svasdssvasds

โอกาสลดการปล่อยคาร์บอนทางถนนให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2593 มีอยู่ แต่ไม่มาก!

โอกาสลดการปล่อยคาร์บอนทางถนนให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2593 มีอยู่ แต่ไม่มาก!

จากที่หลายชาติลงนามร่วม Paris Agreement ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ. 2593 จะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชากรโลก

“โอกาสที่จะยังคงทำได้ตามเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งทางถนนให้เป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2593 ยังคงมีอยู่ แต่ไม่มาก ภาครัฐ ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จไฟฟ้า จำเป็นต้องร่วมกันผลักดันอย่างจริงจังในอีกหลายปีข้างหน้า” อเล็กซานดร้า โอโดโนแวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยรถยนต์ไฟฟ้า BloombergNEF กล่าว

เรื่องลดการปล่อยคาร์บอน มีบางประเด็นที่รู้แล้วอาจสะอึก!

ในรายงานประจำปี “แนวโน้มระยะยาวของรถยนต์ไฟฟ้า” (Long-Term Electric Vehicle Outlook: EVO) โดย บลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี้ ไฟแนนซ์ (บลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ) เปิดเผยว่า การขนส่งทางถนนสามารถบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยเปลี่ยนสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้

แต่ผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต้องเร่งผลักดันนโยบายรถบางประเภท เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถสองล้อ รถสามล้อ ให้เข้าใกล้เป้าหมายที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจและต้องการนโยบายเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มยานยนต์ประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง

Source : Unsplash

ในรายงานดังกล่าวมี 2 ความเป็นไปได้จากการใช้การขนส่งทางไฟฟ้าจากนี้ไปจนถึงปี 2593 และศึกษาผลกระทบที่จะมีต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ แร่ธาตุ น้ำมัน ไฟฟ้า สาธารณูปโภคพื้นฐาน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

  • ความเป็นไปได้แรก คือ การขับเคลื่อนโดยการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ (The Economic Transition Scenario: ETS) ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่า ภาครัฐไม่มีการออกนโยบายหรือกฎระเบียบใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงจะถูกขับเคลื่อนโดยแนวโน้มด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ตลอดจนแรงขับคลื่อนจากกลไกตลาด
  • ความเป็นไปได้ที่สอง คือ การมองหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์จากการขนส่งทางถนนภายในปี 2593 ซึ่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเป็นตัวขับเคลื่อนของการเปลี่ยนพฤติกรรมที่สำคัญ นำไปสู่การใช้เทคโนโลยียานยนต์เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2593

ยอดขาย EV ต้องเพิ่มแค่ไหน ยอดขายรถยนต์สันดาปต้องลดลงเท่าไหร่ ถึงจะดี?

โอกาสลดการปล่อยคาร์บอนทางถนนให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2593 มีอยู่ แต่ไม่มาก!

ยอดขายรถยนต์โดยสารไฟฟ้าคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเพิ่มขึ้นจาก 6.6 ล้านคันในปี 2564 เป็น 21 ล้านในปี 2568 ตามความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนโดยการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ จำนวนรถไฟฟ้าที่วิ่งบนถนนทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 77 ล้านคันในปี 2568 และ 229 ล้านคันในปี 2573 เพิ่มจาก 16 ล้านคัน เมื่อสิ้นปี 2564 ซึ่งสะท้อนความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมาจนถึงปัจจุบัน

การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นลดความต้องการใช้น้ำมันต่อวันลง 1.5 ล้านบาเรล โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปรับลดจากรถยนต์ไฟฟ้าสองล้อและสามล้อในภูมิภาคเอเชีย แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยสารที่กำลังเพิ่มขึ้นทำให้อัตราการลดลงของการใช้น้ำมันต่อวันเร็วขึ้นเป็น 2.5 ล้านบาเรล ภายในปี 2568 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งทางถนนทั่วโลกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 

  • รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์จะต้องมีจำนวน 61% ของยอดขายใหม่ของรถยนต์โดยสารภายในปี 2573 และเป็น 93% ภายในปี 2578 
  • จะต้องไม่มีการขายรถยนต์สันดาปหลังจากปี 2581 
  • Vehicle-to-grid: V2G หรือ เทคโนโลยีเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองไว้ในแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และป้อนกลับเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้งาน จะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคได้

แนวคิดที่ประเทศพัฒนาแล้วควรเข้าไปสนับสนุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

Source : Unsplash

รายงานของ BloombergNEF ยังระบุอีกว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์กรในระดับนานาชาติควรที่จะรวมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า การให้สิทธิประโยชน์ และการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จ เข้าสู่แผนงานด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระดับโลก ร่วมกับการทำให้ตลาดกำลังพัฒนาซึ่งมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้น่าเชื่อถือ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

การใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกคาดว่าจะมีจำนวน 469 ล้านคันภายในปี 2578 แต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกต้องเพิ่มเป็น 612 ล้านคันภายในช่วงเวลาเดียวกันหากขับเคลื่อนโดยการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ

ความแตกต่างนี้สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ขณะเดียวกัน ประเทศที่มีรายได้สูงควรให้ความสนใจกับการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านในตลาดเกิดใหม่และหลีกเลี่ยงการชะลอตัวของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

เมื่อพิจารณาจากรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ จะพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าสองและสามล้อ รวมถึงรถโดยสารสาธารณะเกือบจะบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนให้ความเป็นไปได้แบบที่สองเกิดขึ้นได้จริง แต่รถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังคงมีการปรับตัวที่ช้าเกินไป และจำเป็นต้องมีมาตรการผลักดันเพิ่มเติม ภายใต้ความเป็นไปได้แบบแรกที่เน้นการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจปกติ

รถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ 29% ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งต่ำกว่าจำนวนที่ความเป็นไปได้แบบที่สองต้องการอย่างมาก

Source : Unsplash

สำหรับภาครัฐ นอกเหนือจากการดูแลธุรกิจพลังงานอย่างใกล้ชิด และการออกมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถบรรทุก ควรพิจารณาเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐเองหรือผู้ประกอบการขนส่ง และควรที่จะพิจารณาจัดโซนในเมืองที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ในการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าได้เร็วกว่าขนาดใหญ่

ในรายงานยังมีการศึกษาอีกว่

  • รถบรรทุกไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการขนส่งสินค้าระยะทางไกลที่ใช้งานหนัก โดยเฉพาะกรณีการใช้งานที่จำกัดปริมาณ การให้พลังงานไฟฟ้าผ่านแบตเตอรี่โดยตรงจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและได้ผลคุมค่ามากที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขนส่งทางถนน 
  • การลดลงของการเดินทางด้วยรถยนต์ 10% ภายในปี 2593 จะทำให้มีจำนวนรถบนถนนลดลง 200 ล้านคัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมเป็น 2.25 กิกะตัน ทั้งยังลดภาระต่อห่วงโซ่การผลิตของแบตเตอรี่ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นผลดีต่อเป้าหมายของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว

......................................................................................

ที่มา

related