"ฝนพันปี" ที่เจิ้งโจว มณฑลเหอหนานยังคงทำพิษ เป็นอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 1,000 ปี และที่สำคัญ ทางการจีนต้องระเบิดเขื่อน บางจุดเพื่อเปลี่ยนทางน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมซ้ำ ณ เวลานี้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย และกรมอุตุยังคาดว่า ฝนจะตกต่อไปอีกจนถึงสุดสัปดาห์
ระเบิดเขื่อนเปลี่ยนทางน้ำ
.
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งเป็นเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของมณฑลเหอหนานทางภาคกลางของจีน , ภาพความเสียหาย ภาพการดิ้นรนเอาตัวรอดจากรถไฟใต้ดินที่ถูกน้ำท่วม ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และสื่อทุกสำนักต่างรายงานว่า นี่คือ ฝนพันปี หรือ นี่คือฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี ที่กระหน่ำซัดใส่เมืองเจิ้งโจว ในมณฑลเหอหนาน
.
แม้ ฉากเหตุการณ์ ฝนตก 4 ปี 11 เดือน 2 วันติดต่อกัน ในนวนิยาย "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (One Hundred Years of Solitude) ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ นักเขียนรางวัลโนเบล หนังสือที่คนทั่วโลกยกย่องจะเป็นภาพที่น่าเศร้าหม่นหมองที่สุดในโลกจินตนาการที่ใครหลายคนเคยสัมผัสแล้ว ...แต่ในโลกความเป็นจริง เมื่อมาเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆบนโลกนี้ "ฝนพันปี" ที่เหอหนาน กลับกลายเป็นเรื่องราวที่น่าทุกข์ทนและเศร้าใจอย่างถึงที่สุดของประชาชนที่เหอหนาน
.
ผู้คนหลายแสนคนต้องถูกผลกระทบจากฝนพันปี หรือน้ำท่วมใหญ่เจิ้งโจว ในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ณ เข็มนาฬิกาเดินอยู่ในปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมใหญ่เจิ้งโจวครั้งนี้ไปแล้ว อย่างน้อย 33 คนแล้ว ชาวบ้านอีกกว่า 2 แสนคนต้องอพยพจากบ้านเรือนทันที
.
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ นั่นคือ เขื่อนกักเก็บน้ำแห่งหนึ่งใกล้เมืองลั่วหยาง ในมณฑลเหอหนานที่ใกล้จะแตกเต็มที่เพราะรองรับฝนในปริมาณที่มาก จนกระทั่ง ทางการจีน นำโดยกองทัพ ต้องตัดสินใจ ทำลายเขื่อนกักเก็บน้ำแห่งหนึ่งทิ้งทันที เพื่อระบายมวลน้ำ ที่มีจำนวนมหาศาลออกและเพื่อเปลี่ยนทิศทางของน้ำให้ไหลไปทางอื่น และที่สำคัญเพื่อไม่ให้ไป ซ้ำเติมเป็น น้ำท่วมซ้ำที่เหอนาน อีกครั้งนั่นเอง
.
กองทัพจีน ต้องตัดสินใจดำเนินการระเบิดเขื่อนทันที เพราะเพียงไม่นานหลังเกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ของมณฑลเหอหนาน โดยเฉพาะเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑล ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประชาชนหลายคนต้องติดอยู่ในระบบรถไฟฟ้า อพาร์ตเมนต์ และตึกสำนักงานต่างๆ ถนนหลายสายถูกตัดขาด และมีสิทธิ์ที่น้ำจากเขื่อนจะไปกระหน่ำซ้ำย้ำที่เหอหนานอีก หากเขื่อนเอาไม่อยู่ เพราะสำนักอุตุนิยมวิทยาของจีนรายงานว่า นับตั้งแต่พฤหัสบดี (22 ก.ค.) จะมีฝนตกลงมาซ้ำเติมทั่วเหอหนานติดต่อไปอีก 3 วัน
.
ทางการท้องถิ่นจีนระบุว่า มีชาวเมืองกว่า 1.2 ล้านคน ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งในเมืองเจิ้งโจว และทั่วมณฑลเหอหนาน ประชาชนกว่า 2 แสนคน ต้องอพยพ จำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นชาวบ้านในเมืองเจิ้งโจว ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองมีน้ำท่วมสูงถึงกว่า 1.5 เมตร มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 3 ล้านคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดับแล้ว12! น้ำท่วมใหญ่รอบ1,000ปีที่เจิ้งโจว คนติดรถไฟใต้ดินหลายชั่วโมง
ช้างใหญ่ช่วยช้างน้อยตกคูน้ำ ในฝูงช้างเดินทางไกล น่ารักอบอุ่นหัวใจ...
วัดเส้าหลินไม่รอด น้ำท่วม
.
ทั้งนี้ สำนักข่าว เอพี ยังรายงานด้วยว่า วัดเส้าหลิน (เส้าหลินซื่อ) ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในด้านวิทยายุทธ์กำลังภายในจีน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเจิ้งโจว ซึ่งถูกถ่ายทอดเป็นเรื่องราวผ่านหนัง ผ่านทีวีซีรีส์ ยุค 90s ก็ไม่รอดพ้นจากเหตุอุทกภัยที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน แม้ ทางการจีน ได้ระดมทีมกู้ภัยเกือบ 8,000 นาย ในการปฏิบัติการช่วยผู้ประสบภัยในเหอหนาน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กำลังทหารจากศูนย์บัญชาการกลางกองทัพจีน ตำรวจและทหารกองหนุนกว่า 5,700 นาย เรือและยานพาหนะถึง 148 ลำ ทีมกู้ภัยรวม 1,800 นาย จากพื้นที่ 7 มณฑล เข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในมณฑลเหอหนาน
.
ขณะที่ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานว่า ฝนตกหนัก จนกลายเป็น น้ำท่วมใหญ่รอบ 1,000 ปี กว่า 600 มิลลิเมตรมาตั้งแต่วันจันทร์ (19 ก.ค) รวมแล้วมีชาวบ้านกว่า 2 แสนคนต้องอพยพจากบ้านเรือน ขณะที่ เมืองซินเซียงมีฝนตกมากเป็นประวัติการณ์ถึง 812 มิลลิเมตรมาตั้งแต่วันอังคาร (20 ก.ค) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 7 แห่ง มีน้ำล้นทะลัก ชาวบ้านกว่า 4.7 แสนคนเจอผลกระทบทั้งหมด และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 343,750 ไร่ ทางการท้องถิ่นส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 7.6 หมื่นคนออกช่วยเหลือ
.
นอกจากนี้ ยังระบุว่า จนถึงขณะนี้ อุทกภัยสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงแก่จีนแล้ว 1,220 ล้านหยวน หรือราว 6,200 ล้านบาท และอาจจะมากกว่าการประเมินในเบื้องต้น
สังคมออนไลน์เดือด
.
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เหอหนาน มีเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนจีนมากมาย ถึง "ความไม่พร้อม" ในการรับมือเหตุอุทกภัยครั้งนี้ โดย ผู้คน ต่างแสดงความคิดเห็นพร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับการรับมือเหตุสาธารณภัยและความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของเมือง ซึ่งเพิ่งถูกเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2013 แต่จากเหตุ "ฝนพันปี" พบว่ามีน้ำเข้าท่วมภายในสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงน้ำเข้าท่วมขบวนรถไฟฟ้า ผู้โดยสารหลายรายต้องติดอยู่ภายในขบวนรถที่มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจีน ตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจีนว่า เหตุใดจึงไม่มีเตือนหรือสั่งปิดระบบเดินรถไฟฟ้าใต้ดินล่วงหน้าในช่วงที่ฝนตกหนัก ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วม
.
นอกจากนี้ ชาวเมืองหลายคน ยังได้ตอบโต้ข้อความทางอินเตอร์เน็ทด้วย หลังจากมีสื่อหลายงานว่า เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟฟ้ารายหนึ่งว่า ผู้โดยสารทุกคนได้รับการอพยพแล้ว แต่ในความเป็นจริง ผู้โดยสารหลายสิบคนที่ยังติดอยู่ภายในขบวนรถไฟ ชายรายหนึ่งวิดีโอคอลคุยกับภรรยาซึ่งเธอยังติดอยู่ในขบวนรถพร้อมระดับน้ำใกล้ถึงคอแล้ว เป็นต้น