โควิด19 สายพันธุ์เบงกอล ถือเป็นภัยร้ายที่ทำให้อินเดียกำลังวิกฤตอยู่ตอนนี้ ไวรัสตัวนี้สามารถต้านวัคซีนได้ดีขึ้น แพร่กระจายเชื้อเร็ว ดังนั้นประเทศไทยที่ยังไม่เจอการระบาดเชื้อตัวนี้ คงต้องป้องกัน เฝ้าระวังความรู้จักเชื้อตัวนี้ และยกการ์ดให้สูงเข้าไว้...
อินเดีย กลายเป็นประเทศ กำลังเผชิญการระบาดของเชื้อโควิด19 ระลอกใหม่ ซึ่งเป็นระลอกที่สอง ส่งผลให้ประเทศดำดิ่งสู่วิกฤติที่เลวร้ายอย่างน่าหวาดหวั่นยิ่งนัก และไม่มีประเทศใดเคยเจอเหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้มาก่อน เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในอินเดีย ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก คิดเป็น 40% ของยอดผู้ติดเชื้อรายวันของคนทั้งโลก ส่วนผู้เสียชีวิตเกิน 2800 คนต่อวันแล้ว หากคิดเป็นนาที จะพบข้อมูลที่น่าตกใจคือ ทุกๆ 1 นาที จะมีผู้ติดเชื้อราว 490 คน และเสียชีวิต 2 คน
สาเหตุที่ทำให้อินเดียจมดิ่งในวิกฤต เป็นเพราะพวกเขาต้องเจอกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด19 โดยเป็นโควิดกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่ง ‘triple mutant variant’ หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า B.1.618 เป็นเชื้อโควิด19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่ถูกพบครั้งแรกในรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศอินเดีย จึงทำให้มีการเรียกเชื้อโควิด19 สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า "โควิดสายพันธุ์เบงกอล"
โควิดสายพันธุ์เบงกอล มีวิวัฒนาการมาจากโควิดกลายพันธุ์คู่ ที่เป็นสายพันธุ์ Double mutant โดยพบการกลายพันธุ์สองตำแหน่งที่ E484Q และ L452R โดยนักวิทยาศาสตร์พบครั้งแรกในรัฐมหาราษฎระ ซึ่งนี่ถือเป็นประเด็นที่นักไวรัสวิทยา หนักใจ เพราะทำให้ยากต่อการออกแบบวัคซีนเพื่อมารองรับกับการกลายพันธุ์ชนิดใหม่ เนื่องจากสายพันธุ์เบงกอลสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น หลบหลีกแอนติบอดี้ในร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และวัคซีนดูเหมือนป้องกันได้ยากมากขึ้นต่อสายพันธุ์นี้
ทั้งนี้ มาเรีย ฟาน เคอร์โฮฟ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคด้านโควิดขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงเชื้อโควิดกลายพันธุ์คู่ ว่า 'เป็นเชื้อที่นักวิทยาศาสตร์กำลังติดตามอย่างสนใจ' โดยขณะนี้พบในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่น อินเดีย ออสเตรเลีย นามิเบีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งตามรายงานที่ได้รับจากรัฐบาลอินเดียระบุว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์สองตำแหน่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้มากขึ้นกว่าเดิม
โดย ลำพังเชื้อโควิดกลายพันธุ์คู่หรือกลายพันธุ์สองตำแหน่งนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าติดตามจับตา ชี้ว่ามีความร้ายกาจมากกว่าเชื้อโควิดดั้งเดิมแล้ว เพราะมันมีประสิทธิภาพในการแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้น และมีความสามารถในการหลบหลีกแอนติบอดีในร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงยิ่งทำให้ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังเฝ้าติดตามเชื้อโควิดกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งอย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะกังวลว่า วัคซีนต้านโควิด19 ที่กำลังถูกพัฒนากันอยู่ในขณะนี้จะสามารถต้านทานมันอยู่หรือไม่
ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้ อินเดียต้องเผชิญกับวิกฤติเลวร้ายอย่างหนัก ขาดแคลนออกซิเจน ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล จนหวั่นเกรงว่าอาจมีคนตายราวใบไม้ร่วง ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นตัวเร่งให้ไทยต้องเร่งถอดรหัสทางพันธุกรรม เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ในอนาคต กรณีของอินเดียถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าการปล่อยให้มีการติดเชื้อในวงกว้างอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้จนยากที่จะควบคุมได้
ทั้งนี้ นักวิจัยนำเชื้อโควิด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ G ที่มีแค่การกลายพันธุ์ที่จุด E484K ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เบงกอล, สายพันธุ์แอฟริกาใต้, สายพันธุ์ G หรือสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์อังกฤษ
โดยนำ วัคซีน สปุตนิค วี Sputnik V ของรัสเซีย ซึ่งไทยกำลังสั่งซื้อจากรัสเซียมาในอนาคตนั้น ระบุว่าได้ผลดีถึง 90% มาทดลองในห้องทดลองที่น่าเชื่อถือได้ในสหรัฐฯ ผ่านการนำซีรั่มของคนที่ได้ Sputnik V ครบ 2 เข็ม มาดูความสามารถยับยั้งไวรัส โดยผลเป็นไปตามคาด ซีรั่มจากวัคซีนได้ผลดีมากกับสายพันธุ์ G (ดั้งเดิม) และสายพันธุ์อังกฤษ แต่วัคซีนกลับใช้ไม่ค่อยได้ผลกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์เบงกอล ที่ภูมิคุ้มกันตกลงมาชัดเจน
หากเรียงลำดับ ไวรัสกลายพันธุ์ที่หนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี อันดับ1 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) , อันดับ 2 สายพันธุ์บราซิล (P.1) , อันดับ 3 คือสายพันธุ์นิวยอร์ค (B.1.526) ,อันดับ 4 สายพันธุ์อินเดีย Double Mutant กับ สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย (B.1.429) , อันดับ 5 สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) ส่วนสายพันธุ์ใหม่เบงกอลเชื่อว่า น่าจะอยู่ ใกล้เคียงกับสายพันธุ์บราซิล หรืออันดับ 2 ร้ายกาจน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้เพียงเล็กน้อย
กับวิกฤตโควิด19 ทำให้เสียงวิจารณ์รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมที ดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์หนาหู เพราะรัฐบาลยอมปล่อยการ์ดเมื่อต้นปีนี้ ปล่อยให้มีการชุมนุมทางศาสนา เช่นเทศกาลอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ "กุมภเมลา" ในแม่น้ำคงคา และชุมนุมการเมืองครั้งใหญ่ ในช่วงที่ยอดคนป่วยต่ำกว่า 10,000 คนต่อวัน และไม่ได้วางแผนที่จะเพิ่มระบบการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด อินเดียมีผู้เสียชีวิตสะสม เพิ่มขึ้นเกือบๆแตะหลัก 2 แสนคนแล้ว สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ บราซิล และเม็กซิโก ส่วนจำนวนผู้ป่วยรักษา
ขณะเดียวกัน ทางการอินเดีย ได้พยายามลบทวีต ที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลด้วย โดย ทางรัฐบาลได้ออกคำสั่งเซนเซอร์ทวีตข้อความ อย่างนักการเมืองที่โพสต์ว่า “นเรนทระ โมที” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ต้องเป็นคนรับผิดชอบ ผู้ที่เสียชีวิต และอีกทวีตจากกนักแสดงที่วิจารณ์ว่า โมทีมัวแต่หาเสียงสำหรับการเลือกตั้ง และปล่อยให้โรคระบาดต่อไป ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาลระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเฟคนิวส์ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องลบข้อความเหล่านี้