svasdssvasds

กองทัพสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการทดสอบ Manta Ray โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบ

กองทัพสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการทดสอบ Manta Ray โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบ

โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบของสหรัฐฯ Manta Ray รูปทรงคล้ายกระเบนราหูขนาดใหญ่ ผ่านการทดสอบเต็มรูปแบบเสร็จสิ้น หวังเสริมศักยภาพ พลิกโฉมความมั่นคงทางทะเล หากติดอาวุธ

SHORT CUT

  • Manta Ray โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบของสหรัฐฯ มีศักยภาพในการพลิกโฉมความมั่นคงทางทะเลหากติดอาวุธได้
  • จุดเด่นคือการออกแบบแบบโมดูลาร์ ปรับแต่งได้ตามภารกิจ พร้อมระบบประกอบและขนส่งที่ยืดหยุ่น 
  • โดรนใต้น้ำกำลังกลายเป็นสมรภูมิใหม่ในการแข่งขันทางการทหารระหว่างมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ในการช่วงชิงความได้เปรียบในมหาสมุทรแปซิฟิก

โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบของสหรัฐฯ Manta Ray รูปทรงคล้ายกระเบนราหูขนาดใหญ่ ผ่านการทดสอบเต็มรูปแบบเสร็จสิ้น หวังเสริมศักยภาพ พลิกโฉมความมั่นคงทางทะเล หากติดอาวุธ

การใช้โดรนหรือยานไร้คนขับในสงครามสมัยใหม่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโดรนทางอากาศ โดรนผิวน้ำ หรือโดรนใต้น้ำอย่าง Manta Ray รูปทรงคล้ายกระเบนราหูขนาดใหญ่ แม้จะฟังดูเหมือนพล็อตภาพยนตร์ของ Marvel แต่ในความเป็นจริงมันคืออาวุธที่อาจเป็นอนาคตของการป้องกันทางเรือในมหาสมุทรแปซิฟิก

ผู้เชี่ยวชาญระบุ โดรนใต้น้ำอาจเป็นตัวแทนของอนาคตของสงครามใต้ทะเล โดยมีความสามารถในการสู้รบ ในขณะที่ลดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุด

ตัวอย่างจากการใช้โดรนในสงครามทางอากาศที่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติ สหรัฐฯ ใช้โดรนเหล่านี้อย่างกว้างขวางในช่วงความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถานที่เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และโดรนรุ่นใหม่ราคาถูกกว่าได้กลายมาเป็นชิ้นส่วนสำคัญของยุทโธปกรณ์ทางทหารสำหรับทั้งสองฝ่ายในการสู้รบในสมรภูมิยูเครน-รัสเซีย

นอกจากนี้ ยูเครนยังได้สร้างโดรนผิวน้ำ ซึ่งสร้างความสูญเสียอย่างหนักให้กับกองเรือทะเลดำของรัสเซียที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีราคาแพงกว่ามาก แนวคิดในการใช้ยานรบไร้คนขับ จึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

กองทัพสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการทดสอบ Manta Ray โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบ

ล่าสุด สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงกลาโหมของสหรัฐ หรือ DAPA (Defense Advanced Research Projects Agency ) ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดของ Manta Ray ยานพาหนะใต้น้ำแบบไร้คนขับ (UUV) ต้นแบบของ ที่สร้างโดย Northrop Grumman ได้ผ่านการทดสอบในน้ำเต็มรูปแบบนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียตอนใต้ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา

การทดสอบแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอุทกพลศาสตร์ในทะเล รวมถึงการปฏิบัติการใต้น้ำโดยใช้อุปกรณ์ทั้งหมด โหมดการขับเคลื่อนและการบังคับเลี้ยวของยานพาหนะ  การลอยตัว ใบพัด และพื้นผิวการควบคุม ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะพัฒนาต่อจนเป็นอาวุธที่พร้อมใช้งานจริง

DARPA ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดเพนตากอนที่รับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ กล่าวว่าจุดแข็งของ Manta Ray อยู่ที่โมดูลาร์ คือความสามารถในการปรับเปลี่ยนน้ำหนักบรรทุก ซึ่งขึ้นอยู่กับภารกิจ เนื่องจากมันสามารถบรรทุกสัมภาระขนาดตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน 5 ตู้ ขนส่งไปยังจุดที่จะใช้งาน และประกอบกลับในภาคสนาม โดยยานต้นแบบถูกสร้างขึ้นในรัฐแมริแลนด์ จากนั้นจึงประกอบขึ้นใหม่บนชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย

Kyle Woerner หัวหน้าโครงการ Manta Ray ที่ DARPA กล่าวในแถลงการณ์ ว่า “การผสมผสานระหว่างการขนส่งแบบโมดูลาร์ข้ามประเทศ การประกอบภาคสนาม และการใช้งาน  แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับ UUV ขนาดใหญ่พิเศษ”

กองทัพสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการทดสอบ Manta Ray โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบ

โดรนสงครามใต้น้ำต้นแบบของสหรัฐฯ Manta Ray สามารถขนส่งยุทธภัณฑ์หรือสัมภาระอื่นๆได้อย่างสะดวกรวดเร็วทั่วโลก โดยไม่ต้องใช้ท่าเรือเหมือนระบบขนส่งในปัจจุบัน

ยังไม่มีข้อมูลเปิดเผยว่า Manta Ray สามารถดัดแปลงให้สามารถติดอาวุธได้หรือไม่ หรือเพนทากอน กำลังวิจัยยานรบใต้น้ำแบบอื่นๆด้วยหรือไม่

ขณะเดียวกัน จีนระบุว่า "ภัยคุกคามที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว" ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคง กำลังพัฒนายานพาหนะใต้น้ำแบบไร้คนขับ เช่นกัน 

แม้ว่ารายละเอียดจะหายาก เช่นเดียวกับขีดความสามารถส่วนใหญ่ของจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจีนกำลังพัฒนายานใต้น้ำติดอาวุธแบบไร้คนขับมาเป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี  นอกจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีนแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่กำลังวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับ UUV ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย อิหร่าน อิสราเอล เกาหลีเหนือ นอร์เวย์ รัสเซีย เกาหลีใต้ ยูเครน และสหราชอาณาจักร 

ภาพรวมจึงชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยียานใต้น้ำไร้คนขับจะกลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิใหม่ของการแข่งขันด้านการทหารระหว่างชาติมหาอำนาจในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในการช่วงชิงความได้เปรียบเหนือกันในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปครับ ว่าใครจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ล้ำหน้าและมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

ที่มา

related