svasdssvasds

ภาคธุรกิจเตรียมตบเท้าเข้าสู่ "เวอร์ชวลแบงก์"

ภาคธุรกิจเตรียมตบเท้าเข้าสู่ "เวอร์ชวลแบงก์"

นอกจากกลุ่มธุรกิจการเงินที่ต้องปรับเปลี่ยนและยกระดับงานบริการให้เข้าสู่ "ดิจิทัลแบงก์" แล้ว แบงก์ยักษ์ใหญ่หลายรายก็ทะยอยหาพันธมิตรเพื่อขยายขีดความสามารถทางการเงินสู่การเป็น "เวอร์ชวลแบงก์" ที่เหลือแค่รอหลักเกณฑ์จากธปท. เท่านั้น

ภาคธนาคารกำลังมุ่งสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งและรอลุ้นกับการจะเข้ามาของ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหรือ Virtual BANK" จำนวน 3 ราย  ซึ่งจะประเดิมรับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2567

โดยในขณะนี้ มี "กรุงไทย หรือ KTB" และ "ไทยพาณิชย์ หรือ SCBX"  ที่ประกาศแผนธุรกิจใหม่ รอเงื่อนไขที่ชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. เพื่อเดินหน้าเวอร์ชวลแบงก์แบบเต็มรูปแบบ

หากย้อนดูตัวเลขสถิติการใช้บริการชำระเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง กับบริการอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า

บริการชำระเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง

  • เดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวน 95.64 ล้านบัญชี มูลค่ารายการทำธุรกรรม 5.8 ล้านล้านบาท
  • เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีการใช้งานราว 31 ล้านบัญชีและมีมูลค่ารายการเพียง 9.77แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นกว่า 208% และมูลค่ารายการเพิ่มกว่า 493%

บริการอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง 

  • จำนวนธุรกรรมชำระเงินผ่านบริการรวม 41.11ล้านบัญชี มูลค่ากว่า 2 .76 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น กว่า 107% และ 55.9% ตามลำดับ
  • เมื่อเทียบกับปี 2560 อยู่ที่ 19.83 ล้านบัญชี และมูลค่ารายการทำธุรกรรมอยู่ที่ 1.77ล้านล้านบาท

ส่วนทางด้านของ “สาขาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ” มีการปรับลดลงตลอด 5 ปี โดยเดือนมกราคม 2566 มี 30 ธนาคาร รวมสาขาทั้งสิ้น 5,267 สาขา ลดลง 1,468 สาขา หรือ 21.79% จาก 6,735 สาขาเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมปี 2561

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ได้แสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางของ SCBX ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม คือ การขยายช่องทางที่จะเป็นไฟแนนซ์เชียลเทคโนโลยีโดยเฉพาะโอกาสดิจิทัลหรือความสามารถด้านเทคโนโลยี แต่ไม่ผลีผลามต้องดูอย่างรอบคอบ

เนื่องจากว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ราคาสินทรัพย์หลายบริษัทปรับตัวจากเศรษฐกิจโลก จึงถือโอกาสนี้มองโอกาสที่จะเพิ่มความสามารถด้านเทคโนโลยีไปในภูมิภาค

ส่วนในเรื่องของความสนใจในการทำ “เวอร์ชวลแบงก์" นั้น ยืนยันว่ามีความสนใจโดย “เวอร์ชวลแบงก์” จะไปในนามของ SCBX ไม่ได้ไปในนามของธนาคารไทยพาณิชย์

โดยจะเป็นในรูปแบบของจับมือร่วมกับพันธมิตรและจะมีการประกาศความร่วมมือที่ชัดเจนขึ้น เพราะการออกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา หรือ Virtual Bank เป็นนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ต้องการให้กลุ่มการเงินทำไดเพื่อคนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบบริการของธนาคารไม่ใช่ให้ธนาคารเป็นผู้ลงมือทำเหมือนเดิม

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาผ่านระบบเงินฝากของประเทศไทยราว 15-16 ล้านล้านบาท และสินเชื่อราว 14-15 ล้านล้านบาท โดยลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นกลุ่ม ที่มีรายได้สูงระดับหนึ่งและเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม (กลุ่มMass - Upper mass) แต่ยังมีอีกหลายสิบล้านคนที่เป็นสินเชื่อนอกระบบอยู่ใน Shark Loan ซึ่งยังเข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อ

โจทย์ของ SCBX ที่ตั้งไว้ คือการเข้าไปแก้หนึ่งใน Pain point คือ จะลงทุนเพื่อดูแลกลุ่ม Unbanked เพราะเรามีธนาคารไทยพาณิชย์ดูแลกลุ่มลูกค้าระดับกลางและระดับบนอยู่แล้ว

ผยง ศรีวณิช ธ.กรุงไทย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เวอร์ชวลแบงก์เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่กรุงไทยเร่งเข้าไปศึกษาโดยอยู่ระหว่างรอ ธปท.สรุปหลักเกณฑ์หรือแนวทางสุดท้ายที่จะออกมา

ส่วนทิศทางกรุงไทยยังคงต้องปรับตัวต่อเนื่องรวมทั้งยกระดับธนาคารให้เท่าทันเทคโนโลยี พันธมิตร ระบบเศรษฐกิจและกลไกต่างๆที่มีการปรับตัวยกระดับขึ้นโดยใช้ศักยภาพเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และตอบโจทย์ชีวิต ตอบโจทย์ธุรกิจและชีวิตประชาชนที่เปลี่ยนไปในบริบทของโลกดิจิทัล ซึ่งนับเป็นความท้าทาย

ส่วนการยกระดับสู่ “ดิจิทัลแบงก์” นั้น ในหลักการ 

  1. ต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์การให้บริการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าอย่างไร
  2. ต้องยกระดับต้นทุนให้บริการให้สามารถแข่งขันได้ด้วยต้นทุนถูกที่สุดโดยนำนวัตกรรมนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้มากที่สุด

จากฐานลูกค้าดิจิทัลแบงก์ของกรุงไทยตอนนี้มี 40 กว่าล้านบัญชี ต้องยอมรับว่าจะระบุเป็นรายไม่ได้ เพราะลูกค้าหนึ่งรายไม่ได้มีทุกกิจกรรม แต่สาขาของธนาคารยังต้องมีอยู่และส่วนมูลค่าธุรกรรมผ่านดิจิทัลแบงก์เพิ่มขึ้นมาก

ภาคธุรกิจเตรียมตบเท้าเข้าสู่ \"เวอร์ชวลแบงก์\"

ทางด้านของนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) แสดงความคิดเห็นว่า ทีมงาน AIS กำลังทำงานร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย และ กัลฟ์ อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของเวอร์ชวลแบงก์

โดย AIS มองว่าเวอร์ช่วลแบงก์ เป็นเทรนด์ของโลก โดยที่เวอร์ชวลแบงก์จะลดข้อจำกัดของไพรเวทแบงก์กิ้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกรรมการเงินใหม่ที่แบงก์ทำไม่ได้ เช่น นาโนไฟแนนซ์

ดังนั้น เวอร์ชวลแบงก์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับกลุ่มรากหญ้า เช่น ในปากีสถานที่เวอร์ชวลแบงก์ สามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินมากขึ้น จึงมองว่าเวอร์ชวลแบงก์ น่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทย ที่ปัจจุบันเปิดรับและเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น

ทางด้านของนายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอแนวทางในการจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ จากธปท. ซึ่งเท่าที่พูดคุยกับธปท. อยากเปิดให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาให้บริการเวอร์ชวลแบงก์เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิม ไม่เกิดบริการใหม่ๆ

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

 

related