ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เจอปัญหาภาษีหนักขึ้น หรือเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การเลิกจ้างส่งผลกระทบต่อคนทำงานอย่างหนัก โดย Lazada - Google - Amazon รวมกันทำให้อัตราเลิกจ้างแตะแสนรายในทันที
ภายในสัปดาห์เดียว หลังจากที่ Lazada ประกาศเลิกจ้างพนักงานในสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่พนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจต้องหนาวๆ ร้อนๆ กับการสั่งปลดพนักงานโดยเฉพาะฝ่ายการตลาดทั้งหมด เน้นไปที่ส่วนของพนักงานระดับล่างและระดับอาวุโสซึ่งนับว่าเป็นการสั่งให้ออกครั้งใหญ่หลังจากไม่มีฝ่ายประชาสัมพันธ์แบรนด์ของตนเองมาสักพักหนึ่งแล้ว
ส่วนในไทยเอง การแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงสูง ทำให้การปรับลดพนักงานอาจยังไม่ได้เริ่มในทันที แต่เน้นไปที่การวางแผนไปที่เรื่องของการเก็บภาษีนำเข้าในการนำสินค้าจากต่างประเทศมาขายในช่องทางออนไลน์ก่อน
ส่วนการเลิกจ้างของพนักงานในกลุ่ม Twitch ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกมในเครือ Amazon มีการเลิกจ้างพนักงาน 500 คน หรือ 35% ซึ่งในปีที่แล้วมีการเลิกจ้างพนักงานใน Twitch และ Amazon Web Service ไปแล้ว ครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างเพิ่มเติมจากครั้งก่อน ทำให้ช่วงมีนาคม 2023 จนถึงปัจจุบัน Amazon เลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 9,000 คน
แอนดี้ แจซซี ซีอีโอของ Amazon แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การยกเลิกตำแหน่งงานในส่วนของ AWS, PXT, Advertising และ Twitch รวมกว่า 9,000 คน ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากแต่ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทในระยะยาว
ซึ่งตัวเลข 500 คนที่เลิกจ้างในส่วนของ Twitch นั้น ไม่ใช่ตัวเลขการเลิกจ้างรอบใหม่แต่อยู่ในแผนที่จะเลิกจ้างเดิมอยู่แล้ว โดยการทำงานของทั้งสองส่วน แม้จะไม่ได้เชื่อมต่อกัน แต่ Twitch ก็มีการใช้แพลตฟอร์มคลาวด์ของ AWS ในการให้บริการไลฟ์บนแพลตฟอร์ม รวมทั้งช่วยพัฒนาคลาวด์ของ AWS ในการฝึกฝนทักษะการใช้คลาวด์พร้อมๆ กันให้รองรับการทำงานที่ดีขึ้น ทำให้ในปี 2014 ทาง Amazon ตัดสินใจซื้อกิจการ Twitch ด้วยมูลค่า 970 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนั้น Twitch เองก็ได้ชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม มีเนื้อหาจากการใช้งานไลฟ์สูงถึง 1,800 ล้านชั่วโมงต่อเดือน
นอกจากนี้ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Dan Clancy ซีอีโอของ Twitch เพิ่งประกาศหยุดให้บริการในเกาหลีใต้หลังจากค่าใช้จ่ายในการให้บริการแพลตฟอร์มในเกาหลีใต้สูงมากเกินไปและผู้บริหารระดับสูงหลายคนก็ได้ประกาศลาออกจาแพลตฟอร์มดังกล่าวเช่นกัน
ส่วนสถานการณ์ของ Alphabet หรือ Google นั้น ต้องยอมรับว่า เป็นการเลิกจ้างที่กระทบทุกส่วนงาน ซึ่งการเลิกจ้างครั้งล่าสุดนี้ เหมารวมถึง James Park และ Eric Friedman ผู้ร่วมก่อตั้ง Fitbit ด้วย เพื่อการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
การเลิกจ้างรอบนี้ถือว่ากระทบในส่วนของ Voice Assistant หลายร้อยคน ตามมาด้วยกลุ่มฮาร์ดแวร์ที่ดูแลในส่วนของ Pixel, Nest และ Fitbit อีก 200-300 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) รวมทั้งวิศวกรระดับกลางอีกหลายร้อยตำแหน่งก็จะถูกให้ออกเช่นกัน
เมื่อปี 2021 Google เพิ่งซื้อกิจการของ Fitbit ด้วยมูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพราะเห็นเทรนด์ตลาดสุขภาพและการออกกำลังกายมีแนวโน้มที่ดี รวมทั้งเปิดตัว Pixel Watch เวอร์ชันใหม่ เพื่อแข่งขันกับอุปกรณ์ Fitbit บางรุ่นและ Apple Watch ด้วย
แต่การลงทุนยังไม่ทันได้กำไรกลับมา ช่วงครึ่งปีหลัง 2023 ก็เลือกที่จะปรับปรุงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นในหลายส่วนงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ในอเมริกา แต่หมายความถึงพนักงานในหลายประเทศทั่วโลกด้วย
แม้จะไม่ได้บอกจำนวนที่เลิกจ้างว่ามีจำนวนเท่าไหร่ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Google Assistant และทีมอื่นๆ แต่ก็ชัดเจนว่ามีการวางเดิมพันไปกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของ OpenAI มาแทนพนักงานที่เป็นคนมากขึ้น
หากนับย้อนตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2023 Alphabet ได้ประกาศแผนการลดพนักงาน 12,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 6% ของพนักงานทั่วโลก ต่อมาเดือนกันยายน 2023 Alphabet มีการเลิกจ้างพนักงานอีกกว่า 182,381 คนทั่วโลก
การเลิกจ้างของบริษัทเทคโนโลยีครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าต่อไป AI จะเข้ามาแทนที่คนแน่นอน แล้วเราจะหาโอกาสจากหุ่นยนต์เหล่านี้อย่างไรได้บ้าง คือสิ่งที่ต้องคิดให้หนักและปรับตัวให้ทัน
ภาพ : Freepik
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม