SHORT CUT
เปิดตัวเลข คนไทยใช้โมบายแบงก์กิ้ง 97% เยอะสุดในอาเซียน - ผู้บริโภคคนไทยใช้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นอย่างน้อย และเรื่องโอนไวไว้ใจได้
โลกในเวลานี้ ปี 2024 เรียกได้ว่าเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดเกือบจะเต็มตัวแล้ว , สังเกตให้ดี ในช่วง 1-2 ปีมานี้ การใช้เงินสดกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบการชำระเงินดิจิทัล คนเริ่มถือเงินสดไว้กับตัวน้อยลง สิ่งเหล่านี้กำลังนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Cashless Society
หากมองที่ตัวเลขสถิติ , มีสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่า ตอนนี้ คนไทยอยู่ในยุค สังคมไร้เงินสด แล้ว , นั่นคือ ณ เวลานี้ ไทยเป็นผู้นำด้านความถี่ ในการใช้โมบายแบงก์กิ้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือราว 97% ใช้โมบายแบงก์กิ้งอย่างน้อยหนึ่งครั้ง/สัปดาห์ ตามมาด้วยเวียดนาม (95%) และอินโดนีเซีย (90%) โดยค่าเฉลี่ยภูมิภาคอยู่ที่ 89%
นอกจากนี้ ไทยอยู่ในตำแหน่งผู้นำ ในด้านความถี่การใช้บริการชำระเงินแบบเรียลไทม์ (เช่น สแกน QR Code) โดย 86 % ของผู้ตอบแบบสอบถามได้ใช้ 1 ครั้ง/สัปดาห์ ตามด้วยเวียดนามที่ 84 % และอินโดนีเซียที่ 69 %
ตัวเลขสถิติเหล่านี้ เป็นการเก็บข้อมูลมาจาก Visa Consumer Payment Attitudes Study ซึ่งทาง วีซ่า เองก็เป็น ผู้ให้บริการการชำระเงินดิจิทัลชื่อดังของโลก และมีข้อมูลอีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือ ชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time payments หรือ RTP) ก็เป็นอีกทางเลือกที่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยมีผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 76% รู้จักวิธีการชำระเงินในรูปแบบนี้ และ 47% เคยใช้บริการโอนเงินแบบเรียลไทม์มาก่อน
ในโลกวันนี้ ต้องถือว่าเงินดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
“การชำระเงินแบบดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการชำระเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านบัตรคอนแทคเลส สมาร์ทโฟน และการสแกน QR Code" ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ให้ความเห็น
ทั้งนี้ มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คนในภูมิภาคอาเซียน พกเงินสดน้อยลง แต่เหตุผล 3 ข้อหลักๆนั้นก
คือ
• จ่ายผ่านคอนแทคเลสมากขึ้น
• มีจุดรับชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น
• กังวลว่าเงินสดจะสูญหายหรือถูกขโมย
ผลการศึกษาชิ้นนี้ พบด้วยว่า 46% ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พกเงินสดน้อยลง ด้วย เมื่อเทียบตัวเลขกับปีก่อนหน้า นำโดยชาวเวียดนาม (56%) มาเลเซีย (49%) และไทย (47%)
ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาพกเงินสดน้อยลง คือ ใช้จ่ายผ่านการชำระเงินแบบดิจิทัลในรูปแบบคอนแทคเลส หรือไร้สัมผัสมากขึ้น มีสถานที่รับชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น และกังวลว่าเงินสดจะสูญหายหรือถูกขโมย
ในส่วนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ Gen AI ก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 75% เคยได้ยินเกี่ยวกับคอนเซปต์ หรือรู้ว่ามันคืออะไร
สำหรับ Gen AI ในบริบทของการให้บริการทางการเงินนั้น 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (32%) ระบุว่าเคยใช้งาน Gen AI มาแล้ว ขณะที่ 38%รู้จักแต่ไม่เคยใช้งานมาก่อน
หากจำแนกตามกลุ่มผู้บริโภคจะพบว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง (51%) จะคุ้นเคยกับ Gen AI มากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (37%)
โดยสรุปแล้ว ผลการศึกษาของวีซ่า สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังปรับตัวเข้ากับโลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการชำระเงินแบบเรียลไทม์ และการนำ Generative AI มาเสริมสร้างความปลอดภัยและความสะดวกในการทำธุรกรรม แสดงถึงโอกาสใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจและธนาคารในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงนี้นั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง