื่องการค้าการขาย เรื่องข้อตกลงต่างๆ ก็อาจถูกชะลอไปบางส่วน เรามีข้อตกลงหลายส่วนกับรัสเซีย - ยูเครน ทั้งสองประเทศค้าขายกับไทยมาอย่างสม่ำเสมอ

“ที่ผ่านมา รัสเซีย - ยูเครน เพิ่มสัดส่วนการค้ากับไทยเรื่อยๆ เขาต้องการสินค้าไทยมากขึ้น แต่คงต้องชะลอออกไปก่อนในระยะนี้ และถ้าสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็คงต้องมีการประชุมในระดับนานาชาติ รวมทั้งไทย เพื่อกดดันรัสเซีย ด้วยการประณาม ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้นจะทำให้ไทยเราอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เพราะที่ผ่านมาไทยกับรัสเซีย เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกัน มีความสัมพันธ์ราบรื่นและดีมาโดยตลอด

“ช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ไทยได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือรัสเซีย พอเขาฟื้นตัวขึ้นมา ประธานาธิบดีปูตินก็ชื่นชอบประเทศไทยและมาเที่ยวเมืองไทยเป็นระยะ เพราะต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย โดยช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาเที่ยวไทยปีละเป็นล้านคน ส่วนยูเครนก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทยเช่นกัน มีการลงทุนอุตสาหกรรมอาวุธ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

“เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เลือกข้าง เราก็ลำบาก แล้วเราก็ไม่อยากจะทำอย่างนั้น อันนี้ก็จะเป็นผลกระทบทางการเมือง เรื่องความมั่นคง แต่สุดท้ายถ้าขัดแย้งกันจริงๆ (เกิดสงครามขึ้น) เราก็จะต้องดูแลผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศในไทย ต้องป้องกันอย่าให้มีมือที่สาม อย่าให้กระทบกระทั่งกัน ดูแลกิจการของเขา สถานทูตของเขา เราก็ต้องรับภาระที่ยากลำบากนี้ด้วยครับ

“ส่วนท่าทีของไทยทางการทูต ก็ต้องเป็นไปตามมติสหประชาชาติ แล้วก็เป็นไปตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศที่เราเป็นพันธมิตร สมาชิก และเป็นภาคี เช่น อาเซียน แล้วก็สหภาพยุโรป ที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญกับไทย เราต้องปรับท่าทีให้สอดคล้อง ถ้าเขามีมติอะไร เราก็ต้องทำตามนั้น เช่น ถ้าสหประชาชาติมีมติคว่ำบาตร (แต่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัสเซียสามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งได้) เราก็ต้องยึดตามกติกาสากล”

related