SHORT CUT
ในมุมของเทคโนโลยี ดิจิทัล มีอะไรต้องหวั่นใจ กังวลใจบ้าง...เมื่อ Temu ไต้ฝุ่นคอมเมิร์ช กำลังจะซัดสินค้าไทย SME ไทยให้เจ็บหนัก!
เรื่องราวของ แบรนด์ Temu หรือ แพลตฟอร์ม Temu ถือว่ากำลังเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ในช่วงที่ผ่านมา โดย แพลตฟอร์ม Temu ได้เข้ามาเปิดเกมรุก ใส่แบบไม่ยั้ง ลุยตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเต็มตัว จนกลายเป็นได้แสงสปอร์ตไลท์จากสังคม โดย Temu ขนสินค้าจากทั่วโลกมาวางจำหน่าย ทำการตลาดลดราคาสินค้าถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้คนไทยควักกระเป๋าจ่ายโดยไม่ยั้งคิด
หากเท้าความถึงอดีต Temu ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกาหลังจากเปิดตัวในเดือนกันยายน ปี 2022 โดยมุ่งเป้าไปที่ชาวอเมริกันที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ด้วยการนำเสนอสินค้าราคาถูกที่ไม่มีแบรนด์และจัดส่งโดยตรงจากจีน
จากข้อมูลของ MobiLoud พบว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ของ Temu ในเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต่อมาไม่กี่เดือนในช่วงมกราคม 2023 ทาง Temu มียอดขายอยู่ที่ 192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกอย่างมันได้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดแทบจะตลอดปี 2023 เลยทีเดียว นี่แสดงให้เห็นถึงความร้อนแรงของ Temu
ดังนั้น เมื่อแพลตฟอร์มกำลังจะบุกตลาดไทยอย่างเต็มตัวแล้วนั้น เราควรต้องกังวล หรือ ทำความเข้าใจใดๆบ้าง โดยเฉพาะในแง่ของ เทคโนโลยีและดิจิทัล ตามสไตล์ของ SPRiNG tech
ทั้งนี้ ในแง่ของมิติของเทคโนโลยี และ ดิจิทัลที่ คนไทยต้อง ควรใส่ใจและกังวลนั้น เรื่องนี้น่าจะไปอยู่ที่ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ บนโลกอินเทอร์เน็ตที่ความใจดี และของฟรีไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างล้วนต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างทั้งนั้น อาทิ ฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมากเป็นต้น
ต้องบอกว่าเมื่อปีที่แล้วบริษัทแม่ของ Temu เทมู อย่าง #Pinduaduo เป็นข่าวดังมีดราม่า จน Google ระงับการใช้แอปฯ ถึงขั้นปักธงแดงเปลี่ยนสถานะแอปฯ ให้เป็นมัลแวร์ แม้จะมียอดผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากก็ตาม
เพราะมีปัญหาด้านความปลอดภัยตรงที่ตัวแอปฯ เวอร์ชันที่อยู่นอก Play Store มีลักษณะการทำงานที่คล้ายกับมัลแวร์ โดยแอปพลิเคชั่นนี้ได้ใช้วิธีการ Zero-day แฮกข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลผู้ใช้
นอกจากนี้ ยังควรจะต้องกังวลใจกับมิติอื่นๆด้วย อาทิ สินค้าทะลักเข้าไทย เพราะ ปัญหามาจากอุปทานส่วนเกินในจีน ยิ่งผลิตเยอะจนล้น และมันกำลังผลักดันสินค้าคงค้างจากการผลิตจำนวนมหาศาลให้ออกสู่ต่างประเทศ ในราคาที่ถูกมาก เพื่อเคลียร์สต๊อกสินค้าเดิมออกไปได้ ซึ่งช่องทางก็คือ อีคอมเมิร์ซนั่นเอง ส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาดไทยมากขึ้น นอกจากนี้ มีโอกาสที่ ผู้ประกอบการไทยรายย่อยจะสู้ temu ไม่ได้ โดยเฉพาะ SMEs ไทย จะได้รับผลกระทบหนักสุด แข่งขันยากขึ้น นั่นเอง
แอป TEMU ใช้การขายแบบ "Group Buying" คือตั้งกลุ่มซื้อ เมื่อมีคนสนใจสินค้าแบบเดียวกันมากๆ ผู้ผลิตหรือโรงงานก็จะแข่งตั้งราคาสินค้าได้ต่ำกว่าคู่แข่ง สินค้าจึงยิ่งมีราคาถูกลง คนซื้อจึงได้ของถูกสมใจ เน้นปริมาณการขาย มากกว่ากำไรต่อหน่วย
โดย Temu นั้น มีโมเดลธุรกิจ ถอดแบบบริษัทแม่ที่จีนเลย คือ ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้ากับผู้ผลิตได้โดยตรง เหมือนได้ราคาหน้าโรงงาน ด้วยวิธีรวมคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อต่างๆ เป็นลอตใหญ่ (Group Buying) ซึ่งการซื้อของแบบนี้แม้จะทำให้การจัดส่งล่าช้า แต่ก็ตัดค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับพ่อค้าคนกลาง
และ Temu ใช้สโลแกน “Shop like a billionaire” ที่ทำให้ลูกค้าทุกคนสามารถซื้อสินค้าได้ราวกับตัวเองเป็น "มหาเศรษฐี" โดยเน้นไปที่สินค้า "ราคาถูก" และส่งตรงจากโรงงาน (Direct to Consumer) เรียกได้ว่า ซื้อ 1 ชิ้น ก็สามารถจ่ายในราคาส่งได้เลย
ที่มา : cnn bloomberg mobiloud
ข่าวที่เกี่ยวข้อง