สถาบันดาราศาสตร์ ฯ อธิบาย สุริยุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ย้ำ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ คำนวณล่วงหน้าได้หลายพันปี ไม่มีผลกระทบต่อมนุษย์
สุริยุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านสาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย
แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 - 16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น.
ปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” เกิดจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดล่วงหน้าได้หลายพันปี
ดวงอาทิตย์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าดวงจันทร์ 400 เท่า แต่อยู่ห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์ 400 เท่า เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดปรากฎเท่ากันพอดี
สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์ค่อยๆ แหว่งมากขึ้นจนกระทั่งมืดมิดหมดดวงและโผล่กลับมาอีกครั้ง
เมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน อาจส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อโลกอันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงที่ดวงจันทร์กระทำต่อโลก หรือแรงไทดัล จะทำให้เกิดน้ำขึ้น น้ำลง มากกว่าปกติ แต่จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
ในอดีตที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา มาแล้วมากมายหลายครั้ง นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา ได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้อมูลแม่นยำเป็นระดับวินาที (อ้างอิง http://eclipsewise.com) เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ และอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าศึกษาติดตาม เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ เช่น ดาวเคียงเดือน ดาวเคราะห์ชุมนุม ดาวเคราะห์ใกล้โลก เป็นต้น
การสัมผัสประสบการณ์ตรงในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่างๆ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลูกฝังกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนอีกด้วย
ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ วนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ต้องอาศัยวิจารณญาณในการรับรู้
จึงขอให้ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ด้วยเหตุและผล ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง และเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง ดร. ศรัณย์กล่าว
โดยปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไป ที่จะสามารถสังเกตได้ทั่วประเทศไทย คือ สุริยุปราคาบางส่วน เกิดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
https://www.facebook.com/NARITpage/videos/3947212132015646/