SHORT CUT
ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคที่มาแน่ และมนุษย์ก็ต้องอยู่รอดให้ได้ โดยต้องรู้จักเทคโนโลยีนี้ให้ดีขึ้นและ AI ต้องเป็นข้อมูลที่เข้ามาช่วย และต่อยอดไอเดียให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล, บริษัท FutureTales LAB จำกัด โดย MQDC เล่าถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า หลายฝ่ายเคยคาดเดาว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในการทำงานด้านต่างๆ อีก 30 ปีข้างหน้า
แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า AI มีความสามารถทัดเทียมและเทียบเท่าการทำงานของมนุษย์ได้ดีกว่าและงานเสร็จได้ทันเวลามากกว่า แต่มนุษย์กลับหลอกตัวเองว่าเรายังชนะหุ่นยนต์เหล่านี้ได้ รวมทั้งมีคนบางกลุ่มเลือกที่จะยอมแพ้และไม่ปรับตัวให้ทันต่อยุคสมัย
- AI : Artificial intelligence
- HI : Human intelligence
นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์แบบอัตโนมัติในปี 2035 โดยระบุว่าทั่วโลกจะมีการลดการจ้างงานลง 30% แต่ปัจจุบันจะเห็นว่า มนุษย์มีการฝึกฝนหุ่นยนต์เหล่านี้ให้มีทักษะและคิดระบบการทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นเรื่อยๆ เกือบจะเทียบเท่ากับทักษะพื้นฐานของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า อีก 30 ปี หุ่นยนต์จะมาแทนมนุษย์ อาจลดระยะเวลาลงเหลือเพียง 5-6 ปีเท่านั้น
ดังนั้น เราจึงควรปรับตัวและเดินหน้าให้เร็วกว่าหุ่นยนต์เพื่อให้อยู่รอดในวันที่อาจจะตกงานได้
ดร.การดี ระบุว่า สัญญาณที่บอกว่าหุ่นยนต์แทนมนุษย์ได้แล้วนั่นคือถ้าวันหนึ่ง AI สามารถเล่ามุกโจ๊ก เล่นคำผวนคือสร้างมีมได้จากทุกดราม่าแบบมนุษย์จนแยกไม่ออก นั่นคือสิ่งที่แสดงว่า AI ได้เข้ามาแทนที่เราแล้ว
นายวินิจ สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการ ADFEST กล่าวว่า AI หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจและอุตสหกรรมทุกแขนงไม่เว้นแม้แต่งานโฆษณา เห็นได้จากพัฒนาการอันก้าวกระโดดของ Generative AI ที่พัฒนาไปอย่างมาก จนอาจทำให้ใครหลายคนคิดว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ‘ปัญญามนุษย์’ (HI) กับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (AI)
การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI การค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของปัญญามนุษย์ที่จะใช้ AI ในวงการโฆษณาได้ใช้ประโยชน์จาก AI มานานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานหรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน รวมทั้งบทบาทของ AI กำลังจะเข้ามาใกล้กับความคิดของมนุษย์มากกว่าเดิม
ทั้งนี้ ผลงานโฆษณาหรือการลอกเลียนผลงานทั้งจาก AI กับมนุษย์เริ่มแยกกันยากมากขึ้น แต่จะใช้หลักการและเหตุผลใดในการควบคุมดูแล โดยไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรจะวางแผนให้มากขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม