SPRiNG เปิดใจ เปิดวิสัยทัศน์ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ลำปาง ที่ล่าสุดสร้างปรากฏการณ์ลำปางโมเดล มีผู้จองฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ทะลุเป้าในระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน ที่สำคัญวันนี้เขามองข้ามช็อตไปแล้ว เตรียมแผนฉีดวัคซีนให้ชาวลำปาง 70 % อัพ
เมื่อเอ่ยถึงเหตุการณ์ถ้ำหลวง ภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่า หนึ่งในบุคคลที่โดดเด่น และยังอยู่ในความทรงจำนั่นก็คือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ลำปาง ที่ได้สร้างความฮือฮาจนถูกกล่าวขานว่า เป็นลำปางโมเดล จากยอดผู้จองฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 223,976 ราย สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ (แต่ถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์ผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว ลำปางสูงที่สุด)
จากปรากฏการณ์ดังกล่าว SPRiNG จึงติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้ว่าฯ ลำปาง โดยเขาได้ถ่ายทอดวิธีคิด วิธีทำงานที่น่าสนใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตัวเลขการจองวัคซีนกว่า 2.2 แสนราย ต้องแลกมาด้วยความทุ่มเท ทำงานอย่างเป็นระบบ และอย่างหนักหน่วง
ที่สำคัญก็คือ ในวันนี้เขามองข้ามช็อตไปถึงขั้นการเตรียมความพร้อมให้ชาวลำปาง 70 % หรือประมาณ 5 แสนคน ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้จงได้
วางแผนดี มีเป้าหมาย รู้ปัญหา รู้อุปสรรค และรู้ศักยภาพ
เบื้องต้น ผู้ว่าฯ ลำปางได้กล่าวถึงภาพรวม (ก่อนจะขยายและขยี้ในหัวข้อต่อๆ ไป) ถึงการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จในสไตล์ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ว่า...
“การที่เราจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องมีการวางแผนที่ดีก่อน เป้าหมายของเราก็คือ ต้องการให้ชาวลำปางฉีดวัคซีน (ให้ได้มากที่สุด)
“อันดับต่อมาก็คือ ต้องรู้ปัญหา นั่นก็คือ คนไม่อยากฉีดเพราะกลัว อย่างลำปางเอง ก็เพิ่งเกิดเคสใหญ่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน (บุคลากรทางการแพทย์ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค) ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านคลายความกลัว คลายความกังวล
“เมื่อรู้เป้าหมาย รู้ปัญหา ก็ต้องรู้ว่าอุปสรรคคืออะไร อย่างผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง คนสูงอายุ (กลุ่มที่ได้รับสิทธิ์จองฉีดวัคซีนเฟสแรก) กลุ่มคนเหล่านี้เขาจะลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมเป็นไหม (หรือได้ไหม)
“สุดท้ายต้องรู้ว่าศักยภาพเรามีเท่าไหร่ ต้องทำการบ้าน อย่างรัฐบอกว่าให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถามว่า เราเพิ่งมาทำงานวันที่ 1 ได้ไหม ไม่ได้ เราต้องทำงานมาก่อนหน้านั้นแล้ว”
กลุ่มที่ได้รับสิทธิ์ให้จองวัคซีนเฟซแรก (อายุเกิน 60 ปี ป่วยเรื้องรัง) ในจังหวัดลำปาง มีประมาณ 2.5 แสนคน โดยได้มีการตั้งเป้า ต้องมีผู้จองฉีดวัคซีน 70 % ขึ้นไป นั่นก็คือ 2 แสนราย ซึ่งก็ทะลุเป้าไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย
แก้ปัญหา : สร้างความเข้าใจ ด้วยภาษาบ้าน บ้าน
การสื่อสารกับชาวบ้าน ด้วยภาษาแบบบ้าน บ้าน ถือได้ว่าเป็นอีกปัจจัยความสำคัญแห่งความสำเร็จ ที่ทำให้ยอดจองวัคซีนของลำปางทะลุเป้า
“ถ้าชาวบ้านไม่อยากฉีด เพราะกลัว เพราะกังวล หากต้องการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ ก็ต้องพูดคุยด้วยภาษาบ้าน บ้าน โดย อสม.กับสาธารณสุข ใช้วิธีลงพื้นที่ เคาะประตู คุยกับชาวบ้านเลย
“อธิบายกับพวกเขาว่า การจองฉีดวัคซีนโควิด-19 คือสิทธิพึงมี ที่รัฐจัดให้ ถ้าไม่จอง หากวันข้างหน้าต้องการวัคซีนขึ้นมา ก็จะหาไม่ได้ จึงควรจองคิวไว้ก่อน แต่ถ้ายังกลัว ถ้าสละสิทธิ์ วัคซีนก็ยังอยู่ เราก็สามารถนำไปฉีดให้คนถัดๆ ไปได้”
ผู้ว่าฯ ลำปางได้ยกตัวอย่างการอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ โดยเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว เช่น การฉีดวัคซีนโควิด-19 กับลอตเตอรี่ ดังต่อไปนี้
“ผมไปอ่านเจอมา เขาบอกว่า ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแพ้รุนแรง เหมือนถูกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1
“ฉีดวัคซีนแล้วแพ้เล็กน้อย ก็เหมือนถูกเลขท้าย 2 ตัว
“แต่ถ้าไม่ฉีด หากติดเชื้ออาจป่วยหนัก... ก็เหมือนกับถูกหวยกิน” (555)
แก้อุปสรรค : ด้วยการเคาะประตูบ้าน เปิดคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ
ผู้ว่าฯ ลำปางได้เล่าถึงการเปิดคอลเซ็นเตอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง การลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านลงทะเบียน ที่เป็นส่วนสำคัญทำให้ยอดผู้จองฉีดวัคซีนเฟสแรก ทะลุเป้าในเวลาไม่ถึง 10 วัน ไว้ว่า...
“พอมีการพูดคุยจนชาวบ้านเข้าใจ ก็ถึงขั้นตอนลงทะเบียน ถ้าใครลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมได้ เราก็ให้เขาลงในนั้น ใครลงไม่เป็น เราก็มีคอลเซ็นเตอร์ เปิด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้ารับสายตลอดเวลา โดยให้แจ้ง ชื่อนามสกุล บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ แล้วก็นำข้อมูลส่งให้กระทรวงสาธารณสุข”
นอกจากนั้น ก็ยังมีการส่ง อสม. ลงพื้นที่ไปช่วยลงทะเบียนถึงที่บ้าน แม้จะใช้เจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ว่าฯ ลำปางก็มองว่า มันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะนี่คือการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
“คุณเชื่อไหม ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ประมาณสัก 10 % แต่ลงผ่านคอลเซ็นเตอร์ กับ อสม.ลงพื้นที่พบปะประชาชน ประมาณ 90 %
“สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีการวางแผน ได้รับความร่วมมือ ซึ่งทุกคนเสียสละมาก อย่าง อสม.ได้เงินเดือนเดือนละพันเดียว เจ้าหน้าที่ของเรา มานั่งเฝ้าโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง แล้วคีย์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน 13 หลัก สองแสนกว่ารายนะ คุณคิดว่าเหนื่อยไหม นี่คือสูตรแห่งความสำเร็จ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แต่เราต้องลงแรง”
“หน้าที่ของผู้ว่าฯ ก็คือทำอย่างไรให้แผนมันเดินได้ ด้วยศักยภาพที่เรามี ด้วยการลงพื้นที่ทุกชุมชน เปิดคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง แต่ผลออกมา ทุกคนภาคภูมิใจ วันนี้ชาวลำปางภาคภูมิใจว่า สิ่งที่เราทำ มันเป็นโมเดลของประเทศ ได้เลย”
ประเมินและเพิ่มศักยภาพ : เตรียมแผนดำเนินการฉีดวัคซีน 5 แสนโดส
วันนี้ ในขณะที่หลายจังหวัดยังกังวลกับยอดการจองฉีดวัคซีน แต่ผู้ว่าฯ ลำปาง ได้มองข้ามช็อต ไปถึงขั้นตอนการฉีดวัคซีนแล้ว ว่าต้องทำอย่างไร และใช้เวลาเท่าไหร่ ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 5 แสนราย หรือ 70 % ของทั้งจังหวัด
“การฉีดวัคซีนให้ประชาชน 5 แสนโดส ก็ต้องประเมินว่า ศักยภาพของเรามีเท่าไหร่ โดยทุกโรงพยาบาลในจังหวัดจะให้บริการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเฉพาะทาง ฯลฯ
“(เท่าที่ประเมินตรงนี้) กำลัง (ศักยภาพ) ของเราคือ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ 5 พันรายต่อวัน
“ถ้าทำงาน 22 วันทำการ จะฉีดได้ 1.2 แสนราย ต่อเดือน
“แต่ถ้าฉีดวัคซีนทุกวัน (รวมเสาร์-อาทิตย์) ก็จะได้ 1.5 แสนราย ต่อเดือน
“และถ้าเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่านี้ วันหนึ่งอาจจะฉีดวัคซีนให้ได้ 6 พันรายต่อวัน เดือนหนึ่งก็ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ 2 แสนราย และนี่คือเป้าหมาย ในการฉีดวัคซีน ที่เราวางไว้”
ขอบคุณภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง