Samsung Galaxy ถือว่าเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เรือธงของสินค้าประเภทสมาร์ตโฟน มาตลอด 10 กว่าปี ของ ซัมซุง ที่เรียกว่าเป็นสินค้าที่ต้องพยายามอย่างหนักในยุคบุกเบิกสู่ยุครุ่งเรือง และจนมาถึงยุคหนักหน่วงในปัจจุบัน
กว่าจะมาเป็นวันแห่งชัยชนะของ Samsung (ซัมซุง) แบรนด์สินค้าเทคโนโลยี สัญชาติเกาหลี ที่มีชื่อเสียงในไทยนั้น ไม่ง่ายเลย เพราะต้องยอมรับว่าในยุคแรกเริ่มของตลาดสมาร์ตโฟนในไทยนั้น มี โนเกีย ครองตลาดสมาร์ตโฟนมาโดยตลอดและถือว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมากในยุคนั้น ก่อนจะมีหลายแบรนด์เกิดขึ้น
การเริ่มต้นของกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนของ ซัมซุง เริ่มต้นขึ้นในปี 2009 จากความร่วมมือกับ Google ที่ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แม้ว่าในอเมริกาจะมีคดีความเรื่องของการจ่ายเงินเพื่อได้ขึ้นหน้าแรกของสมาร์ตโฟนทุกแบรนด์ และ Samsung ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์สมาร์ตโฟนที่คาดว่าจะได้รับเงินก้อนมหาศาลเพื่อการแลกพื้นที่หน้าแรกนี้เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีใครแคร์ในข้อกล่าวหานี้
แม้ว่า ซัมซุง จะเข้ามาตีตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมานานกว่า 32 ปี และมีสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามาอย่างยาวนาน
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนกลายมาเป็นเบอร์หนึ่งในไทยได้ ภายใต้การดูแลของทีมบริหารที่มีผู้นำทีมคือ วิชัย พรพระตั้ง อดีตรองประธานองค์กรธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด โดยก่อนหน้านั้น เขาได้บริหารในองค์กรใหญ่ๆ ทั้ง P&G ไมเนอร์ฟู้ดส์และเทสโก้ โลตัส ก่อนจะเข้ามานั่งในตำแหน่งบริหารที่ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ในปี 2551
และเรียกได้ว่าเป็นคนปั้น Samsung Galaxy ให้ครองใจของผู้ใช้งาน เรียกได้ว่าขึ้นไปอยู่บนหอคอยสูงสุดของตลาดสมาร์ตโฟนรุ่นไฮเอนด์ได้ ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกไปในปี 2563 และมีมือขวาคนเก่งอย่าง สิทธิโชค นพชินบุตร ลูกหม้อในการปั้นแบรนด์ Galaxy มาด้วยกัน ที่เคยย้ายไปนั่งบริหาร dtac ก่อนจะกลับมานั่งในตำแหน่งรองประธานองค์กรธุรกิจโทรคมนาคมและไอที เมื่อปี 2564
ในปี 2566 นี้ ซัมซุงเคยประกาศรายได้ตลอดทั้งปีงบการเงิน 2566 ว่า กำไรอาจลดลง 85% อยู่ที่ 6.54 ล้านล้านวอน จากที่เคยสูงแตะ 43.38 ล้านล้านวอนในปี 2565
ตัวเลขนี้อาจไม่ได้เจาะจงในกลุ่มสินค้าประเภทใดเป็นพิเศษ แต่เป็นตัวบอกให้ทราบว่า ถ้าสินค้าไม่สร้างความแตกต่างด้านนวัตกรรมให้เหนือกว่าแบรนด์อื่น ก็ยากที่จะรักษาธุรกิจให้แข็งแรงต่อเนื่อง
โดยในไทยต้องยอมรับว่า Apple, Samsung Galaxy และ Oppo กลายเป็น 3 แบรนด์หลักในไทยที่ยังครองใจผู้ใช้งาน ด้วยนวัตกรรมในเรื่องของ "การถ่ายรูป" ที่ชูความโดดเด่น ภาพสวย คมชัด ซูมไกล เหมาะแก่คนไทยที่นิยมถ่ายและแชร์รูปภาพบนโซเชียลมีเดียและแคมเปญที่ยอดนิยมในช่วงนั้นคือการ "ถ่ายรูปดวงจันทร์" ที่แข่งกันชัดที่สุดในแต่ละแบรนด์
ทั้งนี้ Statcounter ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับการครองส่วนแบ่งตลาดของสมาร์ตโฟนในไทย ด้วยการระบุ 3 แบรนด์ยอดนิยม พบว่า
ส่วนอันดับอื่นๆ ก็ตามมาด้วย Vivo, Xiaomi, Realme และ Huawei ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ เพื่อตามเทรนด์เทคโนโลยีให้ทันต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่น VR รถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น ทำให้ซัมซุงมีสิทธิบัตรทางเทคโนโลยีในอเมริกามากกว่าทุกบริษัทในโลกและเป็นบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์เป็นอันดับที่ 8 ทำให้รายได้เทียบเท่ากับ GDP ของประเทศเกาหลีใต้กันเลยทีเดียว
มีนาคมปี 2553 Samsung เปิดตัว กาแลคซี่ เอส ออกมาด้วยการชูจุดเด่นของความเป็นเทคโนโลยีที่อัดแน่นที่สุดในขณะนั้น ทั้งการประมวลผล GPU อันทรงพลัง หน้าจอ Super AMOLED ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
ต่อมาในปี 2554 ได้เปิดตัว กาแลคซี่ โน้ต มือถือที่มีขนาดหน้าจอใหญ่กว่าโทรศัพท์รุ่นทั่วไปและเปิดตัวปากกา S Pen เป็นครั้งแรก พร้อมแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การใช้ฟังก์ชันต่างๆ ในเครื่องเป็นเรื่องง่ายขึ้น
และในปี 2561 ก็ได้เปิดตัวนวัตกรรมจอพับได้ หรือ Infinity Flex Display ที่เป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนจอใหญ่ให้เป็นจอพับ เพื่อความใหญ่และยาวกว่าเดิม แต่ยังพกพาสะดวก และการเปิดตัวครั้งนี้ก็ทำให้ราคารุ่นเรือธงของซัมซุงจากแตะ 30,000 บาท พุ่งไปที่ตัวเลขแตะ 50,000 - 70,000 บาท ได้แบบทันทีและผู้ใช้งานก็ไม่ติดที่จะจ่ายเงินซื้อมือถือจอพับมาใช้งานกัน เพราะคนยุคนี้ใช้มือถือทำงานแทนคอมพิวเตอร์และแท็บเลตกันแบบอิสระมากขึ้น
และสิ่งที่ซัมซุงเตรียมจะนำมาใส่ใน Galaxy Unpacked 2024 วันที่ 17 มกราคม นี้ จะเป็นการเปิดตัวพร้อมกันทั่วโลกที่เมืองซานโฮเซ ซึ่งในไทยก็จะเป็นการถ่ายทอดสดให้รับชมพร้อมกันตอนตี 1 ของไทยในวันที่ 18 มกราคม 2566
โดยซัมซุงทิ้งท้ายกับข้อความว่า “Galaxy AI is coming” สะท้อนให้เห็นว่ามีการนำ AI มาชูความเป็น Galaxy ให้มากกว่าที่มือถือเคยมีมาก่อน แต่จะผสมผสานกับจอพับที่มีอยู่เดิมหรือปรับให้มีสไตล์แปลกใหม่อย่างไรบ้าง ต้องรอติดตามเพราะการชูนวัตกรรม AI ในยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลก
ในงาน CES ก่อนหน้านี้ ซัมซุง ก็ใส่ AI ไปในสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าไปหลายตัวและส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของผู้ช่วยในการสั่งงานเครื่องให้ง่ายมากขึ้น แต่สำหรับการใส่ AI ในกลุ่มสินค้าสมาร์ตโฟนจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว้าวและยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องใหม่นั้น ต้องรอติดตามว่าจะออกมาในรูปแบบใด
ที่มา : Samsung, ฐานเศรษฐกิจ, Infoquest, Newsroom
ภาพ : Samsung
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม