SHORT CUT
สองผู้บริหารทรูออนไลน์ ประเมินการแข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ผู้เล่นน้อยลง ความท้าทายเพิ่มขึ้น บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายากที่สุด
คุณฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด ทรู คอร์ปอเรชั่น และ คุณสกลพร หาญชายเลิศ หัวหน้าสายงานออนไลน์ คอนเวอร์เจนซ์ ทรู คอร์ปอเรชั่น เล่าว่า ปัจจุบันฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านของทรูออนไลน์อยู่ที่ 3.8 ล้านราย คาดว่าในปี 2567 นี้จะไปถึง 4 ล้านรายได้ ด้วยปัจจัยการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านและคอนโด ทำให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงขึ้น รวมทั้งทุกจังหวัดในประเทศไทย มีการขยายตัวของประชากรกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดว่า ผู้คนไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในแค่กรุงเทพฯ เหมือนเดิม แต่ทั้งเมืองใหญ่และพื้นที่รองที่มีการเกิดขึ้นของที่อยู่อาศัย ล้วนมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น
ด้วยการใช้ชีวิตแบบสมาร์ท ทำให้บ้านกลายเป็นสมาร์ทโฮมและความต้องการใช้งานเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องวางรากฐานให้ดี และเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะต้องหาจุดเด่นให้เจอ
ทรูออนไลน์ จึงมองโอกาสจากการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมและระบบบ้านอัจฉริยะ อ้างอิงจากรายงานของ Statista* ที่ระบุถึงแนวโน้มผู้ใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฮมในประเทศไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10.8 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.7 ล้านรายในอีก 3 ปี ข้างหน้า
คุณฐานพล และ คุณสกลพร ย้ำด้วยว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมบรอดแบนด์ ทำให้ทุกรายต้องเร่งหาจุดเด่นให้มากขึ้น จากเดิมจะแข่งขันกันเรื่องของราคา ความคุ้มค่าของแพคเกจและอุปกรณ์เชื่อมต่อที่แถมมา
แม้โปรโมชันนี้ยังคงมีอยู่ แต่การเพิ่มอุปกรณ์ที่มันคอนเวอร์เจนซ์และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของบ้านยุคใหม่ที่มากขึ้น เช่น กล้องวงจรปิด เราท์เตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบสมาร์ท ต่างก็เป็นความท้าทายที่ผู้แข่งขันต้องเพิ่มให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับที่อยู่อาศัย กลุ่มใหญ่จะใช้งานอยู่ที่ 500MB ก็ใช้งานได้ดีมากแล้ว แต่ทุกแบรนด์ก็เพิ่มความพิเศษเช่น ความเร็วมากขึ้นเป็น 1GB เพื่อการทำงานร่วมกับสมาร์ทโฮม ถือว่าเป็นการแข่งขันเชิงคุณภาพและงานบริการที่ผู้ให้บริการต้องเร่งทำให้ดีขึ้นเช่นกัน
ส่วนข้อเสนอสำหรับลูกค้าใหม่ที่คนส่วนใหญ่มองว่าดีกว่าลูกค้าเก่านั้น ในมุมมองของผู้บริหารคิดว่า แพ็กเกจเก่าๆ มักจะมีความคุ้มค่าในการใช้งานได้ดีกว่า สิทธิประโยชน์ดีกว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ซื้อบ้านใหม่ หรือย้ายที่พักใหม่ ก็เชื่อว่าทุกคนอยากใช้แพ็กเกจเดิมมากกว่า
คุณฐานพล เล่าว่า ในมุมมองของผม ผมก็เป็นลูกค้าคนหนึ่งที่อยากได้ความคุ้มค่า อยากได้สิทธิประโยชน์ อยากได้ราคาถูก และผมก็เป็นผู้ให้บริการ ผมก็ต้องบริหารต้นทุน และเข้าใจในความคิดเห็นของลูกค้า จึงเรียกว่าเข้าใจทั้งสองฝ่าย แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ต้นทุนที่สูงขึ้น ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น งานบริการที่ต้องดีขึ้น สุดท้ายเราต้องมองโซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก
คุณสกลพร กล่าวเสริมว่า แม้ว่าทุกคนมองว่า ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ในช่วงขาขึ้น จากพฤติกรรมการใช้งานของคน ต้องยอมรับว่าช่วงโควิดถือว่าเป็นขาขึ้นมากกว่าเพราะทุกคนอยู่บ้าน ทำงาน ใช้ชีวิต จึงต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ต แต่พอกลับสู่ภาวะปกติ การใช้งานทุกอย่างจะเกลี่ยๆ ไปตามการใช้ชีวิต แต่เป้าหมายของผมในปี 2567 คือ ฐานลูกค้าต้องโต รายได้ต้องเพิ่ม แต่ต้นทุนต้องลด ซึ่งเชื่อว่าเป็นความท้าทายอันใหญ่มากของผู้บริหารทุกธุรกิจ ที่ต้องแข่งขันกัน
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม