SHORT CUT
ไม่นานมานี้ ChatGPT เพิ่งสร้างกระแสฮือฮาด้วยการทำข้อสอบเนติบัณฑิตในสหรัฐฯได้คะแนนดีกว่านักเรียนกฎหมาย ล่าสุดผลทดสอบในอังกฤษบ่งชี้ว่า มันให้คำแนะนำปัญหาสายตาได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าจักษุแพทย์ที่เป็นมนุษย์เสียอีก
แม้ว่าตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่าง ChatGPT จะยังไม่สามารถแทนที่แพทย์ได้ แต่ผลการศึกษาล่าสุดก็ชี้ให้เห็นว่ามันอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการแพทย์ได้ในไม่ช้า หลังจากการศึกษาใหม่พบว่าเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง ChatGPT มีคะแนนในการประเมินปัญหาสายตาและการให้คำแนะนำได้ดีกว่าแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นมนุษย์จริงๆ
การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พบว่า GPT-4 ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่พัฒนาโดย OpenAI สามารถวินิจฉัยโรคได้เกือบพอๆ กับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบข้อเขียนแบบปรนัย
หลังโมเดล AI ซึ่งขึ้นชื่อในการเขียนข้อความที่ได้รับการฝึกจากข้อมูลจำนวนมหาศาล นักวิจัยทดสอบความสามารถของ GPT-4 และแพทย์กลุ่มต่างๆ ตั้งแต่หมอทั่วไปจนถึงจักษุแพทย์เชี่ยวชาญ โดยให้พวกเขาอ่านโจทย์เกี่ยวกับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสายตา แล้วเลือกวินิจฉัยหรือให้คำแนะนำในการรักษาจาก 4 ตัวเลือกที่กำหนดมาให้
ข้อสอบที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้เป็นแบบปรนัย โดยนำคำถามมาจากตำราที่ใช้สอบจักษุแพทย์ฝึกหัด ครอบคลุมปัญหาสายตาหลากหลาย ตั้งแต่ความไวต่อแสง การมองเห็นที่แย่ลง ไปจนถึงอาการอื่นๆ
ซึ่งตำราที่ใช้ออกข้อสอบนี้จะไม่เคยเปิดเผยสู่สาธารณะ ทำให้นักวิจัยเชื่อว่าโมเดลภาษา AI ไม่น่าจะเคยได้เรียนรู้เนื้อหาในนั้นมาก่อน แต่ผลปรากฏว่า
GPT-4 ทำคะแนนได้สูงกว่าบรรดาแพทย์หนุ่มสาวที่มีความรู้ในระดับแพทย์ทั่วไปอย่างมาก และสูสีกับแพทย์ฝึกหัดและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นรองเพียงจักษุแพทย์ที่เก่งที่สุดเท่านั้น
โดยการวิจัยนี้ดำเนินการเมื่อปีก่อน ด้วยการใช้ AI ที่ล้ำสมัยที่สุดในตอนนั้น
นอกจาก GPT-4 แล้ว การศึกษานี้ยังได้ทดสอบ AI รุ่นอื่นๆ ด้วยชุดคำถามเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น GPT-3.5 ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้าของ OpenAI, PaLM2 จาก Google และ LLaMA จาก Meta ผลปรากฏว่า
GPT-4 ให้คำตอบที่แม่นยำที่สุดเมื่อเทียบกับ AI ตัวอื่นๆ
แม้ว่าผลการวิจัยจะน่าทึ่ง แต่นักวิจัยก็ชี้ว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่เหล่านี้ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่แพทย์มนุษย์ได้ในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม มันถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปพัฒนาเป็นเครื่องมือช่วยแพทย์ เพื่อปรับปรุงการดูแลรักษา ลดเวลาที่ผู้ป่วยต้องรอคอยการวินิจฉัย เร่งกระบวนการคัดกรอง และทำให้แพทย์สามารถดูแลคนไข้ได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม
ทีมวิจัยวางแผนจะทดสอบระบบนี้ต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถนำมาใช้งานจริงได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยในอนาคตได้อย่างแท้จริง
ที่มา