เปิดมุมมอง ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ - Microsoft Thailand ในหลากหลายประเด็น อาทิ AI เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทยไปมากแค่ไหน ? , AI จะเปลี่ยนแปลงตลาดงานในอนาคตอย่างไร และมนุษย์ควรเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI ? และ อนาคต AI จะเป็นอย่างไร ?
โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุค AI...คำพูดนี้อาจจะไม่เกินความจริง เพราะตอนนี้ AI กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แทบจะวันต่อวัน ปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคตไปได้อีกไกล และกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญของมนุษย์เราในหลายๆด้านอย่างแน่นอน
Generative AI กลายเป็นคำที่คนทั่วไปเริ่มคุ้นเคยกันแล้ว , Gen AI กับความฉลาดที่สามารถสร้างคอนเทนต์ หรือเนื้อหาใหม่ๆอัตโนมัติได้หลากหลายแบบไม่จำกัดผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพาต่างๆสะดวกรวดเร็ว การใช้คำสั่งตัวหนังสือหรือข้อความให้เป็นรูปภาพที่สร้างความฮือฮาสามารถสร้างได้ภายในพริบตาเดียว กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
อีกนัยยะหนึ่ง AI ได้กลายเป็นสนามแข่งขันของผู้นำประเทศทั่วโลก รวมถึง ไทยเองด้วย ที่ตื่นตัวและมีความตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับ AI
SPRiNG Tech พูดคุยกับ คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด หัวเรือใหญ่ Microsoft Thailand บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยกว่า 35 ปี ในหลายๆประเด็น
ทั้งเรื่อง "AI for All Thais" ปี 2025 ซึ่งไมโครซอฟท์ อยากจะมอบพลัง AI ให้คนไทยทุกระดับ และมีกลยุทธ์ Scale Skills - Secure สร้างทักษะ – เสริมขีดความสามารถ – สานต่อความมั่นคง
ช่วงเริ่มต้นบทสนทนา คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ เริ่มเล่าเรื่อง วิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ ในประเด็น AI “AI for All Thais” ให้ฟัง โดยมองว่า AI นั่นคือโอกาสของทุกๆอย่างในอนาคต และ หากประเทศไทยเน้นการใช้งานของ AI ก็จะทำให้ประเทศของเรา มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้
โดย AI นั้น จะต้องดำเนินการผ่านแผนกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ สร้างทักษะ เสริมขีดความสามารถ และสานต่อความมั่นคง หรือ Scale Skills - Secure
โดย คุณธนวัฒน์ ค่อยๆขยายความให้เห็นภาพ เช่น AI เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในทุกอุตสาหกรรม การขยายผลนี้จะช่วยให้บริษัทไทยและเศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และสามารถเติบโตไปได้ไกลกว่าที่เคย
ขณะที่ ประเด็นเรื่อง การพัฒนาทักษะ (Skill) การเพิ่มทักษะดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพื่อให้คนไทยสามารถใช้เทคโนโลยีอย่าง AI ได้อย่างเต็มที่ ในปี 2023 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 64 ประเทศในด้านความสามารถทางดิจิทัล แม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ดี แต่อันดับในด้านทักษะดิจิทัลยังอยู่ในระดับต่ำ
ในปี 2025 ไมโครซอฟท์ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยคนไทยพัฒนาทักษะด้านนี้ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยการใช้ AI เป็นเครื่องมือในการอัปสกิล (Upskill), รีสกิล (Reskill) และสร้างทักษะใหม่ (New Skill) เพื่อให้คนไทยทุกคนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล
ส่วนเรื่อง ความปลอดภัย (Secure) : ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งาน AI ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้าอย่างยิ่ง ป้องกันไม่ให้ข้อมูลถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการทบทวนการใช้งาน AI ให้เป็นไปอย่างรับผิดชอบอยู่เสมอ โดยไมโครซอฟท์ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้าง AI ที่มีความปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในสังคม
