svasdssvasds

เปิดข้อมูล "สุริยุปราคาเต็มดวง" นาน 4 นาที ดูได้ที่ไหน เกิดพายุสุริยะ?

เปิดข้อมูล "สุริยุปราคาเต็มดวง" นาน 4 นาที ดูได้ที่ไหน เกิดพายุสุริยะ?

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดข้อมูล "สุริยุปราคาเต็มดวง" วันนี้ สามารถเห็นที่ไหนบ้าง มีคำตอบ เกี่ยวข้องกับการเกิด "พายุสุริยะ" หรือไม่

SHORT CUT

  • มีข้อมูลที่แชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นคลิปเตือนภัยว่า NASA ได้ออกมาประกาศว่าในวันนี้ (8 เม.ย.) จะเกิด "พายุสุริยะ" ขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับโลก
  • เบื้องต้นยังไม่มีรายงานถึง พายุสุริยะ ในวันดังกล่าว และปรากฏการณ์ สุริยุปราคา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเกิด พายุสุริยะ
  • ปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาเต็มดวง" ในวันที่ 8 เม.ย. 2567 เป็น สุริยุปราคา ที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดข้อมูล "สุริยุปราคาเต็มดวง" วันนี้ สามารถเห็นที่ไหนบ้าง มีคำตอบ เกี่ยวข้องกับการเกิด "พายุสุริยะ" หรือไม่

วันที่ 8 เม.ย. 2567 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) NARIT เปิดเผยข้อมูลระบุว่า 8 เม.ย. 2567 เตรียมพบกับ "สุริยุปราคาเต็มดวง" แต่ยังไม่มีรายงานถึง "พายุสุริยะ" ในวันดังกล่าว ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ มีข้อมูลที่แชร์กันอย่างล้นหลามผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นคลิปเตือนภัยว่า NASA ได้ออกมาประกาศว่าในวันนี้ (8 เม.ย. 2567) จะเกิด "พายุสุริยะ" ขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับโลก ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง แท้จริงแล้ว เบื้องต้นยังไม่มีรายงานถึง พายุสุริยะ ในวันดังกล่าว และปรากฏการณ์ สุริยุปราคา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเกิด พายุสุริยะ

จากข้อมูลในเว็บไซต์ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) https://www.noaa.gov/ ของ NASA ที่ใช้สำหรับแจ้งเตือน และเฝ้าระวังภัยจากพายุสุริยะ ยังไม่มีการกล่าวถึง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพายุสุริยะในวันที่ 8 เม.ย. 2567 แต่อย่างใด ล่าสุดมีเพียงข้อมูลการเตือนภัยในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมาเท่านั้น เกี่ยวกับการเกิดพายุสุริยะ ระดับ G4 ที่มาถึงโลกในวันที่ 24 มี.ค. นับว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างหาได้ยาก อาจเรียกได้ว่าเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560

พายุสุริยะ เกิดจากสาเหตุใด

พายุสุริยะ นั้น เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยมวล (Coronal Mass Ejections: CME) ซึ่งเป็นอนุภาคมีประจุ พุ่งไปในอวกาศ เมื่ออนุภาคมีประจุเหล่านี้มาเยือนยังโลก อาจเกิดการรบกวนต่อการทำงานของดาวเทียม เช่น GPS และนักบินอวกาศที่อยู่นอกสถานีอวกาศอาจจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ พายุสุริยะที่รุนแรงสามารถเบี่ยงสนามแม่เหล็กของโลก ก่อให้เกิดการรบกวนต่อระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าบนโลกโดยเฉพาะในละติจูดสูงๆ ได้ และจะเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้ หรือออโรรา ให้เห็นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง พายุสุริยะ ในระดับ G4 ที่ผ่านมาในวันที่ 24 มี.ค. นั้น ไม่ได้เกิดอันตราย หรือรบกวนต่อการทำงานของระบบต่างๆ บนพื้นโลกแต่อย่างใด มีเพียงรายงานไฟฟ้าขัดข้องในบางพื้นที่ของประเทศแคนาดา และการพบแสงออโรราที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่แถบขั้วโลกเพียงเท่านั้น เนื่องจากสนามแม่เหล็ก และชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก จะสามารถป้องกันอนุภาค และรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เอาไว้ได้นั่นเอง

ปกติแล้ว ดวงอาทิตย์ มีการปลดปล่อยพลังงานซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และจะปลดปล่อยพลังงานมากขึ้น ในช่วง Solar Maximum ของวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) ที่กำลังจะมาถึงในปี 2567 นี้ อย่างไรก็ตาม วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) เป็นเพียงช่วงความถี่ที่จะพบกับจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) รวมถึงพายุสุริยะในระดับต่างๆ เท่านั้นเอง และไม่ส่งผลต่อการปลดปล่อยพลังงาน หรือปริมาณแสงอาทิตย์แต่อย่างใด และปกติแล้วในช่วงที่ดวงอาทิตย์ใกล้เข้าสู่ "Solar Maximum" จะมีการแจ้งเตือนถึงพฤติกรรมบนดวงอาทิตย์ที่บ่อยครั้งกว่าปกติ อาจส่งผลให้มีการคาดการณ์ถึงการเกิดอันตรายบนโลกได้

สำหรับข่าวที่มีการแชร์ในช่วงนี้ คาดว่าเป็นการนำเอาข่าวเตือนภัยพายุสุริยะในครั้งก่อน ๆ มาบวกกับปรากฏการณ์ สุริยุปราคาเต็มดวง ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งในขณะที่ พายุสุริยะ นั้นเกิดขึ้นมาจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์ แต่ สุริยุปราคา นั้นเกิดขึ้นจากการที่ดวงจันทร์บังเอิญโคจรมาบดบังดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้จึง #ไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

 

และสำหรับปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาเต็มดวง" ในวันที่ 8 เม.ย. 2567 เป็น สุริยุปราคา ที่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา คราสเต็มดวงอาจยาวนานถึง 4 นาที อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แต่สามารถรับชมไลฟ์ปรากฏการณ์ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 22:42 - 03:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่นี่

เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการ สดร.

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related