ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
การนอนหลับเต็มอิ่มเป็นเรื่องสำคัญมากต่อสุขภาพ เพราะช่วงนอนเป็นเวลาที่ร่างกายต้องการการพักผ่อน กระบวนการเยียวยาอย่างลึกซึ้งที่เกิดขึ้นในร่างกายเกิดในช่วงที่เรากำลังนอนหลับนี่แหละ การนอนแบบไม่มีคุณภาพส่งผลต่อการทำงานของร่างกายในชีวิตประจำวัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว มีผลต่อการตัดสินใจและความสามารถในการทำงาน ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่โรงเรียน นอกจากนี้ การอดนอนยังเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งตามสถิติพบว่าสาเหตุของอุบัติเหตุตามท้องถนนถึงครึ่งหนึ่งมาจากความอ่อนล้า
ที่สำคัญ การนอนหลับเต็มอิ่มยังทำให้หน้าตาและผิวพรรณของคุณสดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในเมื่อการนอนหลับอย่างเต็มอิ่มมีความสำคัญต่อร่างกายและบุคลิกของคุณถึงขนาดนี้ เราจึงควรมาปรับปรุงคุณภาพการนอนด้วยเคล็ดลับ 10 ข้อที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับกัน
เข้านอนตามตารางเวลาคงที่ทุกวัน
คุณควรเข้านอนและตื่นนอนตรงตามเวลาเดิมทุกวัน การจัดตารางการเข้านอนแบบคงที่จะช่วยทำให้นาฬิกาชีวิตดำเนินไปตามปกติ
มีช่วงผ่อนคลายก่อนเข้านอน
การผ่อนคลายก่อนเข้านอนทำได้หลายวิธี เช่น การอาบน้ำ ช่วยบรรเทาความเครียดระหว่างวันและเตรียมร่างกายเพื่อการพักผ่อน การนวดหลังช่วงสั้นๆ ช่วยลดความกระวนกระวายและทำให้ร่างกายสบายตัวขึ้น
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่“กระตุ้นทางจิตใจ”ในขณะที่กำลังจะพักผ่อน
การที่คุณทำกิจกรรมอื่นๆบนเตียง เช่นการอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน ล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำให้คุณต้องมีสมาธิกับงานนั้นๆ กิจกรรมเหล่านี้มีผลต่อความยากง่ายในการหลับของคุณ จากการศึกษาพบว่าโทรศัพท์มือถือส่งผลในเชิงลบต่อระยะเวลาของการนอนหลับของคุณ (สงสัยว่าเรื่องของมือถือนี้จะเป็นข้อที่เราทำกันได้ยากที่สุดแล้วหล่ะ)
การจัดสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลายในห้องนอนของคุณ
สิ่งแวดล้อมในห้องนอนเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้คุณนอนไม่พอเพียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังจากถนน โทรทัศน์ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมบ้าน ล้วนมีผลกระทบต่อวงจรการนอนหลับโดยปกติ ห้องนอนควรมีความเงียบสงบและมีผนังกันเสียงจากด้านนอกไม่ให้เข้ามารบกวน เคล็ดลับอีกประการหนึ่งที่ได้จากศาสน์ของฮวงจุ้ย คือการย้ายสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนอนออกไปจากห้องให้หมด นอกจากนี้ สีของห้องนอนควรเป็นสีโปรดที่คุณรู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย อีกเรื่องหนึ่งซึ่งควรทดลองทำสนุกๆ คือการหันหัวเตียงไปทางทิศเหนือ บางคนเชื่อกันว่าจะทำให้นอนหลับฝันดี
หลีกเลี่ยงการกินอาหารก่อนเข้านอน
การกินอาหารเต็มมื้อ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนทำให้คุณนอนหลับยากขึ้น หากกินอาหารเต็มมื้อ 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน คุณจะหลับง่ายกว่าเพราะร่างกายมีเวลาย่อยอาหารเหล่านั้นให้เสร็จก่อนเข้านอน
หลีกเลี่ยงการดื่มหรือกินอาหารที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน
หลายคนคงเคยตาค้างเพราะการดื่มกาแฟหรือกินอาหารที่มีคาเฟอีนช่วงใกล้เวลาเข้านอนมาแล้ว คาเฟอีนทำให้คนตื่นตัวและตาสว่าง จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีผลเสียต่อการนอนที่ดี
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนนอน
การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน รวมถึงการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกับคุณภาพการนอนที่ไม่ดีและอาการอดนอน
หลีกเลี่ยงการนอนกลางวันที่นานเกินไป
การศึกษาเทคนิคการบริหารการนอน พบว่าการนอนช่วงสั้นประมาณ 30 นาทีหลังอาหารกลางวัน มีประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพการนอน แต่ก็มีแนวทางระบุไว้ว่า ควรจำกัดช่วงเวลาที่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และอย่านอนกลางวันหลัง 16:00 น.
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายแบบไม่หักโหมและการยืดเส้นยืดสายในช่วงเช้าตรู่ทำให้นอนหลับดีขึ้น และมีผลดีต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การได้สัมผัสกับแสงแดดอย่างพอเพียง
นอกจากแสงแดดจะช่วยสังเคราะห์วิตามินดีให้กับร่างกายแล้ว ยังช่วยเรื่องของวงจรการนอนอีกด้วย จากการศึกษาพบว่าคนที่สัมผัสกับแสงแดดน้อย มีคุณภาพการนอนและสุขภาพโดยรวมที่แย่กว่าคนที่สัมผัสแสงแดดเป็นประจำ
เคล็ดลับเพิ่มเติม จงทำความสะอาดเครื่องนอนอยู่เสมอ เพราะผ้าปูเตียงและปลอกหมอนที่สะอาดเอี่ยมอ่องจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายตัวในตอนกลางคืน