เปิดทางรอดของ บรูซ วิลลิส ในวงการบันเทิง หลังสูญเสียความสามารถในการสื่อสาร พบ ปัญญาประดิษฐ์ช่วยได้ด้วย AI Deepfake
บรูซ วิลลิส สูญเสียความสามารถในการสื่อสาร แต่ทุกคนเชื่อไหมครับว่า เทคโนโลยีสามารถทำให้ชายคนนี้กลับมาอยู่บนโลกภาพยนตร์ได้อีกครั้ง
เทคโนโลยีนี้เรียกว่า Deepfake เป็นการใช้ AI ปัญญาประดิษฐ์ เรียนรู้กริยา ท่าทางของนักแสดง จากภาพยนตร์และคลิปต่าง ๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Deep Learning และสร้างเป็นคลิปปลอมขึ้นมา ภาษาอังกฤษ คือ Fake จึงรวมกันเป็น Deepfake
ความฉลาดของ Deepfake นี้ ไม่ได้จำกัดแค่การขับใบหน้าเท่านั้น แต่สามารถเลียนเสียงจริงของคนได้อีกด้วย
ซึ่ง บรูซ วิลลิส ที่ป่วยเป็น “โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม” สื่อสารไม่ได้ เคยใช้ Deepfake ในการแสดงมาแล้ว ผ่านโฆษณาของรัสเซียตัวหนึ่ง โดยที่เขาไม่ต้องไปแสดงเองเลยแม้แต่น้อย เพราะช่วงนั้นเขาเองก็เริ่มมีอาการสูญเสียความสามารถในการสื่อสารแล้ว
การใช้ Deepfake ในวงการบันเทิงเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเอาดาราสูงวัยมาใช้ AI ดึงหน้าเด็ก เช่น มาร์ก แฮมิลล์ ที่ไปปรากฎตัวในซีรีย์ Star Wars The Mandalorian
หรือแม้กระทั่งดาราที่ล่วงลับไปแล้วอย่าง ปีเตอร์ กุชชิ่ง ที่ทีมงาน Star Wars ใช้เทคโนโลยีผสมกับการแสดงของสแตนอิน เพื่อคืนชีพให้นักแสดงที่เสียชีวิตไปเกือบ 30 ปีที่แล้วมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง ในปี 2559
ซึ่งการใช้ AI ในวงการภาพยนตร์ เหล่านักแสดงที่เป็นตัวประกอบก็พากันเรียกร้องว่าพวกเขากำลังถูกแย่งงานเพราะค่ายหนังพยายามเอาเปรียบพวกเขา ด้วยการขอสแกนหน้าพวกเขาเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอนาคตโดยไม่ต้องจ้างซ้ำอีก
ขณะเดียวกันการเป็นดารานักแสดงในอนาคต ตัวนักแสดงเองก็ต้องมีความสามารถหลากหลายมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกแย่งงานจาก AI เช่นกัน
ส่วนประเทศไทย มีสิ่งที่ล้ำกว่า Deepfake ที่ทีมงานฮอลลีวูดส์ยังอึ้ง คือ ใช้ลูกจริง ๆ ของนักแสดงที่หน้าเหมือนนักแสดงมาแสดงเลย ในหนัง เมอเด้อเหรอ ใน Netflix
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง