svasdssvasds

ห้าม กัญชา รวมประกาศองค์กร เขตปลอดกัญชา ข้อปฏิบัติและสรุปรายชื่อ

ห้าม กัญชา รวมประกาศองค์กร เขตปลอดกัญชา ข้อปฏิบัติและสรุปรายชื่อ

กัญชา กำลังเป็นที่ถกเถียง และหาจุดสมดุลในการใข้งาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และเน้นการใช้สำหรับสุขภาพ กัญชาทางการแพทย์ หลายองค์กรที่ประกาศตัวเป็น เขตปลอดกัญชา ห้ามใช้-ขายผลิตภัณฑ์ทุกชนิด พร้อมทั้งให้ความรู้แก่คนภายในองค์กร

ตั้งแต่มีการ ปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ทำให้ประชาชนและสังคมตื่นตัวกันทั้งแผ่นดิน เพราะความคลุมเครือของประกาศจาก กระทรวงสาธารณสุขที่เปิดช่องให้ตีความได้กว้าง ทำให้หลายภาคส่วนเกิดความตระหนก ตกใจ เตรียมแผนป้องกันองค์กรและสถาบันของตัวเอง กันไว้ก่อนด่านแรก เพื่ออย่างน้อย ก็อุ่นใจได้ว่าในรั้วของขอบเขตที่ดูแล ประชาชนในสังกัดจะห่างไกลและปลอดภัยจากผลข้างเคียงของกัญชาที่หลายคนไม่ทราบมาก่อน รวมถึงขาดความรู้ความเข้าใจเพียงพอที่จะเลือกซื้อ เลือกใช้ให้เหมาะกับตัวเอง 

จึงทำให้เกิดข่าวประชาชนที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจรับประทานอาหาร-เครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม โดยร้านค้ามีทั้งติดประกาศแจ้งไว้อย่างชัดเจนก็ช่วยให้เลือกหรือเลี่ยงได้ แต่ถ้าร้านไหนลักไก่ ใส่แล้วไม่บอก แถมใส่โดยไม่รู้ปริมาณที่เหมาะสมกับผู้บริโภค ก็ยิ่งสร้างความสับสนและกังวลให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น  
ข้อแนะนำสำหรับใส่ใบกัญชาในอาหารจาก กระทรวงสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 6 องค์กรที่มีประกาศแถลงการณ์ข้อกำหนดควบคุมให้เป็น เขตปลอดกัญชา โดยเรียงตามไทม์ไลน์จนถึง ณ วันที่ 22 มิถุนายน สรุปได้ดังนี้

  • 13 มิถุนายน 2565

สรยุทธ สั่งห้ามเด็ดขาด ให้ถือว่าทุกคนอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามเยลลี่ ขนม และเครื่องดื่ม หลังจากที่มีทีมงานบางคนได้ลองกินคุกกี้กัญชา จนมีอาการมึนเมาถึงขนาดต้องนอนพัก ระหว่างงาน 

 

  • 15 มิถุนายน 2565

ชัชชาติ ออกประกาศคุมเข้ม 9 ข้อ ให้โรงเรียนในสังกัด กทม. เป็นพื้นที่ ปลอดกัญชา - กัญชง งดจำหน่าย อาหาร ขนม เครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสม ห้ามโฆษณา ประสานชุมชน ร้านค้ารอบ รร. เฝ้าระวังไม่ให้จำหน่ายอาหาร ขนม เครื่องดื่มมีส่วนผสม กัญชา - กัญชง

  1. ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ “ปลอดกัญชาหรือกัญชง”
  2. งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญซาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
  3. ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
  4. ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายในโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่นักเรียน และกวดขัน ดูแลนักเรียนมิให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง
  5. ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ กัญชาหรือกัญชงและอันตรายจากกัญชาหรือกัญชง แก่นักเรียนด้วยการบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมต่างๆ ในการเรียนการสอนทุกระดับ
  6. ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ โดยสอดแทรกและเน้นย้ำเรื่องพิษภัยของกัญชาหรือกัญชง
  7. ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ เรื่องโทษของการใช้กัญซาหรือกัญชงที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน
  8. ประสานความร่วมมือ แจ้งนโยบายการเฝ้าระวังปัญหาฯ แก่ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึง ผู้ประกอบการร้านค้ารอบโรงเรียน เฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่าย อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของกัญชาหรือกัญชง
  9. ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครประสานความร่วมมือกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต เพื่อบูรณาการการป้องกันและเฝ้าระวัง ปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญซาหรือกัญชงในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด
  • 16 มิถุนายน 2565

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงฯ เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.

  1. สถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามใช้กัญชา หรือกัญชงกับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีผลต่อการพัฒนาสมองของนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร
  2. ห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร ของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ใช้กัญชา หรือกัญชง เพื่อการนันทนาการใดๆ เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย
  3. ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการกำกับควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มในบริเวณสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ให้งดจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีการผสม ส่วนใดๆ ของกัญชา หรือกัญชงอีกทั้งห้ามมิให้นักเรียนนักศึกษา หรือบุคลากรของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการนำอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชา หรือกัญชง เข้ามาบริโภคในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเด็ดขาด
  4. ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรม การจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม หรือการผลิตสื่อนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชา หรือกัญชงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง ที่เกินปริมาณตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดให้แก่นักเรียนนักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครองประชาชน หรือชุมชนที่อยู่ หรืออาศัยบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา หรือหน่วยงาน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชา หรือกัญชง
  5. การใช้กัญชา หรือกัญชงเพื่อการรักษาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือการใช้กัญชา หรือกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆศธ.ประกาศห้ามใช้กัญชา กัญชง ในสถานศึกษา
  6. นอกจากแนวทางที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงาน ของสถานศึกษาส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการอาจออกมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากกัญชา หรือกัญชงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการนั้นๆ ได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
  • 16 มิถุนายน 2565

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กำหนดมาตรการป้องกันและฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาภายในพื้นที่ ของโรงพยาบาล จึงประกาศกำหนดนโยบาย ดังนี้

  1. ให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชา"
  2. ห้ามมีการใช้กัญชาภายในพื้นที่โรงพยาบาลยกเว้นเป็นกรณีการใช้ในทางการแพทย์
  3. งดจำหน่ายต้นและส่วนประกอบของกัญชา รวมทั้งอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาภายในโรงพยาบาล
  4. ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชายในโรงพยาบาล
  • 17 มิถุนายน 2565

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศ เรื่อง มาตรการดำเนินการการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis ในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ,โรงพยาบาลศิริราช ปียมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

  1. ห้ามมิให้มีการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  2. ห้ามมิให้มีการโฆษณา การส่งเสริมการขาย การจัดกิจกรรม การจัดจำหน่าย และการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูลCannabis ในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  3. ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไป ผู้มารับบริการ บุคลากรและนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญซงและพืชในตระกูล Cannabis เพื่อสันทนาการในพื้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 
  4. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอสนับสนุนแนวทางการใช้สมุนไพรควบคุมกัญชา สารสกัดจากกัญชา กัญชง และพืชในตระกูล Cannabis เฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ตามความเห็นของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ในบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
  5. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้มีการศึกษาและวิจัย ตลอดจนการนำสมุนไพรกัญชา และพืชในตระกูล Cannabis มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ตามข้อบ่งชี้ ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด
  • 20 มิถุนายน 2565

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

  1. ให้สถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดและในกำกับ อว. ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 รวมถึงกฎหมายหรือประกาศอื่นใดที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเคร่งครัด
  2. ห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา หรือหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ อว.ใช้กัญชาหรือกัญชง เพื่อการนันทนาการใดๆ โดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว เช่น อาการทางจิตและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย
  3. ให้ผู้บริหารกำกับควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในบริเวณสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ อว. ให้งดจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชาหรือกัญชง และห้ามมิให้นักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากร นำเข้ามาบริโภคภายในสถานที่อย่างเด็ดขาด
  4. ให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ อว. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน ฝึกอบรม หรือการผลิตสื่อนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชาหรือกัญชง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เกินปริมาณตามที่กระทรวงสาธารณสุขที่กำหนด เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชาหรือกัญชง
  5. การใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อการรักษาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด และการใช้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือ หัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ
  6. นอกจากแนวทางที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้แล้ว ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ หรือหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดและในกำกับ อว. อาจออกมาตรการหรือแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาและอันตรายที่อาจเกิดจากกัญชาหรือกัญชงได้ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ อว.นั้นๆ ได้

ข้อมูลอัปเดต ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2565

related