svasdssvasds

ไทยเตรียมรับมือ “พายุสนามแม่เหล็ก” รุนแรงระดับ 7 ดาวเทียมถูกรบกวน ใช้ไม่ได้ชั่วคราว

ไทยเตรียมรับมือ “พายุสนามแม่เหล็ก” รุนแรงระดับ 7 ดาวเทียมถูกรบกวน ใช้ไม่ได้ชั่วคราว

GISTDA เตือนไทยเตรียมรับมือ “พายุสนามแม่เหล็ก” ความรุนแรงระดับ 7 อาจส่งผลกระทบกับดาวเทียมนำทาง-ดาวเทียมสื่อสารอาจถูกรบกวน ใช้งานไม่ได้ชั่วคราว รวมไปถึงบางสัญญาณวิทยุและระบบไฟฟ้า

SHORT CUT

 

 

GISTDA เตือนไทยเตรียมรับมือ “พายุสนามแม่เหล็ก” ความรุนแรงระดับ 7 อาจส่งผลกระทบกับดาวเทียมนำทาง-ดาวเทียมสื่อสารอาจถูกรบกวน ใช้งานไม่ได้ชั่วคราว รวมไปถึงบางสัญญาณวิทยุและระบบไฟฟ้า

ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ที่มนุษย์คุ้นเคยที่สุด เป็นดาวที่เป็นทั้งผู้ให้กำเนิด และให้พลังงานหล่อเลี้ยงชีวิตบนโลก ดวงอาทิตย์ที่ดูเหมือนเป็นทรงกลมเกลี้ยงที่สงบเงียบแท้จริงแล้วมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา บางครั้งอาจเกิดการปะทุใหญ่ บนพื้นผิว พ่นทั้งพลังงานและอนุภาคพลังงานสูงออกมาเป็นปริมาณมาก ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงโลกได้ 

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดจากการปะทุบนดวงอาทิตย์ที่มีผลมาถึงโลกคือ พายุแม่เหล็กโลก เกิดจากลมสุริยะที่มีความรุนแรงปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้เกิดความปั่นป่วน แม้การปะทะนี้จะเกิดขึ้นในอวกาศเหนือชั้นบรรยากาศโลกไป แต่ก็ส่งผลกระทบต่อโลกได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเทคโนโลยีอวกาศ เช่นดาวเทียม การส่งกำลังไฟฟ้า หรือการสื่อสารวิทยุ ส่วนผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์มีไม่มากนัก

องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ โนอา (NOAA--National Oceanic and Atmospheric Administration) ได้กำหนดมาตราหนึ่งสำหรับแสดงระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศนอกโลกที่จะมีผลต่อโลกไว้เพื่อความสะดวกในการสื่อสารกับสาธารณชน มาตรานี้แสดงด้วยตัวเลขในทำนองเดียวกับมาตราริกเตอร์ที่แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหวหรือมาตราฟุชิตะที่ใช้ในการแสดงความรุนแรงพายุ 

G 5 รุนแรงที่สุด

ผลกระทบ : ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าและระบบป้องกันเสียหายทั่ว ระบบสายส่งไฟฟ้าอาจล่มหรือดับถาวร หม้อแปลงไฟฟ้าอาจเสียหาย ยานอวกาศมีปัญหาจากประจุเข้มข้นที่สะสมที่ผิวยาน มีปัญหาด้านการสื่อสารและการควบคุมทิศ กระแสไฟฟ้าในท่อส่งน้ำอาจสูงหลายร้อยแอมแปร์ การกระจายสัญญาณความถี่สูงล้มเหลว เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 40 องศา

 

 

G 4 รุนแรงมาก

ผลกระทบ : ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าอาจเกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง ยานอวกาศอาจเกิดการสะสมประจุขึ้นที่พื้นผิวและอาจมีปัญหาในการสื่อสารและควบคุมทิศ เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในท่อส่งน้ำ เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามไปถึงละติจูดแม่เหล็ก 45 องศา การกระจายสัญญาณความถี่สูงขัดข้องเป็นระยะ

G 3 รุนแรงปานกลาง

ผลกระทบ : แรงดันไฟฟ้าในระบบส่งไฟฟ้าผิดปรกติ แต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบปรับแรงดัน อาจเกิดการสะสมประจุในชิ้นส่วนของดาวเทียมและอาจเกิดความผิดพลาดกับระบบควบคุมทิศทาง มีปัญหากับระบบกระจายสัญญาณวิทยุความถี่ต่ำเป็นระยะ เกิดแสงเหนือแสงใต้ลามลงไปถึงระดับละติจูดแม่เหล็ก 50 องศา

G 2 ปานกลาง

ผลกระทบ : ระบบสายส่งไฟฟ้าที่ละติจูดสูง ๆ อาจเกิดความผิดปรกติของแรงดัน หากเกิดเป็นเวลานานอาจทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าเสียหาย การควบคุมทิศทางของดาวเทียมอาจเกิดความผิดปรกติแต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบรักษาทิศทาง และอาจทำให้วงโคจรเปลี่ยนแปลง สัญญาณความถี่สูงที่ละติจูดสูงอาจอ่อนกำลัง เกิดแสงเหนือใต้ลามมาถึงระดับ 55 องศา

