SHORT CUT
ฟิลเตอร์เอฟเฟกต์ AR ในแอปฯ Instagram ที่้สร้างโดยนักพัฒนาภายนอก (3rd Party) กำลังจะถูกลบออกจากแอปฯทั้งหมด มีผลในวันที่ 14 มกราคม 2025 นี้
14 ม.ค. 2025 อวสานฟิลเตอร์ AR จากนักพัฒนาภายนอก แอป Instagram กำลังจะหายไป
อย่างไรก็ตาม คนที่เล่น IG อย่างเพิ่งตกใจว่า ฟิลเตอร์ทั้งหมดจะหายไปแบบ 100 % เพราะต่อจากนี้ ฟิลเตอร์ที่เหลือให้ใช้งานคือฟิลเตอร์พื้นฐานของ Meta เองเท่านั้น
การตัดสินใจลบฟิลเตอร์เอฟเฟกต์ AR นี้ เป็นผลจากประกาศปิดบริการ Spark AR แพลตฟอร์มที่ให้นักพัฒนาภายนอกสร้างเอฟเฟกต์ AR ให้ใช้งานกับแอปต่าง ๆ ในเครือ Meta โดยให้เหตุผลว่าบริษัทต้องการจัดลำดับความสำคัญของโครงการและบริการต่าง ๆ ใหม่
และ Meta บอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความพยายามที่ใหญ่ขึ้นในการมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อว่าจะตอบสนองความต้องการในอนาคตของผู้บริโภคได้ดีที่สุด”
ที่ผ่านมา Spark AR มีเครื่องมือชื่อ Meta Spark Studio ที่สามารถเขียนสคริปต์สร้างเอฟเฟกต์ต่าง ๆ จึงทำให้มีเอฟเฟกต์มากมายให้ใช้งาน
ทั้งนี้ AR ถือเป็น เทคโนโลยีเสมือน หรือ Reality Technology ที่หลายคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผสานโลกความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือน
AR หรือ Augmented Reality คือ การมีปฏิสัมพันธ์แบบ 3 มิติ ที่ผสมผสานมุมมองของโลกจริงเข้ากับเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ โดยมีอุปกรณ์เป็นตัวกลาง เช่น แว่น AR หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
เมื่อผู้ใช้มองโลกผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะเห็นภาพกราฟิกจากโลกเสมือนมาปรากฏอยู่ตรงหน้า
อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงตัวอื่น เพราะสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั่วไป
ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดของ AR คือเกมยอดฮิตที่ให้ทุกคนมาไล่จับโปเกมอนตามสถานที่ต่างๆ อย่าง Pokémon Go ไปจนถึงวงการโฆษณาที่ให้ลูกค้าโต้ตอบกับป้ายผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ หรือ การเล่น AR ผ่าน IG อย่างที่เราคุ้นเคยกันดี
หรือใน Instagram AR Filters หรือก็คือฟิลเตอร์หน้าแบบ Augmented Reality เช่น หูแมว, มงกุฎดอกไม้ ไปจนถึงฟิลเตอร์แปลก ๆ ที่เราอาจจะต้องร้องว้าว สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะใช้กล้องหน้าหรือกล้องหลังของโทรศัพท์ และใช้ได้ทั้งการถ่ายภาพนิ่ง, วิดีโอ หรือ บูมเมอแรง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีบริษัทผลิตแอปพลิเคชันรองรับ AR อย่าง Amazon ที่นำเสนอ Amazon Augmented Reality โดยให้สแกน QR Code เพื่อเล่นเกมจากกล่องสินค้า ไปจนถึงแอปที่ให้ลูกค้าทดลองนำภาพเสมือนของเฟอร์นิเจอร์วางในบ้านประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อจริง เช่นเดียวกับแอป IKEA Place ของ IKEA รวมถึงฟิลเตอร์ที่หลายคนใช้กันในแอปพลิเคชันอย่าง Snapchat, Instagram, TikTok ไปจนถึงการนำ AR มาใช้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีตัวอย่างโรงเบียร์ในอเมริกาที่ให้ลูกค้าใช้แอปดูข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแสกนที่ขวด ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : spark.meta 9to5mac
ข่าวที่เกี่ยวข้อง