หากคุณกำลังสนใจรถยนต์ไฟฟ้า EV หรือการติดแผงพลังงานโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ใช้จริงที่มาร่วมแบ่งปันถึงพลังงานทางเลือกเหล่านี้ที่จะมาช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้น
ทุกคนในประเทศไทยทราบกันดีกว่า แสงแดดในประเทศไทยนั้นมีความร้อนและอยู่ยาวนานถึงช่วงเย็น ต่างจากต่างประเทศที่บางประเทศมีแดดน้อยหรือบางประเทศไม่มีแดดเลย
เชื่อว่าใครๆก็รู้จัก ‘แผงโซลาร์เซลล์’ แต่ไม่มีใครรู้ว่าการใช้งานจริงเป็นยังไง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากแค่ไหน เหมาะกับใคร
วันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ใช้งานจริง คุณพีระ ลักษณาภิรักษ์ ผู้บริหารทรูช้อปปิ้ง ที่ได้แชร์ประสบการณ์การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ว่ามันดีแค่ไหน เพื่อให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
การใช้แผงโซลาร์เซลล์ เหมาะกับใคร ?
เหมาะสำหรับคนที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเยอะ เช่น เปิดแอร์ทั้งวัน,มีสมาชิกครอบครัวอยู่ที่บ้านหลายคน
จริงๆโซลาร์เซลล์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน โซลาร์เซลล์จะเหมาะกับคนที่อยู่บ้าน ใช้ไฟกลางวันเยอะ เช่น โฮมออฟฟิศ,ธุรกิจร้านอาหาร,สถานประกอบการ
และหากใช้รถไฟฟ้าก็จะได้ประโยชน์สองเด้ง แทนที่จะใช้การชาร์จไฟธรรมดา ก็ใช้การชาร์จจากพลังงานโซลาร์เซลล์
ทำความเข้าใจกันก่อนในเรื่อง ‘อัตราการใช้ไฟตามบ้าน’
ค่าไฟตามบ้านแบ่งเป็น 2 อัตราคือ อัตราปกติ ยิ่งใช้น้อยยิ่งถูก แต่หากใช้ไฟเกิน 400 หน่วย ราคาไฟฟ้าจะสูงขึ้น
และมีอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ค่าไฟแพงหรือถูก ก็คือ “มิเตอร์ TOU” (Time of Use) ซึ่งจะทำให้เวลาในการใช้ไฟฟ้ามีผลต่อค่าไฟต่อหน่วย
ช่วงเวลา On Peak (ราคาแพงกว่าปกติ)
เวลา 09.00 - 22.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์
ช่วงเวลา Off Peak (ราคาถูกกว่าปกติ)
เวลา 22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์ - วันอาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ
วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย)
ซึ่งราคาค่าไฟระหว่างเวลา On Peak กับ Off Peak จะต่างกันเกือบครึ่ง และหากเราบริหารดีๆ จะช่วยประหยัดค่าไฟไปได้มาก
แต่หากเปลี่ยนมิเตอร์เป็น ‘TOU’ แล้ว ค่าไฟกลางวันจะแพงขึ้น ก็จึงต้องมาอาศัยการติดโซลาร์เซลล์ช่วย จันทร์-ศุกร์ ในช่วงค่าไฟแพงหรือ On Peak ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟหลวง สามารถใช้พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์
คุณพีระ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆว่า ค่าไฟก่อนที่ติดโซลาร์เซลล์ประมาณ 4,500 บาท เมื่อติดโซลาร์เซลล์แล้วลดค่าไฟเหลือเพียงเดือนละ 1,700-1,900 บาท
เปรียบเทียบกับเมื่อก่อนค่าไฟเฉพาะที่บ้านก็ประมาณ 4,000 บาท รถคันเก่าที่ใช้อยู่น้ำมันเติมประมาณ 3,000-4,000 บาท รวมแล้วประมาณ 8,000 บาท
แต่เมื่อติดแผงโซลาร์เซลล์และหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า วิ่งเดือนละ 1000 กม. และยังมีลูกเล็กเพิ่มซึ่งจะใช้ไฟเปิดแอร์ตลอดทั้งวัน รวมค่าใช้จ่ายส่วนนี้แล้วเหลือแค่เดือนละประมาณ 2,900-3,000 บาท
เนื่องจากระบบโซลาร์เซลล์ที่เข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ถ้าผลิตแล้วใช้ไม่หมด ขายคืนรัฐได้ คุณพีระได้ใช้ไฟหลวงไป 3,477 บาท แต่ขายไฟให้หลวง 514 สรุปจ่ายไปเพียง 2,963 บาท
หากสนใจอยากติดโซลาร์เซลล์ ราคาเริ่มต้นที่เท่าไร?
ปกติแผงโซลาร์เซลล์สำหรับบ้านมักจะใช้อัตราที่ 5 kW และคุณพีระได้ให้คำแนะนำหากจะติดตั้งควรเลือกซื้อยี่ห้อที่มีชื่อเสียง อย่างน้อยก็เป็น Huawei ซึ่งราคาประมาณ 200,000 บาท
เลือกยี่ห้อไหนดี? ทำไมต้องติดโซลาร์เซลล์ยี่ห้อดัง ราคาสูง ?
หลายคนมาปรึกษาเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน บริษัทเล็ก เช่น ไม่สามารถดูค่าอะไรได้ ติดต่อเคลมลำบาก เนื่องจากสินค้าโซลาร์เซลล์เป็นสินค้าที่ใช้งานระยะยาว ประกัน 10-25 ปี และบริษัทต้องสามารถเคลมและซ่อมบำรุงดูแลได้ตลอด การเลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์จึงต้องมองถึงบริการหลังการขายเป็นอันดับต้นๆ ยกตัวอย่าง SolarEdge กล้ารับประกัน 25 ปี จึงมั่นใจได้ว่าสินค้าของเขาได้คุณภาพและสามารถใช้ได้ยาวนานแน่นอน
อยากให้แชร์ถึงประสบการณ์และความคุ้มค่าของการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า มีข้อดีอย่างไรบ้าง ?
คุณพีระได้พูดถึงรถยนต์สันดาปหรือรถยนต์น้ำมันไว้ว่า “หากเราใช้รถที่ใช้น้ำมัน เราไม่สามารถผลิตน้ำมันเองได้” แต่หากใช้รถไฟฟ้า “เราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้”
ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรมต่างๆ ที่ให้ชาร์จไฟฟรีที่สถานี และหากเทียบกับรถน้ำมัน คงไม่มีปั้มน้ำมันไหนให้เราเติมน้ำมันฟรีอย่างแน่นอน
แต่ไม่ได้แปลว่าแนะนำให้ติดโซลาร์เซลล์จำนวนมาก เพื่อให้กำลังเพียงพอต่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เหตุผลเพราะ ใช้รถไฟฟ้าอย่างน้อยต้องมีกำลังไฟฟ้า 7.4 kW เพื่อชาร์จ ซึ่งต้องติดโซลาร์เซลล์จำนวนมาก และไม่คุ้มค่า
หากอยากจะติดโซลาร์เซลล์ แนะนำให้ติดเฉพาะที่บ้านใช้ เพื่อให้เวลากลางวันที่เป็น On Peak หรือช่วงค่าไฟแพง คุณไม่ต้องซื้อไฟหลวง แต่หากจะชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้าก็ไปชาร์จในช่วง Off Peak หรือหลัง 4 ทุ่ม
และหากชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงหลัง 4 ทุ่ม จะทำให้อัตราค่าเดินทางของคุณเหลือเพียงประมาณ กิโลเมตรละ 40-50 สต.
คุณพีระ ยังได้แชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไป หัวหิน โดยใช้เงินเพียง 175 บาท และเมื่อถึงโรงแรมปรากฎว่ายังสามารถชาร์จไฟฟรีที่สถานีอีกด้วย