svasdssvasds

ไชน่าโมเดล ! พลิกจีนจากโคม่า กลายเป็นผู้ชนะ ในสมรภูมิโควิด-19

ไชน่าโมเดล !  พลิกจีนจากโคม่า กลายเป็นผู้ชนะ ในสมรภูมิโควิด-19

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG ถอดบทเรียน “ไชน่าโมเดล” ประเทศจีนพลิกสถานการณ์โคม่า กลายเป็นผู้ชนะ ในสมรภูมิโควิด-19 ได้อย่างไร ?

เมื่อช่วงปี 2563 จีนเป็นประเทศแรกที่ประสบวิกฤตโควิด-19 มียอดผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้ทำให้ยากจะหาหนทางแก้ ที่มองไปข้างหน้า แทบไม่เห็นแสงสว่าง

แต่อีกไม่กี่เดือนต่อมา สถานการณ์ของจีนก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ สามารถควบคุมการระบาดได้ตั้งแต่ก่อนการผลิตวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ และเมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ ก็มีการปูพรมฉีดอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นโมเดลความสำเร็จในการกอบกู้วิกฤต ที่ควรค่าแก่การศึกษาและถอดบทเรียนยิ่งนัก

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลอย่างเจาะลึก ที่แสดงให้เห็นว่า ชัยชนะซึ่งเกิดขึ้นนี้ หาใช่ปาฏิหาริย์ แต่คือการทำงานอย่างเป็นระบบ ความชัดเจนของนโยบาย  ความศรัทธาต่อผู้นำ ที่หลอมรวมให้คนทั้งชาติรวมใจกันเป็นหนึ่ง จนสามารถฝ่าวิกฤตครั้งสำคัญของโลกได้ในที่สุด

1. ช่วงก่อนการผลิตวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ

1.1 กล้าใช้ยาแรง เจ็บแต่จบ

นโยบาย มาตรการต่างๆ ของจีนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายของชาวโลก โดย ดร.อักษรศรี กล่าวให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า “กล้าใช้ยาแรง เจ็บแต่จบ...” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเด็ดขาด และการแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดของรัฐบาลจีน  

“ความเด็ดขาดของจีน อาจารย์ขอใช้คำว่า กล้าใช้ยาแรง เจ็บแต่จบ ที่อยากย้ำคำว่าเจ็บแต่จบ ก็เพราะว่า ตอนที่จีนล็อกดาวน์อู่ฮั่น ขอใช้คำว่าปิดตายเลย ซึ่งมันเจ็บนะคะ ปิดเมือง 76 วัน แล้วปิดตายในที่นี้ก็คือ ให้อยู่แต่ในบ้าน คือ ห้องพักคนจีน รถสาธารณะในเมือง ไม่มี  ไม่ให้สัญจรใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อสกัดการระบาด ถามว่าชาวอู่ฮั่นมีกี่คน ถ้าเป็นตัวเลขทางการ 11 ล้านคน แต่เกินอยู่แล้ว เพราะเมืองใหญ่มาก

“คนอู่ฮั่นที่เขาอึดอัดกับการถูกกักตัวอยู่ในห้อง ก็ตะโกนข้ามตึกให้กำลังใจกัน อู่ฮั่นเจียโหยว ที่แปลว่า อู่ฮั่นสู้ๆ เป็นเรื่องที่เศร้า แต่ทุกคนก็ให้กำลังใจกัน เป็นประสบการณ์ที่ลำบากสุดๆ แต่เขากล้าใช้ยาแรง ให้เจ็บ แต่จบ

“เรื่องนี้ สี จิ้นผิง (ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน) นั่งหัวโต๊ะ บัญชาการเองนะคะ ดูแลเองอย่างเข้มข้น ลงพื้นที่ไปอู่ฮั่น เมื่อมีนาคม 2563 ไปให้กำลังใจ ทั้งๆ  รู้ว่าเสี่ยงนะ แต่ก็ไป เพื่อสร้างขวัญกำลังให้กับคนอู่ฮั่นที่ต้องกักตัว

“(ตอนที่) อู่ฮั่นยังมีการระบาดหนัก จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่สั่งล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ห้ามเดินทางข้ามมณฑล เพราะประเทศเขาใหญ่ ต้องห้ามเดินทางข้ามมณฑลอย่างเด็ดขาด เพื่อควบคุมการระบาด และทันทีที่รู้ว่ามณฑลใด/พื้นที่ไหนพบผู้ติดเชื้อ เขาก็ประกาศภาวะฉุกเฉินเลย”

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

1.2 สาธารณสุขเข้มแข็ง

สาธารณสุข คือหัวใจสำคัญในการแก้วิกฤต และรัฐบาลจีนก็ทุ่มทั้งงบฯ และสรรพกำลังต่างๆ ลงไปในด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เพราะตระหนักว่า ในเวลานั้นศัตรูของชาติ คือโควิด-19

“นอกจากการปิดเมือง เพื่อป้องกันการระบาดแล้ว ยังมีการระดมหมอ บุคลากรทางการแพทย์ทั่วจีน ลงไปช่วยอู่ฮั่น อันนี้น่าภูมิใจมาก แล้วทุกคนที่ไป เหมือนเป็นฮีโร่ คือรู้ว่าตัวเองไปเสี่ยงตาย ไปดินแดนที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค แต่เขาก็ยอมเสียสละ ไปช่วยเพื่อนร่วมชาติ มันเป็นภาพของการร่วมมือร่วมใจ

“จีนไม่มีปัญหาเตียงไม่พอ  จีนไม่มีปัญหาหมอไม่พอ  จีนไม่มีปัญหาบุคคลากรทางการแพทย์ไม่พอ เพราะเขาจัดการได้ดี  ผู้นำจีนสี จิ้นผิงเชื่อฟังหมอ ปรึกษาทีมแพทย์ และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในการจัดการปัญหานี้ และก็เป็นที่มาของการสร้างโรงพยาบาลสนามได้อย่างรวดเร็วรองรับผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วน แม้จะมีการระบาดหนัก นี่คือความเตรียมพร้อมของเขา"

1.3 การตรวจเชิงรุก อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการป้องกัน การรักษาแล้ว จีนยังให้ความสำคัญกับการตรวจเชิงรุกเป็นอย่างมาก แม้จะทำให้ตัวเลขที่ปรากฏมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่ก็ทำให้รัฐบาลจีนได้เห็นและเข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริง เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป 

“การตรวจเชื้อโควิดของจีนก็มีประสิทธิภาพสูงมาก บางเมืองตรวจแป๊บเดียวได้ 10 ล้านคน จีนเขาจะมีวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพ และมีอุปกรณ์ในการตรวจอย่างครบครัน เขาผลิตหน้ากากอนามัยได้เพียงพอด้วยเช่นกันค่ะ จีนทำการตรวจเชิงรุกและสุ่มตรวจได้อย่างเต็มที่ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม”

ไชน่าโมเดล !  พลิกจีนจากโคม่า กลายเป็นผู้ชนะ ในสมรภูมิโควิด-19

1.4 ระบบการจัดเก็บของมูลประชากรที่ทันสมัย

ด้วยกฎหมายของประเทศจีน ที่ให้อำนาจรัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูลของประชากร รวมถึงเทคโนโลยีในการเก็บและรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จากกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในช่วงเวลาปกติ ก็กลายเป็นจุดแข็งในการแก้วิกฤตโควิด-19

“เพราะเขาจัดการดาต้า เขาจัดการด้วยข้อมูล เขาจะใช้ดาต้าจากฐานข้อมูลของประชาชน เพื่อระดมทรัพยากรทางการแพทย์ ทางการสาธารณสุข ไปจัดการในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความเป็นระบบแบบจีนมีผลสูง ทำให้เขารู้ว่าต้องทุ่มสรรพกำลังไปที่ไหน และทำได้อย่างเต็มที่ ถ้าเทียบกับไทย ก็เหมือนลำปางโมเดล เหมือนท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ระดมพลจัดการที่ลำปาง

“ที่สำคัญ คนจีนไม่หวงข้อมูล แล้วก็ไม่หวาดระแวงรัฐ และจึงให้ความร่วมมือดี อย่างเช่นของเรา มีไทยชนะ มีหมอชนะ ก็กังวลกันมาก เกรงว่ารัฐบาลจะเอาข้อมูลไปทำนั่นทำนี่ แต่คนจีนเขาไม่หวง แล้วพอรัฐบาลได้ข้อมูลมา ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ มาพัฒนาเชื่อมโยงทำดาต้าแพลตฟอร์ม

“สมมติมีคนเคยไปห้างนี้ แล้วติดเชื้อขึ้นมา เขาก็จะสามารถส่งเมสเสจไปให้คนที่มาห้างนั้น ณ เวลานั้นได้รู้ว่า คุณอยู่ในภาวะเสี่ยง คุณต้องรีบมาตรวจเดี๋ยวนี้นะ คนจีนก็จะมาเลย

“คือวิธีเหล่านี้ทั้งการใช้เทคโนโลยีมาช่วยจัดการในการระงับการแพร่ระบาด และในสุ่มตรวจเชิงรุก จีนชัดเจนมาก และก็ทำได้ผล”

2 ช่วงหลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 สำเร็จ

2.1 จีน หนึ่งในประเทศสำคัญที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้มาก

โรคระบาดได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายครา หลายยุคหลายสมัย และสิ่งที่ชาวโลกเรียนรู้ก็คือ วัคซีนเท่านั้น ที่จะสามารถสยบมันได้ ฉะนั้นแล้ว จีนรวมถึงหลายๆ ประเทศทั่วโลก จึงให้ความสำคัญกับวัคซีนเป็นอย่างมาก และเร่งวิจัยค้นคว้าตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อใช้เป็นอาวุธปิดเกมโควิด-19

“อันดับแรกเลย จีนให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีน เพราะเขารู้ว่า เป็นอาวุธสำคัญเพียงอย่างเดียวที่จะชนะเจ้าไวรัสร้ายนี้ได้อย่างแท้จริง

“จีนให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนมาก เป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ผลิตวัคซีนได้สำเร็จ จีนรู้ว่าวัคซีนนี้เป็นอาวุธสำคัญในการที่จะเอาชนะโควิด-19 ได้อยู่หมัด จึงทุ่มสรรพกำลังคิดค้นวัคซีน

“พอจีนผลิตวัคซีนสำเร็จ หลังปีใหม่ วันที่ 3 มกราคม 2564 เขาก็ระดมฉีดเลย เพราะเชื่อในเรื่อง (Herd Immunity) การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จีนสามารถเร่งระดมฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 19.7 ล้านโดส และฉีดไปแล้วมากที่สุดในโลก (เกือบ 800 ล้านโดส ข้อมูลวันที่ 8 มิ.ย. 64)  

“จีนจะมีองค์กรจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ทั้งระดับส่วนกลาง มณฑล เทศบาล เขต คือ เขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด บ้านเราอาจเรียกสิ่งนี้ว่า เป็นวาระแห่งชาติ”  

โควิด-19

2.2 ระบบการฉีดวัคซีนของจีน ไม่มี  Walk in แต่เป็นการลงทะเบียนที่สะดวกง่ายดาย

ด้วยความเข้มแข็งของระบบดาต้าแพลตฟอร์มข้อมูลประชากร ส่งผลให้การจัดการระบบลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปอย่างง่ายดายและสะดวก โดย ดร.อักษรศรี ได้กล่าวถึงการดำเนินการของจีนเกี่ยวกับระบบการฉีดวัคซีน ไว้ดังนี้

“การฉีดวัคซีนของจีน ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า มีฐานข้อมูลที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละเขต เพราะจีนมีการจัดการดาต้าเกี่ยวกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เขาจึงมีข้อมูลค่อนข้างพร้อม

“ประเทศจีนมีประชากรมาก ถ้าปล่อยให้ Walk in ถ้าไม่มีการจัดการ มันจะมั่วมาก นึกออกใช่ไหมค่ะ คนมา Walk in จะมาแออัด เบียดกัน ดังนั้น จีนเป็นประเทศที่เวลาทำสิ่งต่างๆ เขาจะวางแผนล่วงหน้า ฉะนั้นการให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อป้องกันความวุ่นวาย เพราะถ้า Walk in (สำหรับประเทศจีน) โอกาสวุ่นวายสูงมาก

“และด้วยระบบต่างๆ ก็ทำให้ประชาชนลงทะเบียนในการฉีดวัคซีนได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบาย ลดความยุ่งยากของประชาชน”  

การลงทะเบียนฉีดวัคซีนในประเทศจีน จะมี 2 ช่องทางหลัก คือ  หนึ่ง ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนกับเขตชุมชนแถวที่พักอาศัยในฐานะบุคคล หรือ สองอาจจะเลือกลงทะเบียนผ่านองค์กร/บริษัทที่ตนสังกัดอยู่

ส่วนประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟน หรือผู้สูงอายุ จีนก็จะมีคล้ายๆ อสม. ของบ้านเรา โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ไปหา เพื่อช่วยลงทะเบียนให้

2.3 จีนมีวิธีอย่างไรในการจูงใจให้คนมาฉีดวัคซีน ?

ดร.อักษรศรี กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ ที่มีคนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการฉีดวัคซีน ที่จีนก็มีเช่นกัน จึงต้องอาศัยวิธีจูงใจต่างๆ

“คนจีนที่ยังลังเล ที่ยังไม่เห็นความสำคัญ อันนี้มี เป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่โดยทั่วไป คนจีนที่อยู่ในเขตเมืองชั้นนำ พวกปักกิ่ง เซียงไฮ้  ที่ค่อนข้างจะแออัด เขาจะตระหนักว่า วัคซีนคือทางรอด คนเหล่านี้ให้ความร่วมมือดี ในการเข้าร่วมฉีดวัคซีน

“แต่ประชาชนคนจีนที่ไม่กระตือรือร้น ก็พอจะมีบ้าง อาจจะเป็นผู้สูงอายุหรือชาวบ้านอยู่ชนบท รัฐบาลในเขตท้องที่นั้นๆ ก็จะจูงใจให้มาฉีดวัคซีน เช่น แจกไข่ ข้าว ขนม หรือคูปองอาหาร”

โควิด-19

2.4 ที่จีนมีปัญหาเรื่องยี่ห้อวัคซีน หรือไม่ ?

และเมื่อ SPRiNG ถามว่า ที่ประเทศจีนมีปัญหาเรื่องยี่ห้อวัคซีนหรือไม่ ? ดร.อักษรศรี ได้ให้คำตอบดังต่อไปนี้

“อันนี้ตอบเลยว่าไม่มี เลือกไม่ได้  รัฐบาลจีนเขาไม่ให้เลือก เขามีแต่บอกว่า ต้องมาฉีดวัคซีน เพื่อตัวเองและครอบครัว รวมไปถึงสังคม

“วัคซีนที่ฉีดในจีนเนี่ย ที่เรารู้จักหลักๆ  มี 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนฟาร์ม กับซิโนแวค แต่จริงๆ ในจีนไม่ได้มีแค่ 2 ยี่ห้อ แต่มีไม่ต่ำกว่า 5 ยี่ห้อ แต่ 2 ยี่ห้อหลักที่คนไทยรู้จักนี้ผลิตได้ก่อน มันพร้อมที่จะฉีดก่อน ความสำเร็จมันมาก่อน โดยเฉพาะซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจจีน และได้รับการรับรองจาก WHO ก่อน

“ตอนที่เริ่มผลิตซิโนฟาร์มออกมาเนี่ย วัตถุประสงค์ก็เพื่อฉีดให้คนจีนในประเทศก่อนเป็นหลัก คือต้องเอาคนในชาติให้รอดก่อน ซึ่งทุกวันนี้จะมีส่งออกซิโนฟาร์มบ้างแล้ว แต่วัตถุประสงค์ตอนแรกเริ่ม เขาเน้นเพื่อประชากรจีนเป็นหลัก

“ส่วนซิโนแวค ตามที่เราทราบกัน เป็นของบริษัทเอกชน เป้าหมายในการผลิตก็คือเน้นส่งออก ถ้าเราไปอ่านบทสัมภาษณ์ของประธานบริษัท เขาพูดเองเลยว่า ซิโนแวคที่ผลิตออกมาเนี่ย 60 % ส่งออก ใช้ในประเทศจีนแค่ 40 % เพราะฉะนั้นการที่จีนใช้ยี่ห้อไหนมากน้อยกว่ากัน มันไม่ใช่เรื่องของการเลือกว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี แต่มันเป็นเป้าหมายของแต่ละยี่ห้อ ที่เขาโฟกัสต่างกัน”

2.5 นโยบายของจีน ถ้าจะเข้าจีน ต้องฉีดวัคซีนจีนเท่านั้น ?

และจากที่มีข่าวคราวออกมาว่า สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศจีน จะต้องฉีดวัคซีนของจีนเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ดร.อักษรศรี ได้ไขข้อข้องใจปิดท้าย ดังต่อไปนี้

“กรณีของจีน โดยหลักการ ตอนนี้ เขายังปิดประเทศ จีนยังคุมเข้ม “ขาเข้า” อย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร คุณไปจีน คุณก็ต้องกักตัวอย่างเข้มข้นใน state quarantine (SQ) อย่างน้อย 14 วันและในบางเมืองอาจจะให้กักตัว 21 วัน และไม่ฟรี เราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่างใน SQ เองด้วย รัฐบาลจีนไม่จ่ายให้นะคะ

“แค่นี้ก็ชัดแล้วว่า เขาไม่ได้สนับสนุนให้ต่างชาติไปจีนตอนนี้ เขายังคุมเข้ม เพราะฉะนั้นต่างชาติที่เข้าจีนได้ตอนนี้เนี่ย ต้องมีเหตุผลจริงๆ เท่านั้น เช่น  เหตุผลทางการทูต  ทำให้นักเรียน/นักศึกษาจากทุกประเทศก็ยังบินกลับไปเรียนต่อในจีนไม่ได้  เจอปัญหาดังเช่นกรณีนักเรียน/นักศึกษาไทย ก็ยังกลับไปจีนไม่ได้ จะเห็นได้ว่า จีนเขาไม่ได้เลือกปฏิบัติ ทุกประเทศจะเจอกฎกติกาเดียวกัน 

“ส่วนประเด็นเงื่อนไขต้องฉีดวัคซีนจีนนั้น เป็นเงื่อนไขที่สถานทูตจีนในไทยก็ประกาศเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ว่า เราฉีดวัคซีนจีน พอเดินทางเข้าไปจีน แล้วไม่ต้องกักตัว ไม่ใช่นะ เรายังต้องถูกกักตัวและจ่ายเงินเองทั้งหมดด้วย

“นี่คือสไตล์จีน อาจารย์ไม่แปลกใจเลยที่จีนกำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนจีนก่อน ถ้าจะบินเข้าจีน เพราะจีนเขาเป็นชาตินิยม และเคร่งครัดกับกฎระเบียบอย่างจริงจัง เขาก็ย่อมสามารถที่จะออกกติกาเข้มงวดให้คนต่างชาติที่จะเข้าประเทศเขา ฉีดวัคซีนของเขา ก่อนเข้าประเทศจีน”

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

ภาพโดย fernando zhiminaicela จาก Pixabay 

ภาพโดย Arvi Pandey จาก Pixabay 

related