G 1 น้อย

ผลกระทบ : เกิดความผันผวนของแรงดันในระบบส่งกำลังไฟฟ้าเล็กน้อย สัตว์ที่อพยพโดยใช้สนามแม่เหล็กในการกำหนดทิศอาจสับสน เกิดแสงเหนือใต้ที่ละติจูดสูง

ล่าสุด GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประเด็น เตรียมรับมือพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด โดยระบุว่า 

GISTDA เตือนไทยเตรียมรับมือ “พายุสนามแม่เหล็ก” ความรุนแรงระดับ 7

 

 

 

ตั้งแต่ค่ำคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 4 ทุ่มโดยประมาณตามเวลาประเทศไทย มนุษย์กำลังเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กโลกที่กระทบโลกรุนแรงเป็นนับตั้งแต่มีการติดตามสภาพอวกาศ (space weather) โดยในอดีตเกิดขึ้นใน พ.ศ 2402 หรือ ค.ศ. 1859 ประมาณ 165 ปีก่อน คือการเกิดปรากฏการณ์ Carrington event และครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546 หรือ ค.ศ. 2003 หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Halloween solar storm โดยในครั้งนี้ สร้างผลกระทบกับระบบไฟฟ้าของประเทศสวีเดนและสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าในแอฟริกาใต้

สำหรับครั้งนี้มาจากบริเวณที่มีการประทุ (AR 3664) ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดมหึมาเทียบเคียงกับ 2 ครั้งที่กล่าวมา

ข้อมูลล่าสุด พบว่าการประทุที่รุนแรงได้ปล่อยการปลดปล่อยก้อนมวลขนาดใหญ่จากโคโรนาของดวงอาทิตย์ (corona mass ejection : CME) เป็นระยะกว่า 6-7 ระลอก ส่งผลให้เกิดลมสุริยะ (Solar wind) กระทบโลกอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 2 อ้างอิงจาก NOAA) โดยข้อมูลล่าสุดที่มีการรายงานจาก NOAA ลมสุริยะที่มีความเร็วสูงสุดที่ 835 km/s มีค่าสนามแม่เหล็กสูงสุด (Bt) 74 nT โดยมี Bz เท่ากับ -45 nT ซึ่งแสดงทิศทางมายังโลก

GISTDA เตือนไทยเตรียมรับมือ “พายุสนามแม่เหล็ก” ความรุนแรงระดับ 7

ผลการวิเคราะห์ค่าสนามแม่เหล็กโลก โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (อังกฤษ: National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาและช่วงเย็นของวันนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ค่าพายุสนามแม่เหล็กโลกซึ่งบ่งบอกด้วยค่า Kp index ขึ้นสู่ระดับสูงสุด Kp index = 9 หรือ ระดับ G5 โดยมีความรุนแรงขั้นสูงสุดของพายุสนามแม่เหล็กโลก (Extreme level) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดในวงรอบสุริยะ (Solar cycle) ที่ 25 (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567) ซึ่งจากแบบจำลองของ NOAA บ่งชี้ว่าเรากำลังเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2567

ทั้งนี้ จากการเฝ้าติดตามค่าสนามแม่เหล็กโลกบริเวณพื้นที่ประเทศไทย พบว่าช่วงคืนที่ผ่านมา ตรวจวัดค่าสนามแม่เหล็กที่ local k index จากเซ็นเซอร์ที่ติดในประเทศไทย ผลการวิเคราะห์ค่ารุนแรงพายสนามแม่เหล็กโลกของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ 7 หรือระดับ G3 ซึ่งบ่งชี้ว่า ค่าสนามแม่เหล็กบริเวณไทยอยู่ในระดับรุนแรง (Strong level)

ผลกระทบที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. ประเทศที่อยู่ในเขตละติจูดที่สูง จะมีโอกาสได้รับชม “แสงเหนือ” หรือออโรร่าที่มีสีสันหลากหลายและพบได้เป็นบริเวณกว้างมากกว่าปกติ
  2. ดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ดาวเทียมนำทางและดาวเทียมสื่อสารอาจจะมีการถูกรบกวนหรือใช้งานไม่ได้ชั่วคราว รวมไปถึงสัญญาณวิทยุช่วงความถี่สูงในเครือข่าย HF/VHF/UHF และ ระบบไฟฟ้า

GISTDA เตือนไทยเตรียมรับมือ “พายุสนามแม่เหล็ก” ความรุนแรงระดับ 7

ปัจจุบันทาง GISTDA ได้ติดตามสภาพอวกาศ (space weather) ด้วยระบบการพยากรณ์สภาพอวกาศ (space weather forecast system : JASPER ) ซึ่ง GISTDA มีความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการติดตามเหตุการณ์ในครั้งนี้ เราใช้ข้อมูลที่ได้จากครื่องมือวัดสนามแม่เหล็กโลก (magnetometer) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง GISTDA กับ National Institute Of Information And Communications Technology หรือ NICT จากประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยติดตั้งอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก เพื่อติดตามสภาพอวกาศที่จะกระทบกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ทาง GISTDA และเครือข่าย จะติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังสภาพอวกาศที่จะกระทบประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและจะอัพเดทข้อมูลเป็นระยะๆ

ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) , สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related