สิ่งที่เป็นข้อดีของคนไทย ต่อประเด็น AI ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันนั้น หัวเรือใหญ่ Microsoft Thailand เปิดตัวเลขสถิติที่น่าสนใจ โดยบอกว่า จากการสำรวจของไมโครซอฟท์ใน 31 ประเทศ พบว่า 92% ของคนไทยพร้อมที่จะใช้ AI ในการทำงาน ซึ่งเป็นอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (75%) สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ดีและความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของคนไทย ที่มองเห็นว่า AI ช่วยเสริมประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในหลากหลายสาขา
ในด้านการศึกษา AI ช่วยให้เด็กทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ และพัฒนาทักษะได้ใกล้เคียงกับการมีครูพี่เลี้ยงส่วนตัว ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แม้กระทั่งเด็กในพื้นที่ชนบทหรือครอบครัวที่มีฐานะปานกลางก็สามารถใช้ AI เพื่อพัฒนาศักยภาพได้อย่างเท่าเทียม
ในด้านสาธารณสุขนั้น สามารถนำองค์ความรู้จากโรงพยาบาลชั้นนำ มาประยุกต์ใช้ใน AI เพื่อให้คนไทย 70 ล้านคนเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง สามารถใช้แอปพลิเคชันที่ให้คำแนะนำทางการแพทย์เบื้องต้นได้ ซึ่งเป็นการกระจายความรู้ทางการแพทย์ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง
"จะเห็นว่าวันนี้ เราไม่ได้พูดแค่เรื่องของ AI ว่าโมเดลมันจะเร็วขนาดไหน โมเดลนี้ตอบได้ดีหรือไม่ แต่วันนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่าโมเดลใน AI มันประยุกต์ ใช้ในชีวิตจริงๆ และในธุรกิจได้จริงๆ" ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
ขณะเดียวกัน คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ได้ให้มุมมองต่อการเติบโตผลิบานของ AI นั้น ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองว่า AI ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทักษะที่คนยุคใหม่ และคนเจเนอเรชั่นใหม่ต้องมี และคนที่มีทักษะ AI จะได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ และที่สำคัญที่สุด AI กับคนในสังคมนั้น จะเป็นมิตรกว่าในยุคคอมพิวเตอร์ เพราะ ผู้ใช้งาน AI ไม่จําเป็นต้องเข้าใจ Coding เหมือนสมัยก่อนแล้ว และสิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เราสามารถคุยกับคอมพิวเตอร์ สั่งให้คอมพิวเตอร์ทํางานได้ด้วยภาษามนุษย์ ได้แล้ว และในยุค AI ก็จะเป็นแบบนี้
หรือหากจะเปรียบเทียบให้เห็นอีกหนึ่งตัวอย่างอย่างชัดเจน , คุณธนวัฒน์ ได้ยกกรณีของตนเองนั้น ที่ เป็นคนไม่มีทักษะด้านดนตรีเลย แต่ทว่าทุกวันนี้สามารถใช้ AI ให้แต่งเพลงได้ ดังนั้น การมีอยู่ของ AI ในปี 2024 สะท้อนว่า เราไม่อาจไประบุว่าใครทำอะไรได้แค่ไหน และมีขีดความสามารถที่จำกัด เพราะ AI จะเป็นเครื่องมือให้ผู้คนสามารถสิ่งต่างๆได้อีกเยอะ
"ให้ AI ทําอย่างเดียวก็ดี แต่ก็ได้ในระดับหนึ่ง ให้เราเป็นคนเก่งมากๆไม่มี AI เลยทําก็ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อเราเอาคนเก่งมาบวก AI ถ้าเป็นแบบนี้คือดีที่สุด"
"วันนี้ ถ้าเราทํางานเราทําทุกอย่างโดยไม่มี AI เราจะสู้คนที่เขามี AI ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองตัวเองวันนี้ เราต้องถามตัวเองว่าเรามี AI มาช่วยเราหรือยัง เราเอา AI มาเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น จริงๆแล้วมันอาจจะมีอีกหนึ่งคําถามว่าแล้ว จริงๆ Skill ที่เราต้องมีคืออะไร ในการทํางานร่วมกันกับ AI" หัวเรือใหญ่ของไมโครซอฟท์เน้นย้ำ
ขณะเดียวกัน คุณธนวัฒน์ ได้ให้ความเห็นเรื่อง AI นั้น ทำให้ผู้คนไม่เสียเปรียบกกัน เพราะ AI ทำให้ทุกๆคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง คือเรื่องการท่องเที่ยว โดย AI มีภาษามากกว่า 100 ภาษา , AI สามารถทำได้ทั้งหมด ในการแปล-เปลี่ยนภาษาของเราให้เป็นภาษาต่างๆ และนี่คือสิ่งทำให้สังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป
อีกหนึ่งประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ นั่นคือ เรื่องความปลอดภัยในการใช้ AI และเรื่องประเด็น จริยธรรม AI เพราะนี่สิ่งที่หลายๆคนกังวล ซึ่ง คุณธนวัฒน์ ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้เช่นกัน และไมโครซอฟท์เองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ
"เราต้องให้ความสําคัญกับเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานของ AI เท่าๆกับเรื่องของโอกาสที่เราจะได้คือพี่พูดกับทุกคนเสมอว่า opportunity เท่ากับ Responsibility (โอกาสต้องมาเท่าๆกับความรับผิดชอบ)
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถ้าถามจริงๆ ก็เป็นกังวล แต่เป็นกังวล เพราะว่า AI ถ้าเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูก มันก็มีผลเสียมหาศาล อย่างเช่น การทําเรื่องของ Misinform คือการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือเอาไปใช้ในเรื่องของการที่มันเป็น bias มันก็ไม่ดี นี่คือจุดที่น่ากังวล ที่เราจะต้องช่วยควบคุม AI ให้มันอยู่ในกรอบที่มันเหมาะสม
โลกใบนี้อาจจะยังไม่ได้มีเป็นเหมือนกับ Standard ออกมา แต่บริษัทใหญ่ๆ รวมถึงหลายประเทศเนี่ยกําลัง Work อยู่ ไมโครซอฟท์ ให้ความสําคัญกับเรื่องนี้ เราเรียกกันว่า Responsible AI (คู่มือการใช้งาน AI อย่างมีจรรยาบรรณและรับผิดชอบต่อสังคม) ในไมโครซอฟท์
กล่าวคือ เรามีมาตรการที่จะทำให้ทุกอย่างถูกต้องว่า AI ต้องมีความรับผิดชอบ ทั้งในด้านของการออกแบบและทั้งในด้านของผู้ใช้ เพราะฉะนั้น AI จะต้องโปร่งใส ซื่อสัตย์ แล้วต้องเคารพในเรื่องของความเป็นส่วนตัวด้วย นี่คือสิ่งที่เราให้ความสําคัญมากๆ
ไมโครซอฟท์ ทําตั้งแต่การ setup เราเรียกว่าเป็นเหมือน Governance Microsoft ก็คือเป็น AI Committee ก่อนที่เราจะออก Service หรือ product ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ AI ต้องผ่านอันนี้ก่อนผ่านกฎ Responsible AI ของเราก่อนว่ามันโปร่งใสหรือไม่ ? มันมีความรับผิดชอบไหม มันมีความเป็นธรรมไหม มันมีความปลอดภัยไหม นี่คือสิ่งที่ ไมโครซอฟท์จะต้องมี"
ในช่วงท้ายๆของการสนทนา , ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้คาดการณ์เทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยมองว่าในอนาคตจะมีการใช้งาน AI เอาไปประยุกต์ไปใน used case จริงๆ จะไม่ใช่แค่การพูดถึงแบบธรรมดาๆอีกต่อไปแล้ว สังคมาจะได้เริ่มเห็นหลายๆองค์กร หลายๆอุตสาหกรรม เอา AI ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ
"เราเรียกกันใน Microsoft ว่า The new age of AI เราจะได้เห็นในปีหน้าแน่ๆ The new age of AI มันก็จะมาจากความสามารถของ AI ที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เราสามารถสื่อสารหรือสั่งงาน AI หรือ computer เนี่ยได้ด้วยภาษามนุษย์ที่มันง่ายมาก เทคโนโลยีที่จะมาต่อเนื่องกันไป"
"ความสามารถของ AI ในเรื่องของภาษาที่แข็งแรงขึ้นไปอีก มันจะเป็นธรรมชาติมากขึ้น และเราอาจจะสามารถขัดจังหวะ AI ได้ มันจะเหมือนมนุษย์มากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างมันจะไม่ได้เกิดประโยชน์ ถ้าเราไม่ได้เอา technology เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ หรือมา Empower ตัวเรา ให้เรามีความสามารถมากขึ้น เพราะฉะนั้น เราถ้าให้สรุป อยากจะใช้คําพูดว่า AI จะกลายมาเป็นเหมือน Personal assistant ของเราจริงๆ"
จากมุุมมองของ ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ นั้น จะเห็นว่าไมโครซอฟท์ มองเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงาน AI จะมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันที่เราทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และมันอาจจะกลายเป็นผู้ช่วยในชีวิตของเราจริงๆ