UNESCO เตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์ที่อยากให้ของหายมากที่สุด ด้วยการโชว์โบราณวัตถุ "ที่ถูกขโมยไป" หวังทวงคืนจากโจรปล้นโบราณวัตถุ
องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) วางแผนเปิดพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR โดยจัดแสดงโบราณวัตถุ "ที่ถูกขโมยไป" หวังทวงคืนจากโจรปล้นโบราณวัตถุ ซึ่งหากโบราณวัตถุชิ้นไหนถูกนำมาคืน ก็จะนำของชิ้นนั้นออกจากพิพิธภัณฑ์เสมือนแห่งนี้ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยากให้ของหายมากที่สุดที่เดียวในโลก(เสมือน)
เว็บไซต์ต่างประเทศใช้คำว่า "ยูเนสโก รวมทีมกับ ตำรวจสากล" เชื่อมโยงฐานข้อมูล “โบราณวัตถุทางวัฒนธรรม” ที่ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ และแหล่งโบราณคดีมากกว่า 52,000 ชิ้น ทั่วโลก
กรุงเทพธุรกิจ อ้างอิงตามรายงานของ Antiquities Coalition องค์กรพัฒนาเอกชนในสหรัฐ เปิดเผยว่า หนึ่งในโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ ชิ้นสำคัญที่สุดที่ถูกขโมยก็คือ จารึกหินเศวตศิลาในศตวรรษที่ 3 ที่นำมาจากวิหาร Awwam ในเยเมน ซึ่งในระหว่างปี 2009-2011 จารึกหินชิ้นนี้มีการขโมยวนเวียนกันไปมาทั่วโลกเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่นั้น แต่ในรายชื่อโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอื่นๆ ที่ถูกขโมยไป ยังรวมถึง “รูปปั้นสิงโตงาช้าง” สมัยศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์แบกแดดในปี 2013, “หน้ากากหินสีเขียวของชาวมายา” ในเมืองริโออาซูล ประเทศกัวเตมาลา ก็ถูกปล้นไปตั้งแต่ปี 1970 และ “รูปปั้นพระวราหะ” ในศตวรรษที่ 5 ของวัดในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย ก็มีคนขโมยไปในปี 1988
แม้ว่าดูเผินๆ แล้วเป้าหมายของการจัดแสดงโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยในครั้งนี้ คือการทำให้สิ่งของเหล่านี้กลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงฟื้นฟูสิทธิของสังคมในการเข้าถึง และได้สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมที่เคยหายไปของพวกเขา
แต่แท้จริงแล้วยูเนสโกมีนัยสำคัญที่มากกว่านั้น นั่นคือ เป็นการบอกใบ้ให้ประชาชนรู้ว่าสิ่งของที่พวกเขาอาจเคยพบเห็นจากสถานที่ต่าง ๆ บางชิ้น แท้จริงแล้วคือโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปจากท้องถิ่น และเป็นการเรียกร้องให้หัวขโมยเอาของมาคืนไปด้วยในตัว
ด้าน เออร์เนสโต ออตโตเน (Ernesto Ottone) ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปด้านวัฒนธรรมองค์กร ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มักมองว่าการมีสิ่งประดิษฐ์มาจัดแสดงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความสำเร็จรูปแบบหนึ่ง เพราะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่กับพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงของยูเนสโก เพราะพวกเขาหวังว่า “โบราณวัตถุ” เสมือนจริงเหล่านี้จะทยอยหายไปจากพิพิธภัณฑ์เรื่อย ๆ เนื่องจากตัวจริงของพวกมันถูกส่งคืนแล้วนั่นเอง
ดังนั้น ใจความสำคัญของ “พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุที่ถูกขโมย” ของยูเนสโก ไม่ได้เน้นไปที่การนำเสนอให้ผู้ชม ได้เห็นวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก เหมือนกับพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้ใครก็ตามที่เคยขโมยหรือครอบครองวัตถุโบราณเหล่านั้น นำมาคืนให้กับยูเนสโกเพื่อส่งคืนไปยังท้องถิ่นต้นกำเนิดต่อไป โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้าางบทบาทที่สำคัญจากภาคสังคม