svasdssvasds

เพจและสื่อดังของไทยพร้อมใจรับมุก หวังอัลกอริทึมเฟซบุ๊กช่วยเพิ่มยอดรีช

เพจและสื่อดังของไทยพร้อมใจรับมุก หวังอัลกอริทึมเฟซบุ๊กช่วยเพิ่มยอดรีช

เป็นอีกหนึ่งกระแสที่น่าสนใจสำหรับการเข้าถึงโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยเมื่อวานนี้ (30 มค.) เชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กจะต้องเห็นการโพสต์แบบข้อความสั้นบนภาพพื้นหลังของหลายสื่อออนไลน์และมีผลตอบรับที่ดีด้วย

การโพสต์แบบข้อความสั้นบนเฟซบุ๊กนั้น อาจจะคล้ายกับการพิมพ์แบบ SMS หรือพิมพ์แบบทวิตเตอร์ที่ได้ความยาวไม่เยอะไม่เกิน 120 ตัวอักษรและมีแต่ข้อความเท่านั้น

แม้เฟซบุ๊กจะทำให้มีความแตกต่างตรงเลือกสีพื้นหลังได้ แต่ก็ยังจำกัดไม่ให้ใส่ลูกเล่นในข้อความนั้นๆ 

สิ่งที่น่าสนใจคือเราเห็นการโพสต์แบบข้อความล้วนมาสักพักแล้ว และต้องยอมรับว่ายอดการมองเห็น (Reach) และสร้างการมีส่วนร่วม (engagement) ได้ดีอย่างมากทีเดียว

ดังนั้นหลายสำนักข่าวชื่อดัง เพจการตลาด เพจข่าวออนไลน์ แบรนด์และสื่อออนไลน์ ก็พร้อมใจกันใช้รูปแบบการพิมพ์ข่าวสารด้วยข้อความอย่างเดียวพร้อมๆ กัน จนทำให้เกิดกระแสการโต้ตอบกลับได้ไวอย่างคาดไม่ถึง

โดยทาง SPRiNG ได้เก็บโพสต์จากกรณีข่าวดังอย่าง "กองสลากพลัส" เพื่อลองพิสูจน์หลักการเรื่องอัลกอริทึมว่าผู้ติดตามเพจของสื่อต่างๆ ว่ามียอดแชร์และคอมเมนต์อย่างไรบ้าง 

เพจและสื่อดังของไทยพร้อมใจรับมุก หวังอัลกอริทึมเฟซบุ๊กช่วยเพิ่มยอดรีช

จากภาพจะเห็นได้ว่า ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ข่าวที่ร้อนแรงและกำลังเป็นกระแสสามารถเรียกกระแสการสื่อสารให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยิ่งมีการคอมเมนต์มากเท่าไหร่ ยอดการมองเห็นก็จะส่งถึงผู้ติดตามให้เห็นโพสต์นั้นๆ มากขึ้นเช่นกัน

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ SPRiNG จึงได้สอบถามไปยังนักวิชาการ เอเจนซี่และเจ้าของเพจชื่อดังเกี่ยวกับกระแสดังกล่าวนี้

คุณหนุ่ย-ณัฐพล ม่วงทำ Founder & Owner เพจเฟซบุ๊ก “การตลาดวันละตอน” 

การโพสต์ข้อความล้วนแบบนี้ ผมเห็นมาพักนึงแล้วแต่ยังไม่อินก็เลยยังไม่ได้ทดลองทำจริงจัง แต่ก็รู้สึกว่าสนุกดีเลยลองโพสต์แบบนี้ดูบ้าง ช่วงหลังมีการลองโพสต์แบบอ่านต่อในคอมเมนต์ด้วย เหตุผลที่ในตอนแรกยังไม่ได้ทำเพราะปกติผมจะโพสต์จบในครั้งเดียวมันชัดเจนในการสื่อสารแต่ละข้อมูลมากกว่า

การทดลองแบบนี้คือการไปเล่นกับอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก ยิ่งมีคนเข้ามามีส่วนร่วม (engage) ก็ยิ่งทำให้โพสต์นั้น มีโอกาสที่จะเพิ่มการมองเห็นจากคนอื่นๆ มากขึ้นด้วย

แต่ผมมองว่ามันเป็นเกมเป็นการแข่งกับอัลกอริทึมในวันที่มีคนเข้าถึงคอนเทนต์น้อยแล้วควรทำอย่างไร ซึ่งผมว่ารูปแบบการโพสต์แบบนี้จะอยู่ได้ไม่นาน ลูกเพจก็น่าจะเบื่อและชินไปแล้ว

เหมือนสมัยก่อนที่มีการโพสต์เป็น Gif ต่อมาก็พิมพ์จบให้ status เดียว ตอนนี้ก็อ่านต่อในคอมเมนต์ ผมว่าเดี๋ยวกระแสก็จบเป็นสีสันชั่วคราวไม่ได้เป็นไฮไลต์สำคัญในการทำคอนเทนต์อะไร ไม่ต้องทำต่อก็ได้

เพจและสื่อดังของไทยพร้อมใจรับมุก หวังอัลกอริทึมเฟซบุ๊กช่วยเพิ่มยอดรีช

ซึ่งรูปแบบคอนเทนต์แบบนี้ เรียกว่าเป็น is a realtime ที่คนทำเพจหรือแบรนด์ก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน เพราะเฟซบุ๊กเองเค้าเป็นแพลตฟอร์มก็ต้องหารายได้ ปรับลูกเล่นเพิ่มสีสันเพื่อดึงคนให้คนใช้งานแพลตฟอร์มตัวเองนานๆ และคาดหวังว่าจะมีรายได้เข้ามาเช่นกัน

ส่วนจะช่วยเพิ่มคนติดตามหน้าใหม่ๆ หรือไม่นั้น ด้วยความที่เพจการตลาดวันละตอน จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงการตลาด และผมก็จะเข้าไปอ่านคอมเมนต์และตอบข้อความด้วยตนเองอยู่แล้ว ก็เลยจะคุ้นเคยและรู้ว่าเป็นใคร แต่การทดลองโพสต์ในรูปแบบใหม่ๆ แบบนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสในการมองเห็นโพสต์ของผมจากผู้ติดตามเดิมมากกว่าสร้างผู้ติดตามรายใหม่ๆ 

จากที่ทุกเพจและแบรนด์โดนลดการมองเห็น การทดลองนี้ผมคิดว่ามีโอกาสที่ผู้ติดตามเดิมจะมองเห็นโพสต์ของแบรนด์เพิ่มขึ้นได้มากกว่า จากเดิมที่ผู้ติดตามแค่เห็นโพสต์แล้วก็เลื่อนผ่าน การทำรูปแบบนี้อาจจะมีการหยุดอ่าน และอยากมีส่วนร่วมกันมากขึ้น

เพราะถ้าวัดจากยอดแชร์โพสต์เก่าๆ ของผมก็มีอันที่ยอดแชร์เยอะแต่เอนเกจเมนต์น้อยกว่าซึ่งคนทำเพจถ้าทำคอนเทนต์ดึงดูดอยู่แล้ว ยอดแชร์ย่อมดีอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ใช่คอนเทนต์ที่เป็นกระแสให้คนพูดถึง

แต่การโพสต์ข้อความสั้นแบบนี้น่าจะวัดผลในเรื่องของการดึงดูดให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและเข้ามาพูดคุยกันมากขึ้นกว่าเดิมมากกว่า ซึ่งอาจจะยังใช้วัดผลอะไรไม่ได้ ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรครับ

สิ่งที่ผมจะแนะนำคืออยากให้แบรนด์และเพจต่างๆ ลองเรียนรู้การเล่นกับกระแสสักครั้ง เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางว่าจะต่อยอดไปอย่างไร จะนำไปใช้เป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจ (Core Stategy) ได้ไหม แต่ถึงอย่างไรก็อย่าลืมแกนหลักของธุรกิจ (Core Competency) ว่าต้องการให้เดินไปในทิศทางไหนและต่อยอดต่อไปได้อย่างไร

เพจและสื่อดังของไทยพร้อมใจรับมุก หวังอัลกอริทึมเฟซบุ๊กช่วยเพิ่มยอดรีช

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กระแสการโพสต์ข้อความสั้นบนเฟซบุ๊กนั้น น่าจะเป็นภาพสะท้อนการเสพสื่อของคนที่ทำงานในแวดวงสื่อสาร ที่ต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ ให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า เมื่อเราพึ่งพาแพลตฟอร์มมากเกินไป เมื่อมีการเปลี่ยนอัลกอริทึม สิ่งที่เราทำได้คือยอมรับและปรับตัวตามให้ทัน 

ยิ่งแพลตฟอร์มทดลองไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งไม่มีหลักประกันว่าในอนาคตจะไม่เปลี่ยนไปทดลองอะไรอีก เพราะแพลตฟอร์มเขาก็ต้องหารายได้เช่นกัน เขาย่อมหาโอกาสให้แบรนด์หรือคนทำเพจยอมจ่ายเพื่อบูสต์โพสต์หรือซื้อโฆษณามากขึ้น 

ดังนั้น คนทำงานวงการสื่อหรือเพจเองก็ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าเรา จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มมากแค่ไหน สมัยก่อนเรามีเว็บไซต์เป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงผู้ติดตามข่าวสาร แต่ตอนนี้เราต่างก็พึ่งพาโซเชียลมีเดียเกือบทั้งหมดแล้ว 

ซึ่งทางสื่อหรือเพจต่างๆ ที่อยากให้ผู้บริโภคสื่อมีการเข้าเว็บไซต์มากขึ้น แต่กลับเลือกใช้โปรแกรมโฆษณาสำเร็จรูปเยอะเกินไป จนบางครั้งคนดูก็เผลอคลิกไปเจอเว็บหลอก เว็บปลอม หรือคอนเทนต์โฆษณา ทำให้คนดูเบื่อและไม่อยากเข้าไปคลิกอ่าน

คนติดตามข่าวสารเค้ารู้สึกว่าอ่านข่าวสั้นแบบเอสเอ็มเอสก็พอ ถ้าสนใจก็ค่อยเข้าไปอ่านรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งพฤติกรรมคนอ่านข่าวที่เปลี่ยนไปก็ทำให้คนทำสื่อต้องปรับภูมิทัศน์ให้ทัน ดึงคนอ่านเข้าช่องทางหลักของตัวเองให้ได้ เพื่อลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มลง

เพจและสื่อดังของไทยพร้อมใจรับมุก หวังอัลกอริทึมเฟซบุ๊กช่วยเพิ่มยอดรีช

สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล นักวางแผนการตลาดดิจิทัล บริษัท BrandBaker

จากที่ผมทราบก็คือ facebook จะนับว่าคนสนใจโพสต์จากการมีส่วนร่วมหรือ Engagement ของผู้ติดตามเพจของเรา ซึ่งการมีส่วนร่วมนี้ จะไม่ได้มีแค่ การแสดงความรู้สึก (Reaction) การส่งต่อ (Share) การแสดงความคิดเห็น (Comment)

แต่จะหมายถึง การกดโพสต์ดูรายละเอียดหรือ See More ด้วย
ซึ่งเวลาโพสต์สถานะ (Status) แบบอ่านสั้นๆ แล้วสร้างความรู้สึกให้คนอยากรู้เพิ่มขึ้น แล้วคลิกไปอ่านคอมเมนต์ก็จะนับเป็นการมีส่วนร่วมหรือ Engagement รูปแบบหนึ่งครับ

จากที่ผมทดลองทำในเฟซบุ๊กส่วนตัวและเพจของผมจะพบว่า มีคนกดเข้าไปอ่าน 90% นั่นอาจจะแปลว่า ถ้าเนื้อหามันเด็ดจริงๆ คนยิ่งแชร์ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้มีการมองเห็น (Reach)  > การมีส่วนร่วม (Engage) > การมองเห็น (Reach) มากขึ้นไปอีกครับ

ส่วนเหตุผลที่เฟซบุ๊กทดสอบการทำ Status แบบนั้น ผมคิดว่าช่วยสร้างโอกาสในการมองเห็นและเข้าใจง่าย คนอ่านเองก็เข้าใจว่า ทำไมต้องกดเข้าไปอ่านในเนื้อหาต่อได้เร็ว และ โดดเด่นกว่าคอนเทนต์ประเภทรูปภาพหรือวีดีโอด้วยครับ

ส่วนอัลกอริทึม ผมคิดว่าไม่ได้มีผลอะไรเป็นพิเศษครับ เทคนิคแบบนี้อาจจะช่วยดึงความสนใจได้ แต่ถ้าเนื้อหาไม่ดีจริง มันก็แป้กๆ ครับ 

สุดท้ายคือถ้าเนื้อหาใช่ ยอดก็จะพุ่งเอง ไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรเลย จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่ผมทำสรุป Digital 2023 คนแชร์เยอะกว่าโพสต์ Status เยอะมาก

ดังนั้น การโพสต์แบบข้อความ เรียกว่าเป็นแนวทางการโพสต์แบบใหม่ที่น่าสนใจครับ เพียงแต่ถ้าใช้เยอะๆ อาจจะไม่เวิร์ค ผมคิดว่า การทำภาพแล้วมีพาดหัวให้คนกดอ่านในคอมเมนต์ ก็น่าสนใจนะครับ
 

related