กล้อง Leica ประกาศชัด จะหยุด Deepfake ด้วยข้อมูลรับรองเนื้อหาหลังกดชัตเตอร์ เพื่อยืนยันความถูกต้องของภาพถ่าย เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นรูปถ่ายจริงๆ
เช็กอย่างไร ว่าเป็นรูปถ่ายจริงๆ ไม่ใช่รูปที่ AI ทำขึ้นมาใหม่?
หากเป็นสมัยก่อนเราอาจจะไม่มีข้อกังขานี้ แต่ในยุคที่ AI มีการพัฒนาชุดข้อมูลโดยใช้ภาพถ่ายมาสร้างภาพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตามคำสั่ง และนั่นกลายเป็นปัญหาสำหรับช่างภาพและคนพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูป อย่าง Leica ที่เปิดตัวกล้องตัวแรกของโลกที่มีการใส่รหัสปกป้องความถูกต้องของภาพถ่ายตั้งแต่ช่างภาพกดชัตเตอร์ไปจนถึงการพรินต์ภาพออกมา
David Butow ช่างภาพมืออาชีพ เผยว่า ด้วยเทคโนโลยีการสร้างภาพถ่ายดิจิทัลด้วย AI กลายเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้แก่ช่างภาพ จากการถ่ายภาพที่ต้องใช้เทคนิคการจัดแสง และองค์ประกอบภาพ จนได้ภาพที่สวยงาม แต่เมื่อนำรูปที่ถ่ายนั้น โพสต์ลงสู่โลกโซเชียล ก็กลายเป็นว่าภาพถ่ายนั้นอาจถูกนำไปใช้แบบไม่ได้รับอนุญาต หรือถูก AI ลอกเลียนแบบ
ไลก้า (Leica) รุ่น M11-P เป็นกล้องที่มีการใส่เนื้อหารับรองภาพถ่ายซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคของ C2PA โดยข้อมูลที่ฝังอยู่ในรุ่น M11-P นั้น ประกอบด้วย รุ่นของกล้อง เลนส์ วัน-เวลาและสถานที่ ที่มีการถ่ายรูป และรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้จะมีการเข้ารหัสแบบดิจิทัลด้วยชิปเซ็ตที่ปลอดภัยและมีคีย์ส่วนตัวที่เก็บไว้แบบไฟล์ Manifest แนบไปกับรูปภาพและสามารถแก้ไขได้ด้วยซอฟต์แวร์ที่ใช้กับ C2PA เท่านั้น
เมื่อรูปภาพนั้นมีการเผยแพร่ออกไป ในรูปภาพจะมีการแสดงไอคอนขนาดเล็กที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปภาพ ว่ารูปภาพนั้นสร้างขึ้นด้วย AI บางส่วนหรือทั้งหมดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กล้อง Leica รุ่นนี้ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใส่ข้อมูลรับรองเนื้อหาทำให้มีซอฟต์แวร์รองรับการแก้ไขรูปภาพด้วย Adobe เพียงโปรแกรมเดียว
ช่างภาพสามารถปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในภาพผ่านทาง Photoshop และ Lightroom ได้ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นโปรแกรมแบบเบต้าอยู่
ส่วนราคากล้อง Leica รุ่น M11-P นี้ มีราคาอยู่ที่ 9,195 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 323,112 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับเทคโนโลยีการฝังข้อมูลแบบที่กล่าวมาข้างต้น
ทางด้านของเหตุผลที่ต้องใส่เทคโนโลยีข้อมูลเข้าไปในกล้องนั้น เป็นเพราะกระแสข่าวการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล มีเรื่องของข้อสงสัยว่าเป็นภาพจริง ภาพที่สร้างขึ้นหรือภาพเก่า ข้อกังขานี้ทำให้นักพัฒนากล้องต้องใส่ใจในเรื่องของความถูกต้องด้านข้อมูล
ที่มา : Spectrum
ภาพ : Leica
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม