svasdssvasds

เทียบความคุ้ม Meta Verified - Twitter Blue - YouTube Premium จ่ายเจ้าไหนเวิร์ค ?

เทียบความคุ้ม Meta Verified - Twitter Blue - YouTube Premium จ่ายเจ้าไหนเวิร์ค ?

เมื่อความปลอดภัยและความสบายตาจากโฆษณา กลายเป็นราคาที่ต้องจ่าย ชวน "คนธรรมดา" เทียบความคุ้มโซเชีลมีเดีย 3 เจ้า Meta Verified - Twitter Blue - YouTube Premium จ่ายเจ้าไหนเวิร์คสุด ?

ช่วงเวลาเพียงไม่ถึงปี โซเชียลมีเดียแห่ เปลี่ยนของฟรีเป็นเงิน เข้ากระเป๋าตังเอง ทั้ง การยืนยันตัวตนเข้าระบบ 2 ชั้น ผ่าน SMS ของ ทวิตเตอร์  การเห็นโฆษณาน้อยลง และ เครื่องหมายถูกสีฟ้า ยืนยันตัวตนของ เฟซบุ๊ก ที่บอกว่า "เป็นทางเลือก" ให้กับผู้ใช้ ในการใช้งาน แล้วสำหรับ "คนธรรมดา" จ่ายเจ้าไหนดูคุ้มสุด ?

ก่อนที่เราจะไปดูว่าเจ้าไหนคุ้ม ต้องมาดูก่อนว่าฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่แต่ละแพลตฟอร์มนำเสนอ มีส่วนทำให้ชีวิตประจำวันในการใช้แอปฯเราสะดวกขึ้นแค่ไหน ? บางเจ้าอาจไม่เกี่ยวกับเราเลยก็ได้ 

Meta Verified ของ Facebook

Facebook โซเชียลมีเดียรายล่าสุด ที่เพิ่งเปิดตัวแพ็กเกจรายเดือนในชื่อว่า Meta Verified ราคาที่ 419 บาท/เดือน สำหรับการสมัครใช้ผ่านเว็บไซต์ และ 515 บาท/เดือน สำหรับผู้ใช้ไอโฟน 

ผู้ใช้จะได้รับเครื่องหมาย Verified Page หรือ เครื่องหมายยืนยันตัวตน ที่เป็นรูป เครื่องหมายถูกสีฟ้า ขึ้นตามหลังชื่อเพจ พร้อมเชื่อมไปยัง Instagram ของเพจด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น แล้วยังแสดงให้เห็นว่าเพจของเรานั้นเป็นของจริง ไม่ใช่เพจปลอม และป้องกันความสับสนของผู้ใช้งาน โดยเดิมทีนั้น Facebook จะมอบเครื่องหมายนี้ให้แก่เหล่าผู้ที่มีชื่อเสียงและองค์กรขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แพ็กเกจ Meta Verified เปิดให้ใช้งานแล้วในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เท่านั้น ก่อนจะค่อย ๆ ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

โดยในช่วงแรกนี้จะเปิดให้ใช้งานสำหรับกลุ่มครีเอเตอร์ประเภทบุคคลก่อน ไม่ว่าจะเป็น คนดัง อินฟลูเอนเซอร์ นักแสดง ศิลปิน เน็ตไอดอล และจะต้องใช้เอกสารทางราชการที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือ หนังสือเดินทาง รวมถึงจะมีการตรวจสอบประวัติการโพสต์ย้อนหลัง เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตัวตน ส่วนบัญชีที่ทำผิดกฏของ Meta บ่อยครั้ง อาจไม่สามารถสมัครแพ็กเกจนี้ได้

  • คุณอาจไม่ได้ใช้ฟีเจอร์นี้ ถ้าไม่ได้หารายได้บนแพลตฟอร์มนี้ อย่าง แม่ค้า และดารา

ดังนั้นสำหรับคนธรรมดาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ Meta Verified เพราะเป็นผู้ใช้ธรรมดา การต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 500 บาท/เดือน อาจเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับคนธรรมดา ที่ไม่ได้หารายได้บนแพลตฟอร์มนี้

Twitter Blue ของ Twitter

Twitter Blue เป็นบริการรายเดือนสำหรับ Twitter ที่เปิดให้ใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมี ฟีเจอร์หลัก คือ Bookmark Folders จัดระเบียบทวีตที่ชื่นชอบได้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น , Undo Tweet สามารถดูตัวอย่างและตรวจสอบทวีตก่อนที่จะเผยแพร่ได้ สูงสุดถึง 30 วินาที , ลดการมองเห็นโฆษณา , Reader Mode เปลี่ยนเธรดทวีตยาว ๆ ให้อ่านง่ายยิ่งขึ้น พร้อมสามารถเปลี่ยนสีและไอคอนของแอปพลิเคชันได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน พ.ย. 2565 หลังจากที่ อีลอน มัสก์ เข้าเป็นเจ้าของ Twitter คนใหม่ได้ไม่นาน เขาได้เพิ่มค่าบริการรายเดือนเป็น 318 บาท แลกกับการได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน

  • เห็นโฆษณาน้อยลง - อัปคลิปยาวแถมคมชัด อาจยอมจ่าย

สำหรับผู้ใช้ธรรมดา เครื่องหมายถูกสีฟ้าอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การใช้งานฟีเจอร์ที่ "ฟรี" ในแพลตฟอร์มอื่น อย่าง Bookmark Folders ที่ Instagram มี หรือ ระบบแก้ไขทวิต ที่ Facebook ให้มาอยู่แล้ว กลายเป็นสิ่งที่มีราคาบน Twitter ขณะที่อีกส่วนที่อาจทำให้ คนธรรมดา หันมาใช้งานฟีเจอร์นี้ คือ การเห็นโฆษณาที่น้อยลง และการอัปโหลดวิดีโอความคมชัดสูง ความยาวนาน ลงแพลตฟรอ์มได้

YouTube Premium ของ YouTube

YouTube ถือเป็นแพลตฟอร์มแรก ๆ ของโซเชียลมีเดียที่มีบริการรายเดือน ตั้งแต่ 2558 ในช่วงที่การแข่งขันในตลาดวิดีโอสตรีมมิงแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในชื่อ YouTube Red และเป็นช่วงนี้เองที่ YouTube เริ่มผลิตคอนเทนต์เป็นของตนเอง ซึ่งนอกจากผู้สมัครใช้บริการจะได้รับชมคอนเทนต์สุดพิเศษที่หาชมไม่ได้จากที่อื่น ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดีแล้ว ยังสามารถรับชมคลิปวิดีโอทั่วไปแบบไม่มีรายการคั่น และรับชมคลิปได้แม้ออกจากแอปพลิเคชัน ด้วยฟีเจอร์ Picture-in-picture 

จากนั้นในปี 2561 ได้เปลี่ยนชื่อจาก YouTube Red เป็น YouTube Premium โดยในปัจจุบันมีค่าสมัครอยู่ที่ 209 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้รับบริการ YouTube Music Premium ที่เป็นบริการสตรีมมิงเพลงอีกด้วย

  • ใช้ YouTube Premium ไม่มีโฆษณาขั้น

ต้องบอกว่า YouTube ถูกชาวเน็ตขนานนามว่า มั่งคงทางนโยบายมากที่สุดเมื่อเทียบกับน้อง ๆ แพลตฟอร์มอื่น ๆ ระบบหลังบ้านแอบเปลี่ยนเงียบ ๆ ระบบการใช้เรียบง่าย เหมือนคิดมานานมากแล้ว ไม่ได้คิดแล้วสั่งทำเลย ซึ่งสิ่งที่ YouTube Premium นำเสนอดูจอตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การปิดไม่ให้เห็นโฆษณาเลย การฟังเพลงต่อแม้ปิดหน้าจอ และพับจอไปเล่นแอปฯอื่น แต่ยังดูคลิปอื่นต่อได้(Picture-in-picture)

สรุปแล้วเจ้าไหนคุ้ม ?

เมื่อดูในมุมของ คนธรรมดา YouTube อาจคุ้มค่าที่สุด ณ เวลานี้ แต่สำหรับอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ใช้ธรรมดาอย่างเรา ๆ เช่น พ่อค้า-แม่ค้า , ดารา , ครีเอเตอร์ , อาจารย์ ที่ต้องการความน่าเชื่อถือ บริการเหล่านี้อาจช่วยเหลือในการสร้างรายได้มากยิ่งขึ้นได้

related