SHORT CUT
ย้อนมอง ผู้ประกาศข่าว AI - นักข่าว AI เป็นไปได้แค่ไหน ? ดีจริงไหม ? มีอะไรต้องระวังบ้าง หลังกระแสการปลดคนข่าวแล้วใช้ AI รายงานแทน
ผู้ประกาศข่าว AI - นักข่าว AI ถูกพูดถึงในแวดวงสื่อสารมวลชนอีกครั้งเมื่อมีข่าวการปลดคนข่าวส่วนหนึ่งออกทำให้ธุรกิจสามารถประหยัดงบไปได้ถึง 11 ล้านบาทต่อเดือน และเตรียมนำเสียงผู้ประกาศไปให้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เรียนรู้เพื่อรายงานข่าวต้นชั่วโมง Spring Tech จะชวนคนไทยย้อนกลับไปดูถึงวิวัฒนาการและภาพรวมล่าสุดของ ผู้ประกาศข่าว AI - นักข่าว AI ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ?
ย้อนกลับไปในปี 2018 สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของจีน ได้เปิดตัว "ผู้ประกาศข่าว AI จีนตัวแรกของโลก" โดยใช้หน้าตาและโมเดลของผู้ประกาศข่าวที่มีตัวตนอยู่จริง ชื่อจางจ้าว ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาไม่น้อย
วิธีการทำงาน-สร้าง ผู้ประกาศข่าว AI - นักข่าว AI คือ การบันทึกเสียงต้นฉบับของคนจริง ๆ หลายร้อยชั่วโมงแล้วนำมาให้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Machine Learning จากนั้นก็สร้างโมเดลตัวละคร 3 มิติ ที่จะให้มาเป็น ผู้ประกาศข่าว AI ที่เราต้องการ ทำให้สามารถทำลายข้อจำกัดเรื่องหน้าตาไปได้ เพราะเราจะสร้างผู้ประกาศหล่อสวยแค่ไหนก็ได้เลย ซึ่งหากจะใช้คนจริงก็ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของใบหน้าก่อน
ค่าใช้จ่ายในการสร้าง เสียง ผู้ประกาศข่าว AI และโมเดล 3 มิติของผู้ประกาศ เริ่มต้นที่ 300,000 บาท ขึ้นไป ยิ่งต้องการเสียงและหน้าตาที่เหมือนก็จะราคาสูงขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายรายเทปจะคิดเป็นคำ เพราะ AI ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่แรงกว่าคอมฯ บ้าน หลายร้อยเท่า ในการสังเคราะห์เสียงและสั่งให้โมเดลขยับตามกันไป ซึ่งเมื่อเทียบกับการจ้างคนจริงแล้ว ผู้บริหารอาจมองว่า AI คุ้มค่ามากกว่าได้ แม้อาจเป็นสิ่งที่เทียบกับไม่ได้ก็ตาม
เมื่อได้เสียงและโมเดลแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการประกอบร่าง โดยนำทั้ง 2 ส่วน มาใส่ในโปรแกรม AI ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งตัว AI เองก็ต้องผ่านการเรียนรู้ภาษากายของผู้ประกาศด้วย เช่นการขยับหน้า ขยับดวงตาเวลาพูด ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกาศ AI ยังขาดอยู่คือลีลาการเล่า ภาษากายในการดึงดูดคนดู ซึ่งในแพลตฟอร์มโทรทัศน์อาจจะมีผู้ชม แต่เมื่ออยู่บนออนไลน์และแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ข้อได้เปรียนหนึ่งของผู้ประกาศ AI คือ พูดอะไรก็ได้ ภาษาใดก็ได้ ทำงานได้ทั้งวันทั้งคือ ไม่บ่น ไม่มีค่าเทป
ขณะที่อีกวิธีหนึ่งคือการใช้ Motion Capture หรือการใช้กล้องถ่ายไปที่ตัวคนจริง ๆ แล้วใช้ระบบเข้าไปจับท่าทางกับภาษากายของตัวผู้ประกาศ แล้วจึงนำท่าทางนั้นไปบังคับโมเดลผู้ประกาศให้ขยับและออกเสียงอีกที คล้ายกับ Vtuber ซึ่ง NationTV ช่อง 22 ใช้เทคโนโลยีในการทำ Virtual Reporter ด้วย
วันนี้ ปี 2024 ผู้ประกาศข่าว AI ไม่ได้มีแค่จีน แต่ปีที่ผ่านมา Odisha TV หรือ OTV ของอินเดียเปิดตัว ผู้ประกาศข่าว AI พูดได้ 75 ภาษา ชื่อ Lisa (ลิซ่า) ปัจจุบันเธอมีผู้ติตดามบน Instagram ถึง 46,900 ผู้ใช้ และมียอดการเข้าชมคลิปของเธอเฉลี่ยหลักหมื่นวิว
นันทิยา วรเพชรายุทธ ระบุไว้ในรายงานพิเศษ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อย่างน่าสนใจว่า "ในอีกด้านหนึ่ง ความเสรีของยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน บวกกับการที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้นยังหมายความว่า ใครก็สามารถจ้างทำผู้ประกาศ AI หรือ Avatar ของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากสำนักข่าวก็ยังได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้เพื่อรายงานข่าวในข่าวปลอม เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเวเนซูเอลา ซึ่งพบเคสนำผู้ประกาศเอไอ หรือ Avatar ไปใช้ในการรายงานข่าวปลอมเพื่อโจมตีการเมืองฝ่ายตรงข้าม"
"ประเด็นที่เริ่มพบในวงการผู้ประกาศ AI ก็คือ การนำไปใช้ในข่าว "เชิงโฆษณาชวนเชื่อ" (Propaganda) โดยบริษัทวิจัยด้านสื่อ Graphika ที่มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กรายงานอ้างว่า ในประเทศจีนนั้นพบว่ามีการใช้งานผู้ประกาศ AI ไปกับการรายงานเนื้อหาเชิงโฆษณาชวนเชื่อให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ (CCP) ซึ่งเคสเหล่านี้ทำให้ผู้ประกาศเอไอเป็นเหมือนหุ่นที่ถูกป้อนข้อมูลให้พูด มากกว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่สะท้อนความก้าวหน้าในวงการข่าวที่แท้จริงออกมา" รายงานระบุ
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง