ราชกิจจาฯ เผยแพร่กฎหมายเก็บภาษี "อี-เซอร์วิส" จากผู้ให้บริการต่างประเทศ "เฟซบุ๊ก-กูเกิล-ยูทูบ-เน็ตฟลิกซ์ ฯลฯ" มีผลเริ่มเก็บภาษีในอีก 180 วัน เพิ่มรายได้รัฐ 5 พันล้าน/ปี โดยจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2567 ซึ่งจะเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการต่างประเทศ กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทย โดย พ.ร.บ. จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 7 ถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือในอีก 6 เดือนข้างหน้า
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ตอนนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างพูดคุยกับผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อจัดทำระบบการจ่ายภาษีให้ง่ายที่สุด
“หลังกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีเวลาอีก 180 วัน ก่อนจะมีผลกับการเก็บภาษี โดยกรมคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 นี้ จะมีรายได้เข้ามาก่อนเดือน ก.ย. ซึ่งเราประเมินไว้ 5,000 ล้านบาท” นายเอกนิติ กล่าว
ทั้งนี้ กรมสรรพากรประเมินว่า จะมีรายได้เพิ่มจากการเก็บภาษีตัวนี้ราว 5,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากขณะนี้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องเสียภาษี โดยขณะนี้มีประเทศที่บังคับใช้กฎหมายแล้วกว่า 60 ประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น