svasdssvasds

Apple กำลังจะใช้งาน NFC แตะจ่าย-เปิดประตูบ้าน ได้ แต่ในไทยยังต้องรอ

Apple กำลังจะใช้งาน NFC  แตะจ่าย-เปิดประตูบ้าน ได้ แต่ในไทยยังต้องรอ

Apple เปิดทางแอปฯอื่นใช้งาน NFC นวัตกรรมไร้สัมผัส แตะจ่าย-เปิดประตูบ้าน ทุกอย่างจบด้วยมือถือ iPhone แต่ในไทยยังต้องรอ

Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศ เตรียมเปิดให้ สถาบันการเงิน ธนาคาร ผู้ให้บริการทางการเงิน และอื่นๆ สามารถเข้ามาพัฒนาแอปฯของตัวเองโดยใช้ชิป Secure Element (SE) หรือชิปที่มีความปลอดภัยสูง และชิป NFC ของ Apple จะทำให้ลูกค้าสามารถใช้งานต่างๆ แบบไร้สัมผัส หรือ NFC Contactless Transactions ได้เลยบนอุปกรณ์ iPhone ระบบปฏิบัติการ iOS 18.1 ตัวใหม่ที่จะเปิดให้อัปเดตในอนาคตอันใกล้นี้ 
 

ความเข้าใจ NFC คืออะไร ? 

ทั้งนี้ NFC หรือ Near Field Communication เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายระยะสั้น (Short-Range WirelessTechnology) ใช้คลื่นความถี่ 13.56 เมกะเฮิรตซ์ บนพื้นฐานมาตรฐาน ISO14443 (Philips MIFARE and Sony's FeliCa) ใช้ส่งข้อมูลได้ระยะประมาณ 4-10 เซนติเมตร  หรือให้มองภาพเข้าใจง่ายๆ แตะจ่ายเงินในระยะใกล้  แตะประตูเข้าบ้าน แตะที่ทำงาน 
 

ด้วยระบบ NFC และ SE APIs ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้ให้บริการอื่นๆ ยังจะสามารถนำเสนอบริการไร้สัมผัสที่นอกเหนือจากการชำระเงินให้ลูกค้าได้ อย่างเช่น สแกนกุญแจรถ สแกนบัตรพนักงาน บัตรนักเรียน สแกนกุญแจบ้าน กุญแจห้องในโรงแรม เก็บแต้มสะสมจากร้านค้า ไปจนถึงบัตรคอนเสิร์ต และมีโอกาสที่จะรองรับบัตรประชาชนอีกด้วยในอนาคต

แผนนี้ของ Apple ประกาศออกมา หลังจากถูกกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะสหภาพยุโรป เพื่อเปิดให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสผ่านอุปกรณ์ Apple ได้ นอกเหนือจาก Apple Pay และ Apple Wallet 

นวัตกรรมไร้สัมผัส NFC ของ Apple ยังไม่มีในไทย

ในอดีตที่ผ่านมา Apple เคยลังเลที่จะเปิดให้ Third-Party ใช้งานชิป  NFC  เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ในท้ายที่สุดแล้ว Apple เผยว่าได้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ในประเด็นนี้  

โดยชิปและระบบจะมีความปลอดภัยสูงด้วยเทคโนโลยีของ Apple ทั้ง Secure Enclave การสแกนหน้าและลายนิ้วมือ และเซิร์ฟเวอร์ Apple ที่ปลอดภัย

นวัตกรรมไร้สัมผัส NFC และ SE APIs จะเปิดให้นักพัฒนาใน ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ก่อนในช่วงอัปเดต iOS 18.1 นี้ และจะเปิดในประเทศอื่นๆ ในอนาคต นั่นแปลว่าในประเทศไทยยังต้องรอฟังก์ชั่นนี้ไปก่อน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related