นอกจากวันที่ 21 มิถุนายน ปีนี้ จะเป็นวันครีษมายัน กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ยังเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน อีกด้วย
เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2563 นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ยังเป็นวันครีษมายัน คือวันที่เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด
สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที
ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น - ตกของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง
ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัต และ วันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน
จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะได้ชมสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทยในวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี
ส่วนปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน นอกจากจะสังเกตการณ์ได้เองผ่านอุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์แล้ว ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 13.00 - 16.10 น.
ภาพโดย Ashish Bogawat จาก Pixabay