อาการ "สมองเมาแผ่นดินไหว" เกิดจากระบบทรงตัวถูกรบกวน (โดยแผ่นดินไหว) ส่งผลให้รู้สึกเหมือนพื้นยังสั่น อาการมักหายภายในไม่กี่ชั่วโมงแต่บางคนอาจเป็นนานหลายสัปดาห์
กรมอุตุฯ ระบุว่า แผ่นดินไหวในเมียนมา ขนาด 7.7 ความลึก 10 กม. เกิดขึ้นเมื่อเวลาราว ๆ 13.25 น. กระทั่งราว ๆ 13.38 น. ชาวกทม. รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ทยอยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน จังหวะนั้น ต่างคนต่างคิดว่า “นี่เรามีอาการบ้านหมุนหรือเปล่า” จนกระทั่งรู้ว่านี่คือแผ่นดินไหว
แต่เชื่อว่าไม่มากก็น้อยยังจำความรู้สึกตอนตึกมันโยกเยก หรือบ้านสั่นไหวได้ดี จนถึงตอนนี้ ซึ่งผ่านไปไม่ถึง 24 ชม. หลายคนอาจจะมีอาการวิตก และรู้สึกว่าบ้าน หรือตึกมันยังโยกเยกอยู่ นี่คืออาการที่เกิดขึ้นในสมองของเรา หรือที่เรียกว่า “โรคสมองเมาแผ่นดินไหว” (Earthquake Drunk)
ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เวชปฏิบัติทางประสาทวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสมองและความผิดปกติทางประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แชร์ลงเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ ว่า “นี่คืออาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome”
“การศึกษาชี้ว่าอาการนี้อาจเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัว (vestibular system) ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ควบคุมความสมดุล การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระบบนี้เสียสมดุล”
“ส่งผลให้สมองพยายามปรับความรู้สึกให้กลับมาปกติอย่างยากลำบาก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วย และอาการนี้อาจรุนแรงขึ้นในคนที่ไวต่อการเมารถอยู่แล้ว หรือในคนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการสั่นไหวจะรู้สึกชัดเจนกว่า”
“ระยะเวลาของอาการทางร่างกายเหล่านี้แตกต่างกันไป ในหลายคน อาการวิงเวียนจะค่อย ๆ หายไปภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเมื่อร่างกายปรับตัวได้”
“อย่างไรก็ตาม การวิจัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุในญี่ปุ่นปี 2011 (ขนาด 9.0) หรือแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในปี 2016 พบว่าบางคนมีปัญหาการทรงตัวนานถึงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การศึกษาหนึ่งพบว่า มากกว่า 42% ของผู้ที่ถูกสำรวจรายงานถึง “ความรู้สึกโคลงเคลงที่เหมือนภาพลวงตา” ในช่วงหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ”
เพจ สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ว่า อธิบายว่า อาการสมองหลอนแผ่นดินไหว หรือ earth illusion เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่รู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือนทั้งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจเป็นเพราะความตื่นตัวที่สูงขึ้นหรือความทรงจำจากเหตุการณ์อาการทางจิตสั่นไหว
แผ่นดินไหวสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดเฉียบพลัน เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว แพนิก บางคนนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งมีอาการเช่น การย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ความตื่นตัวเกินเหตุ หรือการนอนหลับยาก กลัวการอยู่ในตึก ฯลฯ
เบื้องต้น ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะสำหรับอาการหลังแผ่นดินไหว แต่สามารถใช้วิธีเดียวกับการแก้อาการเมารถได้ อาทิ มองไปที่จุดไกล ๆ เช่น สุดขอบฟ้า นอน หรือจิบน้ำบรรเทาอาการวิงเวียน สำหรับผลกระทบทางจิตใจ ให้ลองพูดคุย แลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ หรือหลีกเลี่ยงการดูภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ก็พอจะช่วยได้
ที่มา: สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง