SHORT CUT
เมื่อธนาคารเสมือนจริง หรือ แบงก์ไร้สาขา Virtual Bank จะเข้ามาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมการเงินของคนไทยและทั่วโลกไปตลอดกาล เข้าถึงบริการการเงินของคนไทย ให้รวดเร็ว และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
จุดแตกต่างของ Virtual Bank หากเทียบกับธนาคารแบบดั่งเดิม คือสามารถช่วยให้กลุ่มประชากรที่ไม่มีหรือมีการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมได้อย่างจำกัด สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นผ่านอุปกรณ์มือถือและอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากธนาคารดั่งเดิมที่แม้จะมีการพัฒนา และหันมาให้บริการทางการเงินบนดิจิทัลมากขึ้น แต่การทำธุรกรรมหลายด้านยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และยังต้องพึ่งพาพนักงานสาขาในการให้บริการ
ก้าวแรกของ Virtual Bank ในประเทศไทยกำลังจะเริ่มขึ้น....หลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดให้ธุรกิจ หรือผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอใบอนุญาตหรือไลเซนส์ในการขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายใน 19ก.ย.2567 หลังปิดรับสมัครผู้ที่สนใจ
หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธปท. เพื่อคัดเลือกผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ธปท.กำหนด โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผู้ที่ได้ไลเซนส์ประมาณกลางปี 2568
เบื้องต้นธปท.กำหนดในการให้ไลเซนส์ครั้งนี้เพียง 3 ไลเซนส์เท่านั้น แม้จะมีเสียงท้วงติงจากกระทรวงการคลังที่อยากให้ไลเซนส์ในการจัดตั้ง Virtual Bank มากกว่านั้น แต่ในมุมธปท.มองว่า 3 ไลเซนส์ก็เพียงพอแล้วในการดำเนินธุรกิจในช่วงเฟสแรก
และการให้บริการ Vittual Bank สำหรับประเทศไทยถือว่ายังใหม่อยู่มาก ทั้งในมุมของผู้ให้บริการเอง หรือผู้กำกับอย่างธปท.ในการเข้ามากำกับดูแลให้ผู้ให้บริการอยู่ในกรอบกติกาที่วางไว้ ที่จะมีความเข้มงวดกว่าการกำกับสถาบันการเงินอย่างมาก เพื่อให้มั่นใจว่าการให้บริการ จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ หรือลูกค้าผู้ใช้บริการตามมาได้
หากดูความคืบหน้าในการยื่นของไลเซนส์ จัดตั้ง Virtual Bank ครั้งนี้ถือว่ามีความคึกคักไม่น้อย เพราะหากดูจากผู้ที่ประกาศตัวลงแข่งชิงไลเซนส์ Virtual Bank ถือว่าไม่ธรรมดา ต่างกุม “อาวุธ”มาเต็มอัตราเพื่อลงแข่งในสนามรบนี้ ทั้งฐานลูกค้า กำลังทุน ความแกร่งและความสามารถด้านเทคโนโลยีที่จะใช้เป็นอาวุธเข้ามาช่วงชิง “ลูกค้า”บน Virtual Bankในอนาคต
กลุ่มทุนแรก ที่คุ้นเคยกันดี คือ “เอสซีบี เอกซ์” ที่ส่งสัญญาณเดินหน้าเต็มสูบ ในการบุกเบิกในการให้บริการ Virtual bank ครั้งนี้ โดยการมาของเอสซีบี เอกซ์ครั้งนี้ ได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอีก 2รายที่นับว่าแข็งแกร่งอย่างมากด้าน “เทคโนโลยี” และประสบการณ์ในการทำ Virtual Bank ในต่างประเทศมาแล้ว
นั่นคือ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ KakaoBank กลุ่มทุนที่สอง “กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์” หรือธนาคารกรุงไทย และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ที่ได้ผนึกกำลังทางธุรกิจครั้งสำคัญในการเข้ามาช่วงชิงไลเซนส์ครั้งนี้ เพราะมองว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสอีกมากในการเข้ามาทำธุรกิจ
จุดเด่นของกลุ่มทุนนี้คือ การครอบครองฐานลูกค้ามหาศาลอยู่ในมือจำนวนมาก ซึ่งนับคร่าวก็ปาไปเกือบ 100 ล้านคนไปแล้วจากฐานลูกค้าของแต่ละแห่ง ทั้งจากฐานลูกค้าผ่านกรุงไทย ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 40 ล้านราย หรือถุงเงินอีก 1.8 ล้านราย รวมไปถึงฐานลูกค้าภายใต้ OR ที่มีฐานสมาชิกกว่า 8 ล้านคน หรือแม้แต่พันธมิตรจากเอไอเอส ที่มีฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านราย
กลุ่มทุนที่สาม กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ส่งสัญญาณในการเข้ามาช่วงชิงไลเซนส์ Virtual Bank เช่นเดียวกัน แม้ว่าหากเทียบกับ 2 รายข้างต้น กลุ่มซีพีเองเหมือนจะเงียบๆ แต่ก็เชื่อว่าทรงพลังไม่แพ้ 2 กลุ่มทุนข้างต้น เพราะด้วยพละกำลังทั้งฐานลูกค้าซีพีจำนวนมากที่ใช้บริการผ่านทรูมันนี่ก็ปาไปค่อนประเทศแล้ว ไม่พอหากดูในมุมพันธมิตรในกลุ่มเครือบริษัทยังเต็มไปด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงินทั้งสิ้น
กลุ่มทุนที่สี่ ที่เพิ่งประกาศตัวไปหมาดๆคือ กลุ่มของ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” หรือ BTS ที่เตรียมส่งบริษัทลูก คือ บริษัท วีจีไอ หรือ VGI ในการเป็นหัวหอกเข้ามาช่วงชิงเค้กในสมรภูมิ Virtual Bank แห่งนี้ ที่ถูกจับตาอย่างมากคือ การหันมาสนใจในธุรกิจ Virtual Bank ครั้งนี้ของ BTS อาจนำไปสู่การผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างบีทีเอส และธนาคารกรุงเทพ ที่มีทั้งฐานลูกค้าจำนวนมาก และความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงินไม่แพ้แบงก์อื่นๆ
ไม่ใกล้ไม่ไกลนั่นคือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ “ช้อปปี้” Shopee ที่ได้ข่าวว่าซุ่มๆแต่งตัวเพื่อมายื่นขอชิงไลเซนส์เช่นเดียวกัน แม้การมาของ “ช้อปปี้”ครั้งนี้จะมาแบบโดดเดียวไร้พวก ไม่ได้จับมือกับแบงก์ไหน หรือธุรกิจไหน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอาวุธในการสู้รบ เพราะแค่บนแพลตฟอร์มของ “ช้อปปี้”เองลูกค้าก็ปาไปหลายล้านคนไปแล้ว และแม้ตัว ช้อปปี้เองจะไม่มีประสบการณ์ตรงในการทำ Virtual Bank แต่บริษัทแม่ของ Shopee คือ Sea Group ได้เข้ามาในธุรกิจธนาคารเสมือนจริงในบางประเทศแล้ว
เช่นได้รับใบอนุญาตให้เปิดธนาคารเสมือนจริงในสิงคโปร์ ภายใต้ Sea Digital Bank ซึ่งเป็นหนึ่งในสองบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบจากธนาคารกลางสิงคโปร์ นี่แสดงให้เห็นว่า Sea Group กำลังเข้าสู่ตลาดการเงินดิจิทัลอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากลุ่มบริษัทนี้มีศักยภาพในการขยายธุรกิจไปยังธนาคารเสมือนจริงในภูมิภาคต่างๆอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะได้ ไลเซนส์ Virtual Bank แต่ที่แน่นอนการเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นจำนวนมาก และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย ทั้งในมุมของการให้บริการทางการเงิน ที่จะมาพร้อมความสะดวกสบายขึ้น รวดเร็ว ต้นทุนถูกลง และเข้าใจผู้ใช้บริการทุกคนได้มากขึ้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง