อินเดียกลายเป็นประเทศแรกในเอเชีย หลังสามารถส่งยานอาทิตยา แอล-1 (Aditya-L1) ไปถึงวงโคจรของดวงอาทิตย์ได้สำเร็จ ระยะทางห่างจากโลก 1,500,000 กม. เพื่อสำรวจดวงอาทิตย์เป็นเวลา 5 ปี
เมื่อ 4 เดือนก่อนทั่วโลกต่างจับตามองกับ ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ ของ ยานอาทิตยา-แอล 1 (Aditya-L1) เมื่อทางองค์กรวิจัยอวกาศของอินเดีย หรือ ไอเอสอาร์โอ ( ISRO ) ได้มีการถ่ายทอดสดการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศ "ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาลมสุริยะ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการรบกวนบนโลกที่มักพบเห็นได้ในแสงออโรรา"
ล่าสุด 16.00 น. วันที่ 6 ม.ค. 67 ตามเวลาท้องถิ่น องค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย หรือ ISRO รายงานว่าขณะนี้ ยาน “อาทิตยา-แอล 1” ได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงอาทิตย์แล้ว โดยยานลำนี้ได้เดินทางออกจากโลก เมื่อเดือน กันยายน ปีที่แล้ว และเดินทางเป็นระยะทางกว่า 1,500,000 กิโลเมตร เพื่อไปที่จุดวงโคจรของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า แอล 1 ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นดวงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา และเป็นจุดที่มีความเสถียรด้วยแรงโน้มถ่วง
โดยยานอาทิตยา-แอล 1 มีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจ 5 ปี ภารกิจหลักของคือการศึกษาชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ พายุสุริยะ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณของโลก
ทั้งนี้ความสำเร็จนี้ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่มีภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์และสามารถส่งยานสำรวจเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงอาทิตย์ได้สำเร็จ ขณะที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดี และบอกว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศของอินเดีย