การใช้เทคโนโลยี AI ในมุมการศึกษา แม้จะช่วยคัดกรองข้อมูลความรู้จำนวนมาก แต่เด็กนักเรียนหัวใสใช้ AI และ ChatGPT ทำการบ้านและข้อสอบแล้ว เมื่อครูวัดผลแบบถาม-ตอบ กลับเจอผลลัพธ์ไม่เป็นที่หวัง เพราะเด็กๆ ไม่เก่งจริง
เมื่อ ChatGPT ของ OpenAI พัฒนาฟีเจอร์และความสามารถใหม่ๆ ขึ้นมาทุกวัน เด็กนักเรียนรุ่นใหม่ก็รู้จักใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ครูผู้สอนต้องปรับแผนในการสอนและทดสอบเด็กๆ เพื่อวัดความรู้และความเข้าใจ
เมื่อไม่นานมานี้ ChatGPT ได้ช่วยให้นักศึกษาสามารถสอบชีววิทยาระดับมหาวิทยาลัยและยังทำข้อสอบได้เกรดเฉลี่ยสูงถึง 3.34 ทั้งที่อยู่เพียงปี 1 เท่านั้น ขณะที่การทดสอบเด็กแล้วพบว่า เด็กขาดทักษะในการคิดและวิเคราะห์ข้อมูลไป
บิล ฮาร์ต-เดวิดสัน (Bill Hart-Davidson) รองคณบดีวิทยาลัยศิลปะและอักษรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท กล่าวว่าพวกเขาวางแผนที่จะกลับไปใช้การบ้านที่เขียนด้วยลายมือ และการสอบปากเปล่าแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ generative AI
รวมทั้งจะมีการสั่งให้นักศึกษาเขียนรายงานมาส่งแทนการพิมพ์ หรือสอบปากเปล่า เพื่อถาม-ตอบวัดความรู้ความเข้าใจของเด็กให้มากขึ้น
เช่นเดียวกับ Christopher Bartel ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาที่ Appalachian State University ที่คิดจะกลับไปสอนแบบเดิมว่า เทคโนโลยีเป็นเรื่องดี แต่การเรียนและการสอบอาจต้องกลับไปใช้วิธีแบบในอดีต เพื่อลดการใช้ AI ลง
ดังนั้น ช่วงพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา มีการเข้าดูการใช้งานปริมาณ ChatGPT ลดลงเกือบ 10% นักเทคโนโลยีบางคนมองว่าอาจเป็นช่วงปิดเทอมฤดูร้อน
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ ChatGPT ยังทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบางส่วนมองว่า การที่นักเรียนเป็นผู้ใช้หลักของเครื่องมือนี้ ในอนาคตอาจสร้างปัญหาให้กับโลกและ OpenAI ไม่น้อย
เพราะเด็กนักเรียนเหล่านี้สามารถสร้างข้อความ และสรุปข้อมูลต่างๆ ตามที่ต้องการได้ทันทีด้วยเทคโนโลยี แต่เมื่อต้องมีการตอบคำถามหรือนำเสนอด้วยการพูดจะเห็นผลลัพธ์ที่ต่างออกไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่อาจารย์ทุกคนที่จะต่อต้านเทคโนโลยี AI ยังมีอาจารย์หลายคนที่ใช้เครื่องมือเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน สร้างแผนการสอน ฝึกหัดและตอบคำถาม เพราะช่วยประหยัดเวลาในการทำเอกสาร
แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ยังอยากให้นักเรียนคิดด้วยตัวเองมากกว่าการใช้ทางลัดจากเครื่องมือที่ถูกมองว่าโกงอีกด้วย
อย่างที่ทราบดีว่า เทคโนโลยี Ai หรือ ChatGPT เป็นเครื่องมือที่ไม่ได้ทำงานได้ดี 100% ยังมีบางข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือเป็นข้อมูลที่ผิด ดังนั้น เราไม่ควรเชื่อไปหมดทุกอย่างและควรจะมีความรู้รอบด้าน เพื่อให้เราเดินนำหน้าเทคโนโลยี ไม่ใช่ใช้เครื่องมือเพื่อให้มาแทนที่มนุษย์
ที่มา : Insider