เสียงพรรคร่วมแตก! รัฐบาลถอยร่าง พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หวั่นไม่ผ่านวาระแรก นายกฯ เสี่ยงต้องถึงขั้นลาออก
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มีการถอนวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกจากระเบียบวาระการประชุมตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่า ต้องการจัดลำดับความสำคัญให้กับประเด็นเร่งด่วน อาทิ ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว และการเตรียมรับมือกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นกำแพงภาษี
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า แท้จริงแล้วการเลื่อนวาระดังกล่าวเป็นผลจากการประเมินเสียงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฯ ในสภา ซึ่งพบว่าเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 321 เสียงมีความแตกแยก ไม่เป็นเอกภาพ และมีแนวโน้มว่าเสียงสนับสนุนในวาระแรกอาจไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ 493 คน หากร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกปัดตก จะเข้าข่ายเป็นร่าง พ.ร.บ.การเงิน ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี ส.ส.ในมือ 69 คน แม้ก่อนหน้านี้นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรค จะไม่แสดงจุดยืนชัดเจน โดยอ้างว่าเป็นมติของคณะรัฐมนตรี แต่การประเมินของทีมยุทธศาสตร์พบว่า พรรคมีแนวโน้มจะงดออกเสียงทั้งหมด
การประกาศกลางสภาของนายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 9 เมษายน ว่าพรรคไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ ยิ่งตอกย้ำจุดยืนของพรรคอย่างชัดเจน แม้นายอนุทินจะพยายามออกมาชี้แจงภายหลัง
ขณะเดียวกัน พรรคประชาชาติได้แสดงจุดยืนต่อร่างพระราชบัญญัติเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์อย่างชัดเจน โดยออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ว่าไม่รับหลักการของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ส่งผลให้เสียงของพรรคประชาชาติทั้ง 9 เสียงหายไปจากการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. นี้
เมื่อรวมกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีท่าทีจะงดออกเสียงทั้ง 69 เสียง ทำให้จำนวนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 78 เสียง
นอกจากนี้ ในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ 25 คน มีรายงานว่า 4 รายชื่อ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายสรรเพชญ บุญญามณี จะใช้สิทธิงดออกเสียงในการลงมติวาระแรก โดยยึดแนวทางเดียวกับการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ทีมยุทธศาสตร์รัฐบาลประเมินว่า แกนนำระดับสูง 2-3 คน อาจแสดงท่าทีโหวตสวนถึงขั้นไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ ในวาระแรกเช่นกัน
จากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความเห็นต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้คาดการณ์ว่า เสียงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะอยู่ที่เพียง 237 เสียง ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 493 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจประกาศเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ออกไปก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกฎหมายตกกลางสภา ซึ่งอาจนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสมัยหน้า ซึ่งจะมีขึ้นภายในอีกประมาณ 2 เดือน ยังต้องจับตาท่าทีของพรรคเพื่อไทยว่าจะเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์กลับเข้าสู่วาระการพิจารณาอีกครั้งหรือไม่
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาชาติ ที่ได้แสดงจุดยืนไม่รับหลักการอย่างชัดเจน ทั้งผ่านแถลงการณ์ต่อสาธารณะและการประกาศกลางที่ประชุมสภา ประกอบกับกระแสคัดค้านจากภาคประชาชนภายนอกสภาที่ทวีความเข้มข้นและยังไม่มีท่าทีจะยุติลง ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์และแนวทางในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งอย่างรอบคอบ
ที่มา : posttoday
ข่าวที่เกี่ยวข้อง