การขอเข้าถึงบัญชีผู้ใช้งานจากบริษัทเทคฯ นั้น มีการร้องขอจากภาครัฐมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา ทั้งการเข้าใช้งานจากอุปกรณ์สื่อสารหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ และก็เป็นแหล่งสืบสวนหลักฐานของตำรวจเช่นกัน
Surkshark ผู้ให้บริการด้านเครือข่าย VPN (Virtual Private Network) เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง ได้แก่ Apple, Google, Meta และ Microsoft ตั้งแต่ปี 2013-2021 ใน 177 ประเทศทั่วโลก พบว่า สหรัฐอเมริกามีการร้องขอสิทธิ์การเข้าถึงบัญชีจากผู้ให้บริการมากที่สุดถึง 2,451,077 บัญชี คิดเป็น 728 คน ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน
ตามมาด้วยเยอรมนี 540,562 บัญชี และ สิงคโปร์ 35,980 บัญชี ส่วนไทยรั้งอันดับ 77 มีการร้องขอจำนวน 1,435 บัญชี
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม คำขอส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามาที่ผู้ให้บริการจะเกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีอาชญากรรม ทำให้ข้อมูลที่ถูกร้องขอ จะเป็นบริบทของคดีแพ่งหรือคดีปกครอง
เนื่องจากคำขอข้อมูลสามารถครอบคลุมหลายบัญชี การเก็บข้อมูลครั้งนี้จึงตรวจสอบการกระจายทั่วโลกต่อประชากรและเปรียบเทียบจำนวนคำขอที่เปิดเผยได้บางส่วนหรือทั้งหมด
สิ่งที่น่าสนใจคือการร้องขอข้อมูลทั้งหมดนั้น จะมาจากภาครัฐบาลเป็นผู้ขอข้อมูลผู้ใช้งานมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า เมื่อเทียบแบบปีต่อปี ช่วงระหว่างปี 2556-2564 อยู่ที่ 25%
จากการเก็บข้อมูลยังพบอีกว่า การร้องขอข้อมูลของบัญชีผู้ใช้งานในองค์กรเอกชนส่วนใหญ่จะมาจากหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องการตรวจสอบความเชื่อมโยงของการกระทำระหว่างประเทศ และบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็เจอบัญชีที่ถูกร้องขอเพิ่มขึ้นทุกปี
ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) พบสิงคโปร์มีการร้องขอสิทธิ์ 35,980 คน และเมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนแล้วจะสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่วนประเทศไทยมีการร้องขอทั้งหมด 1,435 คน เทียบอัตราส่วน 1 แสนคน แล้วจัดเป็นอันดับที่ 77 ของโลก มาเลเซียอันดับที่ 71 อินโดนีเซียอันดับที่ 90 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 95 ตามมาด้วยเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมาร์ เป็นอันดับ 111, 112 และ 128 ตามลำดับ
ทั้งนี้ 4 บริษัทที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากที่สุดได้แก่ กูเกิล (Google), เมตา (Meta), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และแอปเปิล (Apple) ที่ล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาและมีผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลกตามลำดับ โดยมีการร้องขอมากกว่า 1.6 ล้านครั้ง ในปี 2021 ที่ผ่านมา