หลายครั้ง "เกม" กลายเป็นตัวรับจบในเรื่องของคดีที่เกี่ยวกับเยาวชน จนภาพลักษณ์ของเกม กลายเป็นปัญหาสังคม ผู้บริหารเกม PUBG ในไทยได้ออกมาเปิดใจถึงความพยายามตลอด 6 ปี
Depa เผยมูลค่าอุตสาหกรรมเกม สูงถึง 37,063 ล้านบาท คิดเป็น 88% ของมูลค่ารวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เกมที่ผลิตโดยคนไทยมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท และการส่งออกเกมมีมูลค่า 370 ล้านบาท
ด้าน data.ai และ IDC ยังเผยตัวเลขของตลาดเกมทั่วโลกในปี 2022 พบว่า วิดีโอเกมบนมือถือมีส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่ง อยู่ที่ 61% คาดว่าจะสามารถทำรายได้รวมอยู่ที่ราว ๆ 2.22 แสนพันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ในปี 2022 มีผู้เล่นเกมมือถือใช้เงินไปกับการเล่นเกมกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ต่อสัปดาห์ เป็นการจ่ายเงินบน Google Play Store และ AppStore
ด้วยตัวเลขที่มีการเติบโตอย่างมหาศาล แต่เกมกลับกลายเป็นจำเลยเมื่อเกิดเหตุด้านความรุนแรง ทุกครั้งที่ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน ก็มักจะโยนเรื่องมาที่การเล่นเกมเสมอ ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ในอดีตมักเข้าใจว่าเกมคือสิ่งมอมเมาเยาวชน
ดร.ธนพล คงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท คราฟตัน อินคอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนาเกม PUBG กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาไปเรื่อยๆ ในการช่วยกันสื่อสาร ทางนักพัฒนาเกม ก็พยายามที่จะผลักดันให้คนเปลี่ยนมุมมอง ด้วยการใช้หนังสั้นหรือซีรีส์ออกมาเพื่อให้คนที่ไม่ได้คลุกคลีหรือเล่นเกมมองเป็นมุมบวกมากขึ้น ได้เปลี่ยนความคิดว่าเกมไม่ใช่แค่การนั่งเล่นทั้งวัน
เด็กรุ่นใหม่อยากเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต
ดร.ธนพล : เด็กหลายคนใฝ่ฝันที่จะมาเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตเพราะได้เล่นเกมเยอะ แต่ที่จริงแล้วการฝึกเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต ไม่ได้ง่าย จะมีตารางเป๊ะๆ ในการฝึกหลายชั่วโมง ต้องมีโค้ชคอยคุมเรื่องวินัย ไม่ใช่ต่างคนต่างเล่นเพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานเป็นทีม
นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารกับนักจิตวิทยาเพื่อประเมินสภาพจิตใจด้วย เพราะการจดจ่อกับเกมทั้งวันสุขภาพจิตก็สำคัญ ซึ่งวงการนี้จริงจังไม่ใช่แค่นั่งกดหรือเฝ้าจออย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม มุมมองเรื่องของเกมและการจัดระเบียบกีฬาต่างๆ เป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลา รวมทั้งความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการทำงานร่วมกันให้ความเข้าใจในเรื่องเกมและกีฬาอีสปอร์ตของทุกคนเท่ากัน ไม่อย่างนั้นเกิดเรื่องอะไรพลาดมาก็โทษฝั่งเกมทุกที
ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงมาสร้างความเชื่อมั่น
ดร.ธนพล : เนื่องจากเราเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ เรามี Footprint ในไทยพอสมควร เกม PUBG อยู่ในไทยมาเป็นปีที่ 6 แล้ว มีฐานแฟนๆ ที่รู้จักเยอะพอควร ซึ่ง PUBG เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของเรา มีทั้งการเล่นบนมือถือและคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ เราจึงพยายามสร้างฐานความเข้าใจเรื่องเกมให้ดีขึ้น เชื่อว่าถ้าทั้งระบบแข็งแรงการสื่อสารก็จะดีมากขึ้น เช่น การเลือกร่วมงานกับวงการบันเทิง อย่างการผลิตซีรีส์ออกมา ที่จีนจะมีซีรีส์หลายเรื่องที่พระนางของเรื่องเล่นเกม หรือเกี่ยวข้องกับวงการอี-สปอร์ต เช่นเดียวกัน เราก็ผลิตหนังสั้นที่นำเสนอมุมมองของวงการ PUBG Esports ให้ได้สัมผัสในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
ด้วยเรื่องราวทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับวงการ PUBG Esports ทั้งฉากหลัง และเบื้องลึกที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน โดยมีนักแสดงนำหลักอย่าง คุณ บี้-ธรรศภาคย์’ หรือ ‘บี้ KPN’ คุณอุ้ม ธีราทร บุญมาทัน นักฟุตบอลทีมชาติไทยและเจ้าของทีม E-SPORTS รวมทั้งผู้กำกับอย่างคุณป้อง “ไพรัช คุ้มวัน” ที่เคยกำกับภาพยนตร์ “สยามสแควร์” และซีรีส์ “เด็กใหม่” มาช่วยในกระบวนการผลิตด้วย
พฤติกรรมเล่นเกมของชาวไทย
ดร.ธนพล : ผู้เล่นใช้การเล่นเกมบนมือถือใหญ่กว่าการเล่นผ่าน PC ขั้นต่ำ 1คน/เครื่อง ใช้มือถือย่อมสะดวก มือถือเล่นแค่ 10 นาทีก็เลิก แต่ถ้าใช้เครื่อง PC ในการเล่นจะให้ความฮาร์ดคอและเป็นระบบในการมากกว่า ประสบการณ์เล่นสุดกว่าเพราะต้องจริงจังในการเล่นและสื่อสารกับเพื่อนร่วมเกม ผู้เล่นจะต้องจดจ่อกับการเล่นเกมนาน แต่การเล่นผ่านพีซีจะจริงจัง ต้องลงทุนอุปกรณ์สูงกว่า
จำนวนผู้เล่นเติบโตมากช่วงโควิดและต่อเนื่องมา
ทั่วโลกเล่นกันเกมกันสูงมาก ช่วงโควิดเกมเป็นอุตสาหกรรมที่โชคดี ได้รับผลประโยชน์ ทั้งจากข้อจำกัดต่างๆ เกมเข้าถึงง่าย นั่งเล่นที่บ้านได้ทำให้การใช้งานและรายได้โตมาก รวมทั้งมีการปล่อยให้เล่นฟรีด้วย ก็เลยยิ่งโตแบบดับเบิลเพื่อให้คนทดลองเข้ามาเล่น พอปกติก็กลับสู่สถานการณ์ปกติ หลายอย่างก็กลับมาจัดงานได้เหมือนเดิม
ตัวเลขอาจจะเริ่มนิ่งแล้ว แต่การเติบโตด้านอื่นๆ เช่น ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ การจัดอีเวนท์แข่งขันต่างๆ ก็ทำให้ธุรกิจดีขึ้น คราฟตันอยู่ในตลาดหุ้นเกาหลี เป็นบริษัทระดับโลก มีการเข้าไปลงทุนในสตูดิโอต่างๆ ทั้งเกาหลี ไทย อเมริกา และสร้างขึ้นมาเอง ทำให้การลงทุนต่อจากนี้ในไทย อันไหนน่าจะมีโอกาสเติบโตที่ดีเราก็ตั้งงบและสร้างไอเดียสำหรับการสื่อสารตลาดได้เต็มที่
คลาวด์ฟันดิ้ง กับการเติบโตในธุรกิจ
ดร.ธนพล : PUBG เป็นเกมที่ต้องซื้อไอเท็มในเกมและผู้เล่นจะจ่ายเงิน ซื้อไอเท็มพิเศษในเกมเช่น 300 บาท ตัดออกมา 100 บาท แบ่งให้นักกีฬา
ด้านไอเท็มก็จะเป็นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เช่น KFC มีสาขาในเกม หรือมีท่าเต้น Blackpink มีรถแอสตัน มาร์ตินให้ขับ การร่วมมือแบบนี้จะเป็นการใส่เข้าไปในเกมเพื่อให้ผู้เล่นได้เห็นทั่วโลกสร้างการเติบโตได้ดี
อย่างในไทย เราก็มีการพูดคุยกับทาง MSI เรื่องการนำจอมาช่วยในเรื่องของการแข่งขัน เจรจากับ True ในเรื่องซิมการ์ดให้นักกีฬาต่างชาติฝึกซ้อมหรือตั้งเครือข่ายขณะแข่งขัน ความร่วมมือแบบนี้ทำให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งไทยและทั่วโลกมากขึ้น
ตลอดระยะเวลา 6 ปีในไทย ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป การแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน สิ่งที่เราต้องต่อสู้ทุกวันนี้ คือการทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าเกมนั้นดีจริง คุณภาพในเกมต้องน่าใช้งาน เพราะถ้าสร้างเกมออกมาไม่โดนใจตลาดยังไงก็อยู่ไม่รอด เล่นเกมแล้วต้องราบรื่นไม่ใช่เล่นแล้วติดขัด
อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมเป็นอีกหนึ่งทางออกในการผ่อนคลายจากสถานการณ์ปกติ ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน การใช้ชีวิต สิ่งที่นักพัฒนาพยายามคือไม่อยากให้มองว่าเกมคือตัวร้ายในทุกเรื่อง ที่เกี่ยวกับการประพฤติผิดของบุคคล เพราะผู้ปกครองสามารถพิจารณาและดูแลลูกหลานก่อนกดเปิดจอหรือมือถือให้บุตรหลานได้
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม