svasdssvasds

12 เมกะเทรนด์อีคอมเมิร์ซ ที่จะมาพลิกโฉมการซื้อของออนไลน์ปี 66

12 เมกะเทรนด์อีคอมเมิร์ซ ที่จะมาพลิกโฉมการซื้อของออนไลน์ปี 66

พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ กลายมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการขายที่มีประสิทธิภาพมากในช่วงโควิด-19 ขณะเดียวกันก็เข้ามาเปลี่ยนช่องทางการขายแบบเดิม

ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการขายสินค้าแแบบเดิมให้เข้าถึงง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือร้านค้ารายเล็กและรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้แม้ไม่มีเงินลงทุนหน้าร้านก็ตาม

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด ได้วิเคราะห์เทรนด์อีคอมเมิร์ซของปี 2566 ที่พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ เข้ามาเปลี่ยนทั้งเเพลตฟอร์มการให้บริการ เทคโนโลยี เเละโอกาสใหม่ๆ ที่คนทำธุรกิจต้องเตรียมพร้อม

เทรนด์ 1 : มูลค่าค้าออนไลน์ขยับขึ้นรับการฟื้นตัวท่องเที่ยว

ปี 2566 อีคอมเมิร์ซไทย น่าจะกลับมาอยู่ในฝั่งบวกเต็มที่ ประกอบกับ โมเมนตัมของธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปเเบบ ทำให้บริการอีคอมเมิร์ซมองได้หลากหลายมิติ ทั้ง Food Delivery, Online Grocery, Travel, On Demand Content นี่คือองค์ประกอบบริการที่ผู้บริโภค นิยมจ่ายเงินให้บริการอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่ใช่แค่สินค้าที่จับต้องได้ แต่คือเรื่องบริการด้วย

เทรนด์ที่ 2 สงครามอี-มาร์เก็ตเพลสกำลังจะจบลง

ไม่ว่า ลาซาด้า หรือ ช้อปปี้ เริ่มเน้น Growth ใช้เงินลงทุนให้ตัวเองเติบโต ปรับสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรชัดเจน เช่น ลาซาด้าปีนี้ และปีก่อนหน้าสามารถทำกำไรได้แล้ว เเละใช้เงินทำตลาดน้อยลง

ขณะที่เริ่มโฟกัสที่การสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เห็นจากเริ่มเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับเพิ่มค่าบริการ

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

ธุรกิจของลาซาด้าไม่อาจมองแค่บริการอี-มาร์เก็ตเพลส หากต้องมองฝั่ง ลาซาด้า เพย์, ลาซาด้า เอ็กซ์เพรสหรือบริการดิจิทัลอื่นๆ จะพบว่ารายได้ทั้งหมดของลาซาด้าปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 38,000 กว่าล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาทกำไรหลัก คือ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส หรือบริการขนส่งนั่นเอง

ส่วนช้อปปี้ยังขาดทุนปี 2564 ช้อปปี้ขาดทุน 4,900 กว่าล้านบาท ขาดทุนสะสมติดต่อ 7 ปี ธุรกิจหลักมีช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส เมื่อมองภาพรวมธุรกิจ ช้อปปี้ การขาดทุนยังสูงอยู่ แต่รายได้ของทั้งกลุ่มมีมูลค่าเกือบ 43,000 ล้านบาท

"เห็นได้ชัดว่าปีที่แล้ว ช้อปปี้มุ่งเติบโตทางธุรกิจ (Growth) มากกว่าการทำกำไร แต่เมื่อดูข้อมูลช้อปปี้ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการปรับโครงสร้างเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย เงินเฟ้อ ฯลฯมีปัญหาเรื่องการระดมเงินจากนักลงทุนจึงเริ่มเน้นกลยุทธ์ทำกำไรมากขึ้น เริ่มจากการลดคน ปิดบริการในแต่ละประเทศที่ไม่ทำกำไร"

สิ่งที่เริ่มสะท้อนอย่างเห็นได้ชัด คือ มหกรรม 11.11ค่อนข้างซบเซา อีมาร์เก็ตเพลสใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมากสงครามของการใช้เงินถล่มกันเริ่มลดน้อยลง

“ที่สำคัญอีมาร์เก็ตเพลสไทย กลายเป็นสมรภูมิเเข่งขันต่างชาติเกือบ 100% แต่เรายังมีอี-มาร์เก็ตเพลสของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องรายได้ในปี 64 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว”

12 เมกะเทรนด์อีคอมเมิร์ซ ที่จะมาพลิกโฉมการซื้อของออนไลน์ปี 66

เทรนด์ที่ 3 สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ

หลายปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาจำนวนมาก อินฟราสตรัคเจอร์ของจีน เริ่มเชื่อมต่อเข้ามาในไทยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ เอื้อต่อผู้ให้บริการสามารถส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยได้ในไม่กี่วันบางรายมีบริการแวร์เฮ้าส์

ซึ่งในตอนนี้ผู้ผลิตผู้นำเข้าสินค้าจีนต่างยกขบวนมาตั้ง Warehouse ในประเทศไทย ในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพ และเริ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่จะขายสินค้าตรง จากสินค้าใน Warehouse ในไทยตรงสู่ผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสินค้ามีราคาถูกลงมาก และเราจะได้เห็นกองทัพสินค้าจากจีนถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

สินค้าจีนที่เข้ามาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษี ผ่านขั้นตอนชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังผิดกฎหมายขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องมีมาตรฐานการผลิตของโรงงาน การควบคุมคุณภาพให้ผ่านมาตรฐาน มอก.หรือ สคบ. มีการจ้างคนเเละขั้นตอนการผลิตต่างๆ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า เเละกลายเป็นความเสียเปรียบของคนไทย ซึ่งภาครัฐควรต้องควบคุมให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไทยอย่างผิดกฏหมาย

เทรนด์ที่ 4 On-Demand Commerceสงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น

การแข่งขันการค้าลักษณะแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร หรือ ฟู้ดดิลิเวอรี่ต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริการที่มากกว่าอาหาร หรือที่เรียกว่า Beyond Food จากธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือการเรียกรถ ก็จะมีบริการอื่นเช่น Grab Mart, Grab Home เห็นได้ว่ามีการขยายฐานบริการอีคอมเมิร์ซซึ่งปีหน้าเราคงได้เห็นกันมาก โดยเฉพาะแกร็บ

ฝั่งไลน์แมนวงใน ขยายบริการทั่วประเทศมากขึ้นส่วนฟู้ดแพนด้าซึ่งอยู่ในตลาดมานานเกือบสิบปี ปัจจุบันให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย และเริ่มมีบริการอื่น ๆ ด้วยเช่นกันสุดท้ายโรบินฮู้ดเริ่มขยายธุรกิจ จากบริการจัดส่งอาหาร ก็เพิ่มบริการจองโรงแรม บริการซื้อของ และบริการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาเร็วๆ นี้

เทรนด์ที่ 5 การบุกของ DFS (Digital Financial Service)

บริการการเงินทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า Non bank เช่น บริการรับชำระเงิน, บริการกู้เงินทางออนไลน์, บริการประกันออนไลน์,บริการดูแลความมั่งคั่ง ดูแลสินทรัพย์ออนไลน์ หรือ การโอนเงินออนไลน์ โอนเงินต่างประเทศ

ขณะที่ แนวโน้มการใช้บริการ Digital Financing เหล่านี้เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้อีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตมากขึ้นอีกทั้งผู้ให้บริการหลายราย เช่น แกร็บ ช้อปปี้ ฟู้ดแพนด้า หรือลาซาด้าเริ่มมีการให้บริการทางการเงินให้กับคู่ค้าของตัวเองมากขึ้น

เทรนด์ที่ 6 สงคราม Short Video Commerce กำลังดุเดือด

ไม่ว่าจะเป็น Tiktok, Youtube, Facebook เเละ Instagram ที่กระโดดลงมาเเข่งขัน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการอย่างไลน์ก็ลงมาเเข่งในสนามวิดีโอเช่นกัน

ดังนั้น กลยุทธ์จะไม่ได้ทำมาเพื่อให้บริการเฉพาะ Short video เพียงอย่างเดียว แต่มีบริการอื่นของอีคอมเมิร์ซเช่นการเปิดร้านค้าเข้ามาเสริมด้วยเช่นเดียวกัน

เทรนด์ที่ 7 โฆษณาออนไลน์ที่มีทางเลือกมากขึ้นหลายปีที่ผ่านมา

โฆษณาออนไลน์ที่เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ คือ Facebook ซึ่งปัจจุบันผู้โฆษณาหันไปทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่การโฆษณาผ่าน Facebook ประสบปัญหาของการได้ผลลัพธ์ที่น้อยลง

ขณะที่คู่แข่งอย่าง Tiktok พัฒนารูปแบบการโฆษณาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

แนวโน้มที่เกิดขึ้น คือ แบรนด์เเละผู้โฆษณาจึงเริ่มเปลี่ยนไปโฆษณาผ่าน Tiktok เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเสริมให้ลูกค้าขายของได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

เทรนด์ที่ 8 การตลาดผ่านการบอกต่อหรือ Affiliate Marketing

เป็นเทรนด์ที่มีการเติบโต เพราะคนเริ่มเป็นอินฟลูเอนเซอร์คนเริ่มมีฐานลูกค้าตัวเองมากขึ้น โซเชียล มีเดียเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีความสามารถบอกต่อสินค้าไปยังกลุ่มเพื่อนๆ ของเรา และเราเองสามารถได้ส่วนเเบ่งกำไรจากการที่สินค้าเหล่านั้นมีการขายได้เมื่อเพื่อนๆทำการสั่งซื้อ

แพลตฟอร์มอย่าง Tiktok เริ่มมีการผลักดันบริการ Affliate Marketing ที่ใช้การบอกต่อมากขึ้น รวมถึงช้อปปี้ และลาซาด้าก็เริ่มมีบริการเช่นเดียวกันขณะที่ในไทยก็มีผู้ให้บริการชื่อ pundai.com ที่เป็น Affliate Marketing ของไทย

เทรนด์ที่ 9 “MarErce” เมื่อมาร์เทค (MarTech) ผสานเข้ากับอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)

มาร์เอิร์ซ (Mar-Erce) คือ รูปเเบบการทำธุรกิจดิจิทัลที่อีคอมเมิร์ซผสานเข้ากับมาร์เทคปัจจุบันมาร์เก็ตติ้ง และอีคอมเมิร์ซถูกผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ

ตอนนี้ผู้ให้บริการด้านมาร์เทค (MarTech) เริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เกิดออเดอร์ เกิดการซื้อขาย เเละเมื่อเกิดการขายแล้ว

ทางฝั่งมาร์เทค (MarTech) จะเริ่มนำเทคโนโลยีย้อนกลับไปทำ CRM หรือ Retention เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำต่อไปอีกที

เทรนด์ที่ 10 การแข่งขันอีคอมเมิร์ซในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Tiktok ทุกคนเริ่มมีแพลตฟอร์มที่รองรับเเละส่งเสริมอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเป็นกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ากระโดดข้ามไปใช้บริการของคู่แข่งตรงนี้เองจะทำให้เกิดอีคอมเมิร์ซในแพลตฟอร์มใหญ่เพิ่มมากขึ้น

เทรนด์ที่ 11 การขาดดุลดิจิทัลของไทย

กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อ 1 ก.ย. 64 เเละจากข้อมูลล่าสุด มีผู้ให้บริการต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนเเล้วจำนวน 127 ราย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ต.ค.64-มี.ค.65) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,200 กว่าล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า อาจเก็บได้ถึงเกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยอาจจะขึ้นไปสูงถึงเกือบ ๆ สองแสนล้านบาทเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรต้องเริ่มเข้ามาดูแลสอดส่องว่าประเทศไทยเรามีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร

เทรนด์ที่ 12 D2C (Direct to Customer) จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

ย้ำอีกครั้งว่าในช่วงปีที่แล้วและปีนี้ Direct to Customer หรือการขายตรงไปยังผู้บริโภค การตัดตัวกลางออกไปจากห่วงโซ่ เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิตต่าง ๆ หลายปีที่ผ่านมา โรงงานเริ่มขายของออนไลน์มากขึ้น ขายตรงไปยังผู้บริโภคมากขึ้น

ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเริ่มถดถอย เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มซื้อสินค้าจากร้านในท้องถิ่นน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ในแง่ของธุรกิจท้องถิ่นจะมีผู้ที่เป็นตัวกลาง หมดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพราะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

 

 CR : กรุงเทพธุรกิจ
 

related