svasdssvasds

คุยกับ ZORT จากระบบแก้ปัญหาสต็อกออนไลน์ สู่โซเชียลคอมเมิร์ซสำหรับนักขาย

คุยกับ ZORT จากระบบแก้ปัญหาสต็อกออนไลน์ สู่โซเชียลคอมเมิร์ซสำหรับนักขาย

TikTok แย่งส่วนแบ่งการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ แทบจะเรียกว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งเป็นโอกาสของร้านค้ารายย่อย ZORT แนะให้เอสเอ็มอีเข้ามาหาโอกาสเพิ่มกลุ่มลูกค้าออนไลน์มากกว่าการมีแค่หน้าร้านแบบเดิม

SHORT CUT

  • TikTok กลายเป็นช่องทางขายใหม่ที่ร้านค้ารายย่อยใช้งานมากขึ้น
  • นักไลฟ์ อาชีพใหม่ที่จะกลายเป็นเทรนด์การขายในอนาคต
  • การทำคอมมูนิตี้จะเป็นโอกาสสำหรับร้านค้ายุคใหม่

TikTok แย่งส่วนแบ่งการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ แทบจะเรียกว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งเป็นโอกาสของร้านค้ารายย่อย ZORT แนะให้เอสเอ็มอีเข้ามาหาโอกาสเพิ่มกลุ่มลูกค้าออนไลน์มากกว่าการมีแค่หน้าร้านแบบเดิม

การขายของออนไลน์ยุคใหม่ ไม่ได้มองแค่รับออเดอร์ จัดส่ง เก็บเงินและปิดการขาย แต่ต้องบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและใช้เทคโนโลยีในการขายได้อย่างคุ้มค่า ZORT คือหนึ่งในผู้ให้บริการของไทยที่มีแพลตฟอร์มให้บริการแบบครบวงจร

คุณสวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) ZORT แพลตฟอร์มบริหารจัดการออเดอร์และสต๊อกครบวงจร เล่าถึงเทรนด์การขายของยุคใหม่ว่า TikTok ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้น แต่พยายามจะเข้ามาเป็นช่องทางการขายยุคใหม่ที่มากขึ้น อาจเพราะคนไทยชอบเสพคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ และมีคอนเทนต์จำนวนมากให้เลือกดู พอมาถึงอีกระดับหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มก็ต้องหารายได้ ที่มากกว่าแค่การขายโฆษณา 

ซึ่งในประเทศไทย Facebook แทบจะกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักของเอเจนซี่และนักการตลาดแล้ว ทำให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ก็ต้องหาโอกาสและช่องทางรายได้เช่นกัน 

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้เฟซบุ๊กจะขายโฆษณาหรือแคมเปญต่างๆ ได้ดี แต่การขายของแบบ Marketplace หรือ Social Commerce กลับไม่ปังเท่าที่ควร ในขณะที่ TikTok อาจจะไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกๆ ของแบรนด์หรือเอเจนซี่ แต่กลับขายสินค้าออนไลน์ในกลุ่มแม่ค้ารายย่อยได้ดีมาก ในบางประเทศแทบจะกลายเป็นช่องทางการขายต้นๆ ของประเทศนั้นๆ ไปเลย จึงกลายมาเป็นจุดเด่นที่เห็นความร่วมมือหลายอย่างในต่างประเทศ ทั้งด้านภาษี การจัดส่งหรือแม้แต่การสต๊อกสินค้าสำหรับการขายบน TikTok เท่านั้นไปแล้ว

fulfillment

จุดเริ่มต้นของการทำแพลตฟอร์ม ZORT

คุณสวภพ : ปัญหาเรื่องของการจัดการสต๊อกสินค้าและจัดการออเดอร์ในยุคก่อน มักมีปัญหาของหาย ของไม่ตรงสต๊อก แล้วก็ออเดอร์ตกหล่นบ้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผมเคยเจอมาแล้ว จนต้องปิดกิจการลงไปนะครับ 

ด้วยความที่ผมจบวิศวะมาก็เลยเขียนแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการสต๊อกสินค้าขึ้นมาและกลุ่มเพื่อนที่เขาเปิดธุรกิจขายของเหมือนกัน เขาก็อยากใช้งานโซลูชั่นประเภทนี้ เราก็เลยลองทำขึ้นมาและให้ลองใช้งานกันและหลายคนบอกว่าใช้งานง่าย สะดวกดี ยิ่งเทรนด์อีคอมเมิร์ซเปลี่ยนทุกปี ยุคนี้ก็เป็นการขายของแบบโซเชียลคอมเมิร์ซแล้ว ซึ่ง TikTok หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ก็เป็นตัวส่งเสริมให้การขายของบนโซเชียลเดินหน้าไปเร็วมาก

การขายของผ่านไลฟ์ จะกลายเป็นอาชีพในอนาคตของคนรุ่นใหม่และช่องทางเหล่านี้จะเติบโตขึ้น ยิ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซพยายามที่จะหันมาใช้การไลฟ์ในการขายยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ต้องมีทักษะการพูด การแนะนำ การขายสินค้าให้ดึงดูดความสนใจ ในประเทศอื่นๆ การขายแบบไลฟ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในไทยยังมีโอกาสอีกมาก

ขายต้องสนุก โปรโมชันต้องเด็ด

คุณสวภพ : การจะเพิ่มยอดขายให้ดีกว่าเดิม นักไลฟ์ต้องมี Interactive กับผู้ซื้อให้เร็วด้วย คิดโปรโมชันให้ไว และจดออเดอร์ให้ทัน เพราะการคุยผ่านไลฟ์ต้องทำทุกอย่างพร้อมกันได้แบบเรียลไทม์ เพื่อไม่ให้ลูกค้าตกหล่นจนเสียโอกาสทางการขายสินค้าไป

คุณสวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด

คอร์สเรียนสำหรับนักไลฟ์โดยเฉพาะ

คุณสวภพ : การขายแบบไลฟ์ไม่ใช่เรื่องง่ายเราจึงเห็นคอร์สเรียนสำหรับพัฒนาทักษะการขายสำหรับคนยุคใหม่ ที่ไม่ใช่แค่พูดเท่านั้น แต่ต้องรู้ว่าควรทำโปรโมชันอย่างไร รับออเดอร์อย่างไรให้ทัน และต้องปรับเปลี่ยนของแถมหรือดึงดูดใจลูกค้าอย่างไรให้อยากซื้อด้วย

สำหรับประเทศไทยถือว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นนะครับ จึงยังมี Know How อีกมากที่เราต้องรู้ เพื่อให้ขายสินค้าได้เร็ว และในอนาคตจะมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเสริมระบบการขายให้ง่ายยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นโอกาสที่น่าสนใจที่ควรเข้าไปเรียนรู้ อย่างในจีนเนี่ย พัฒนาไปถึงขั้นมีห้างสรรพสินค้าสำหรับนักไลฟ์ขายสินค้าได้แบบ 24 ชั่วโมงแล้ว ส่วนห้างสรรพสินค้าในไทยก็ยังอยู่ในช่วงหาจุดเด่นให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และพยายามทำโปรโมชันให้คนมาช็อปมากขึ้น

AI กับ E-Commerce

คุณสวภพ : ส่วนเทคโนโลยีเอไอกับอีคอมเมิร์ซนั้น จะแบ่งเป็นสองรูปแบบนะครับ คือ เข้ามาช่วยในเรื่องของการจัดออเดอร์ จัดสต๊อกสินค้า จัดระเบียบสินค้าขายดีและควรจับคู่โปรโมชันสินค้าใด ถึงจะสำเร็จ ซึ่งในอนาคตการจับคู่สินค้า AI จะช่วยให้แม่นยำในเรื่องการคาดเดาความต้องการของลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ 

เครื่องมือที่สอง คือ GenAI จะมีการถามและตอบข้อสงสัยได้แม่นยำมากขึ้นนะครับ จากเดิมที่จะเป็นการถามและตอบแบบกว้างๆ ก่อนส่งต่อให้ฝ่ายบริการที่เป็นคน แต่ตอนนี้ระบบเอไอจะวิเคราะห์คำถามก่อนตอบ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนจริงๆ ในการตอบ ซึ่งแต่ละเครื่องมือจะใช้งานไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าแต่ละธุรกิจนำไปใช้ให้เหมาะกับตนเองที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม คือไม่ต้องใช้ทั้งหมดพร้อมกัน แค่เลือกให้เหมาะกับการขายที่ต่างกัน เพื่อช่วยลดต้นทุน และใช้ระบบ automation มาช่วยในเรื่องของการวิเคราะห์การตัดสินใจของผู้บริโภคก็พอครับ

อนาคตของโซเชียลคอมเมิร์ซ

นอกจากการใช้งาน LINE เพื่อสื่อสารสำหรับคนทั่วไปแล้ว การไลฟ์ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสของธุรกิจเอสเอ็มอีเมืองไทยยังเพิ่งเริ่มต้น แต่ของจีนนี่เติบโตแบบก้าวกระโดดไปแล้ว

คุณสวภพ : สิ่งที่ยังขาดสำหรับนักไลฟ์ชาวไทยคือ Knowledge นะครับ อย่างที่จีนเนี่ยจะมีสูตรการทำงานเลยว่าแต่ละคนมีหน้าที่อะไร จะแจกโปรโมชันอย่างไร ถ้าผู้ซื้อถามแบบนี้ต้องตอบอย่างไรหรือต้องตอบสนองอย่างไร ที่จีนจะมีคู่มือใช้งานให้เลยครับจะเป็นสูตรสำเร็จเลย เช่น จัดไฟอย่างไร นำเสนอสินค้ากี่นาที และแจกโปรโมชันตอนนาทีที่เท่าไหร่ ถ้าไม่มีคนซื้อจะกระตุ้นยอดขายอย่างไร เป็นเรื่องที่กูรูเมืองไทยอาจจะเข้ามาเสริมในส่วนนี้ได้

คุยกับ ZORT จากระบบแก้ปัญหาสต็อกออนไลน์ สู่โซเชียลคอมเมิร์ซสำหรับนักขาย

คอมมูนิตี้ ส่วนสำคัญในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์

ถ้าในโซเชียลมีเดียจะมีผู้คนสร้าง Community สำหรับคนที่ชื่นชอบบางสิ่งเหมือนๆ กัน เพื่อมาแชร์ความรู้สึก แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องที่รู้มาให้แก่เพื่อนในแวดวงเดียวกัน ถือว่าเป็นการออกมาช่วยเหลือมือใหม่และให้เทคนิคที่ทำได้

คุณสวภพ : การสร้างคอมมูนิตี้ นอกจากจะช่วยให้คนที่ทำธุรกิจคล้ายๆ กันได้มีข้อมูลและประสบการณ์เหมือนกัน การใช้ AI มาช่วยเรื่องวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและเข้าใจข้อมูลการสั่งซื้อสำหรับลูกค้าเก่าและปรับสินค้าและบริการให้เหมาะกับผู้ซื้อหน้าใหม่ 

นอกจากนี้ เรื่องของการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการตอบแช็ต เพราะสมัยก่อนคนจะใช้ AI เพื่อตอบคำถามอย่างเดียว ซึ่งอาจจะได้ประโยชน์หรือสร้างความไม่ประทับใจต่อลูกค้าก็ได้ เพราะการสื่อสารด้วยบอตมักจะไม่ตรงจริตของผู้พูดเท่ากับการใช้คนตอบ แต่ในยุคนี้ AI ตอบคำถามได้ดีมากขึ้นและสมบูรณ์มากกว่าเดิม ทำให้ทุกคนไม่ได้รู้สึกงงว่ากำลังคุยกับคนหรือคุยกับบอต

ต้องยอมรับว่า AI ยุคนี้ฉลาดขึ้น หากดูจากกรณีศึกษาอย่าง Google Map ที่สมัยก่อนนำทางได้แบบงงๆ บ้าง ตอนนี้คือแม่นยำมากขึ้น เพราะผู้คนใช้งานมากขึ้น ช่วยกันรายงานปัญหาและบอกให้รู้ในรายละเอียดของเส้นทางมากขึ้น แสดงว่าข้อมูลมากขึ้นทุกคนก็เลยมีข้อมูลที่อัปเดตไปใช้ในการดูเส้นทางที่แม่นยำขึ้น

ส่วนความกังวลว่า AI จะมาแทนคนหรือไม่นั้น ผู้บริหาร ZORT มองว่า การเข้ามาของ AI ไม่ได้น่ากลัวว่าจะมาแทนที่มนุษย์ แต่ถ้าเราไม่พัฒนาความสามารถให้ดีขึ้นกว่าเดิม อันนี้เราอาจจะเสียประโยชน์ในการทำงานหรือการใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ มากกว่า

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related