ทำความรู้จัก ระบบเตือนภัยแห่งชาติ คืออะไร ? หลัง กระทรวงดิจิทัลฯ ตอบ สส. ก้าวไกล ในสภา ขอเวลา 6 เดือน - 1 ปี เสร็จแน่
ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระพิจารณาญัตติกระทู้ถามสดด้วยวาจา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงระบบแจ้งเตือนภัยในสถานการณ์วิกฤตต่างๆ หรือ ระบบเตือนภัยแห่งชาติ ว่าจะใช้เวลาและงบประมาณในการดำเนินการเท่าใด
ระบบเตือนภัยแห่งชาติ คือ ระบบเตือนภัยที่มีศูนย์บัญชาการกลางของรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการส่งแจ้งเตือนต่าง ๆ ไปยังประชาชนในยามวิกฤต หรือแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีทั้งการแจ้งผ่านโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์และวิทยุขั้นรายการพิเศษ
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามี ระบบเตือนภัยแห่งชาติ ที่เป็นรูปธรรม
นายณัฐพงษ์ ชี้ว่ารัฐบาลต้องมีระบบศูนย์กลางที่เหมาะสม สำหรับ ระบบเตือนภัยแห่งชาติ คือเหมาะกับเวลาเกิดเหตุ แจ้งเตือนได้ปัจจุบันทันด่วน และเหมาะกับระดับสถานการณ์ แจ้งเตือนอย่างเฉพาะเจาะจงตามพื้นที่ และเหมาะสมในรูปแบบ ทั้งระบบสั่นในโทรศัพท์มือถือ หรือตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่แจ้งเตือนทางโทรทัศน์เมื่อมีพายุ ที่เรียกว่า IPAWS ซึ่งรองรับทุกช่องทางการสื่อสาร
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ภัยพิบัติที่ผ่านมาในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ เช่น เหตุสึนามิในอดีต หรือเหตุการณ์กราดยิง ถือเป็นภัยความมั่นคงร้ายแรงที่ควรแจ้งเตือนให้ประชาชนทุกคนทราบตรงกัน อีกประเภทคือภัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนตื่นตระหนกเกินสมควร
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบชี้แจง โดยระบุว่า รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีคณะกรรมการระดับชาติบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่ได่รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องของระบบ Cell Broadcast ในรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่ทันเริ่มลงมือทำ
นายประเสริฐ ย้ำว่า หลังเหตุความรุนแรงที่สยามพารากอน ยิ่งเห็นความจำเป็นต้องสานต่อนโยบายให้มีระบบเตือนภัยที่มั่นคง ในระบบ Location Service ผ่านข้อความ SMS ได้มีการทดสอบระบบมาแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ใหญ่ และได้ผลดี
ส่วนเรื่อง Cell Broadcast ได้พูดคุยกับ กสทช. คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และครอบคลุมทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้งโทรศัพท์มือถือ หรือโทรทัศน์ วิทยุ
สำหรับระยะยาว รัฐบาลมีความตั้งใจจะพัฒนาระบบ Cell Broadcast เป็นระบบ Push Notification ที่สามารถส่งข้อความ 1 พันตัวอักษรไปยังโทรศัพท์มือถือ ที่แม้จะปิดเครื่องอยู่ก็จะได้รับการแจ้งเตือน โดยเป็นระบบที่ใช้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน
นายประเสริฐ ยืนยันว่า หากพัฒนาระบบเตือนภัยแห่งชาติจนสมบูรณ์แล้ว จะสามารถรองรับได้ทุกช่องทางการสื่อสาร และจะทุ่มเททำงานให้ภารกิจนี้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ได้อย่างแน่นอน
ส่วนงบประมาณในการดำเนินโครงการนั้น ประเสริฐ เผยว่า ได้หารือกับ กสทช. เบื้องต้นแล้วว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุน กสทช. และโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 หน่วยงานหลักยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ขณะนี้ยังไม่ได้ประมาณวงเงินงบประมาณที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะใช้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และไม่เกิน 500 ล้านบาทโดยประมาณ