16 ไฮไลต์เรื่องน่ารู้ ของการบินไทย ทั้งในยุครุ่งเรืองและวิกฤต ในช่วงเวลา 60 ปี ที่ผ่านมา
หากเปรียบเป็นชีวิตคนคนหนึ่ง ช่วงอายุ 60 ปีถือว่าเป็นวัยเกษียณ เป็นวัยที่น่าจะได้พักผ่อน หลังจากตรากตรำทำงานหนักมาหลายปี
แต่สำหรับการบินไทย นี่คือช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสที่สุด ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อกอบกู้บริษัทจากการขาดทุนติดต่อกันหลายปี และมีหนี้สินกว่า 2.4 แสนล้านบาท
ซึ่งตลอด 60 ปีที่ผ่านมาของการบินไทย มีไฮไลต์อะไรบ้าง สปริงนิวส์ได้เรียบเรียงมาเล่าสู่กันดังนี้
เรื่องที่ 1 เที่ยวบินแรกของการบินไทย
วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยดำเนินการให้ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับ สายการบินสแกนดิเนเวียน ทำสัญญาร่วมทุนระหว่างกัน
จากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 บริษัทการบินไทย จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นด้วยทุนเริ่มต้น 2 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ โดยมีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปยังฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503
เรื่องที่ 2 พนักงานคนแรกของบริษัท
พนักงานคนแรกได้แก่ กัปตัน พร้อม ณ ถลาง ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของการบินไทยในปี 2522 - 2523
เรื่องที่ 3 โลโก้แรกของการบินไทย
วันที่ 29 มีนาคม 2503 การบินไทยเปิดตัวตราสัญลักษณ์เป็นภาพตุ๊กตารำไทย ซึ่งออกแบบโดย หม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิไชย นักออกแบบที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น
เรื่องที่ 4 ปีแรกที่การบินไทย ทำกำไร
ปี 2508 บริษัทเริ่มทำกำไรเป็นปีแรก มีกำไร 3.9 ล้านบาท
เรื่องที่ 5 ปีแรกที่มีจำนวนผู้โดยสารทะลุหลักล้าน
พ.ศ. 2510 เป็นปีแรกที่บริษัทให้บริการผู้โดยสารกว่า 1 ล้านคน
เรื่องที่ 6 โลโก้ของการบินไทย ไม่ใช่ดอกจำปี
พ.ศ. 2515 การบินไทยจ้างวอลเตอร์ แลนเดอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์บริษัทโฆษณาระดับโลก ให้ออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่
และได้มีการแก้ไขหลายรอบ กระทั่งในปี 2518 ก็ได้บทสรุปกลายเป็นโลโก้หลักที่ใช้มาอย่างยาวนาน โดยผู้ออกแบบบอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากใบเสมาตะแคงข้าง
แต่คนส่วนใหญ่กลับเข้าใจว่า มีที่มาจากดอกจำปี กระทั่งกลายเป็นชื่อเรียกสายการบินแห่งนี้ว่า เจ้าจำปี จนถึงปัจจุบัน
เรื่องที่ 7 เป็นบริษัทของคนไทยอย่างสมบูรณ์
ปี 2520 หลังจากครบสัญญาร่วมทุนเป็นระยะเวลา 17 ปี กระทรวงการคลัง ก็ซื้อหุ้นคืนจากสายการบินสแกนดิเนเวียน ส่งผลให้การบินไทยเป็นของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่
เรื่องที่ 8 สโลแกน “การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า”
สโลแกน “การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า” ที่ติดหูมาอย่างยาวนาน ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2521 มีที่มาจากชื่อของวารสารภายในองค์กร ซึ่งสื่อความหมายถึงความรักที่กว้างใหญ่ไพศาลไปสุดขอบฟ้า จึงนำมาใช้เชิงเปรียบเทียบกับบริการของการบินไทย
เรื่องที่ 9 การแปรรูป การบินไทย
วันที่ 1 เมษายน 2531 บริษัทเดินอากาศไทยซึ่งดำเนินธุรกิจสายการบินภายในประเทศ ก็รวมกิจการเข้ากับการบินไทย เพื่อให้สายการบินแห่งชาติเป็นหนึ่งเดียว ตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ
กระทั่งวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 การบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี
และจดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดมหาชน เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งจากการที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นเกิน 50 % จึงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
เรื่องที่ 10 โลโก้ใหม่
ปี 2548 การบินไทยเปิดตัวโลโก้ใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นจากโลโก้แบบเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสี โดยโลโก้ดังกล่าว ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
เรื่องที่ 11 ปีที่ทำกำไรสูงที่สุด
ปี 2553 เป็นปีที่การบินไทย มีกำไร 15,350 ล้านบาท และเป็นปีที่ทำกำไรสูงที่สุด ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา
เรื่องที่ 12 ปีที่ขาดทุนมากที่สุด
ปี 2557 การบินไทยขาดทุนถึง 15,611 ล้านบาท และเป็นปีที่ขาดทุนมากที่สุด ตลอดระยะ 60 ปีที่ผ่านมา
เรื่องที่ 13 ทรัพย์สิน และหนี้สินของการบินไทย
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ปี 2562 ระบุว่า การบินไทยมีทรัพย์สินอยู่ที่ 256,665 ล้านบาท แต่มีหนี้สินสูงถึง 244,899 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 19,383 ล้านบาท
เรื่องที่ 14 การบินไทยติด 1 ใน 10 สายการบินที่ดีที่สุดในโลก
จากการจัดอันดับ The World’s Best Airlines ประจำปี 2019 ของ SKYTRAX การบินไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลก ในอันดับที่ 10
เรื่องที่ 15 การบินไทย ยังไม่ล้มละลาย
ครม.มีมติเห็นชอบให้การบินไทยยื่นแผนฟื้นฟู กับศาลล้มละลาย ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งหากศาลล้มละลายมีคำสั่งรับคำร้อง การบินไทยก็ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟู ที่มีกรอบเวลา 5 ปี และจะได้พักชำระหนี้โดยอัติโนมัติ
เรื่องที่ 16 การบินไทย ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกต่อไป
หลังจากกระทรวงการคลังประกาศ จะขายหุ้นการบินไทย ออกไป 3 % ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของกระทรวงการคลัง ต่ำกว่า 50 % ส่งผลให้นับจากนี้ สถานภาพการบินไทย ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ อีกต่อไป