svasdssvasds

อาหารแห่งอนาคต อาหารจานโปรดของคุณจะยังเหมือนเดิมไหมในปี 2050

อาหารแห่งอนาคต อาหารจานโปรดของคุณจะยังเหมือนเดิมไหมในปี 2050

ชวนส่องอาหารแห่งโลกอนาคต วิกฤตขาดแคลนอาหารที่เลวร้ายจะทำให้อาหารของเราเปลี่ยนแปลงอย่างไร อาหารแห่งอนาคตปี 2050 จะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง? เราจะรับมือเรื่องนี้ยังไง?

อาหารจานโปรดตอนนี้ของคุณคืออะไร และคิดว่าในปี 2050 อาหารจานโปรดของคุณจะยังคงวัตถุดิบเดิมหรือไม่?

คำว่า ‘ธรรมชาติคัดสรร’ ที่หลายคนมักพูดถึงอาจจะไม่เกินจริงในอนาคตอันใกล้ก็ได้ ภัยคุกคามที่หลายคนในสังคมยังคงมองข้ามกำลังเข้ามาประชิดตัวเรื่อย ๆ ความอยู่รอดที่แท้จริงคือการปรับตัว ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นคือผู้อยู่รอด ในความแข็งแกร่งนี้ไม่ได้หมายถึงพละกำลัง แต่หมายถึงไหวพริบในการรับมือและความรอบคอบเตรียมพร้อมต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

หนังไซไฟเรื่อง Martain ได้เล่าเรื่องของชายนักบินอวกาศที่บังเอิญไปพลัดหลงอยู่บนดาวอังคารและกลับโลกไม่ได้ ด้วยเสบียงที่เหลืออยู่จะทำยังไงให้เขาอยู่รอดบนดาวดวงนี้กับความหวังอันริบหรี่ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาต้องเอาตัวรอดด้วยสติปัญญาของตนเอง เขาพยายามปลูกพืชบนดวงดาวที่ไม่มีสิ่งชีวิตอื่นใดเลยแม้กระทั่งพืช แต่ด้วยความฉลาดก็ทำให้เขาลงมือทำในสิ่งที่หลายคนทำไม่ได้และคิดว่าไม่สามารถทำได้ด้วย เขาสามารถปลูกพืชบนดาวอังคารเพื่อประทังชีวิตได้ จนสามารถรอดกลับลงมายังโลกได้ด้วยความหวังที่มีเพียงน้อยนิดเท่านั้น

หนังเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะกล่าวว่า เมื่อใดที่มนุษย์จนตรอก มนุษย์จะหาทางแก้ไขได้เสมอ แม้สภาพแวดล้อมจะบีบบังคับให้ภารกิจของเรายากขึ้นก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ เคยคิดหรือไม่ว่า เมื่อโลกของเราเริ่มขาดแคลนอาหารเราจะเอาตัวรอดกันอย่างไร เราจะสามารถเอาตัวรอดเหมือนนักบินอวกาศคนนั้นได้หรือไม่ โลกใบนี้และในศตวรรษนี้ได้เกิดปัญหามากมายที่แจ่มชัดจากน้ำมือมนุษย์เอง ประชากรของโลกเริ่มมีจำนวนมากขึ้น เติบโตมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกอาจมีมากถึง 10 พันล้านคน ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องบริโภคอาหารมากกว่าการผลิตถึงร้อยละ 56 ตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)

ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ขาดแคลนอาหารในอนาคต

  • ประชากรเพิ่มขึ้น

น่าเสียดายที่พื้นที่การเกษตรกรรมอาจจะไม่เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและคุณจะต้องสูญเสียอาหารจานโปรดของคุณไป ประชากรที่เพิ่มขึ้นหมายความว่า การผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนทั้งโลกนั้นจะต้องเพิ่มขึ้น และจะเกิดการแย่งชิงวัตถุดิบกัน ซึ่งในส่วนของวัตถุดิบก็จะหายากขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ผู้คนยังต้องเผชิญกับภาวะข้าวของแพงทั้งแผ่นดินอีกด้วย แม้ว่าประชากรจะเยอะขึ้นจนหลายคนคิดว่า ของอาจจะถูกลงเพื่อให้หลายคนเข้าถึงได้ แต่ไม่เลย สิ่งเหล่านั่นจะเป็นบ่อโชคลาภของใครหลายคนให้ขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ

  • ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘อาหารช็อก’ อย่างรุนแรง พื้นที่ที่แห้งแล้งจากผลกระทบของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและการแปรปรวนของอากาศทำให้พืชผลรวน เติบโตไม่แข็งแรง จนแห้งเหี่ยวและตายไป ซึ่งอาจส่งผลให้เมล็ดพันธุ์ของพวกมันอ่อนแอลงไปด้วย ไม่ทนต่อสภาพอากาศที่อาจแปรปรวนรุนแรงกว่าเดิมในอนาคต

ยกตัวอย่างของ ซอสพริกศรีราชาในสหรัฐอเมริกาขาดแคลน เนื่องจากขาดแคลนพริกขี้หนูที่เป็นวัตถุดิบหลัก และเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แห้งและร้อนขึ้น ทำให้พริกไม่ได้คุณภาพตามกำหนด ขาดแคลนและราคาแพงขึ้น แม้ว่าสิ่งนี้ไม้ได้เป็นเหตุฉนวนแรกที่เริ่มนำเราเข้าสู่วิกฤตขาดแคลนอาหาร

 เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

และแน่นอน วัตถุดิบขาดแคลนแบบนี้ จะทำให้มันหายากและราคาแพงขึ้น การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมาก ต่อพืชผลทางการเกษตร โดยสลักสำคัญคือ ทำให้พันธุกรรมของพืชเปลี่ยนแปลงไปเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปด้วย

  • ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอาหารที่จำเป็น

กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาคาดว่า แม้ว่าความยากจนทั่วโลกจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังคงหิวโหยอยู่บนโลกใบนี้อีกจำนวนมากเช่นกัน เพราะในปัจจุบันเรายังมีการจำแนกประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนอยู่เลย และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น ภาวะโลกร้อนนี่แหละ ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกมากที่สุด ด้วยการขัดขวางความพร้อมของอาหาร ลดการเข้าถึงอาหาร และทำให้การใช้ประโยชน์ของอาหารมีความยากขึ้น

ความยากจนสร้างความขัดสนในเรื่องอาหารมากที่สุด ยกตัวอย่างในประเทศแถบแอฟริกาที่พบเจอปัญหานี้บ่อยสุด ประชากรในประเทศขาดแคลนอาหาร และมีภาวะขาดสารอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก แม้ว่าหลายองค์กรจะเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนเรื่องอาหารการกินไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น

หลายพันล้านคนทั่วโลกยังคงขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ทำให้ประชากรหลายคนเป็นโรคขาดสารอาหาร และเด็กทารกหลายคนล้มตายจำนวนมาก สงครามรัสเซียยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ก็มีส่วนทำให้วิกฤตขาดแคลนอาหารรุนแรงขึ้น ไม่ว่าตอนนี้อาหารจานโปรดของคุณจะเป็นอย่างไร แต่มีแนวโน้มว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า มันจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง และมุมมองเกี่ยวกับความยั่งยืนของอาหารที่เรากินจะเปลี่ยนไปในอนาคต

เราจะเอาตัวรอดจากเรื่องนี้อย่างไร?

เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์จากหลายแห่งจึงได้รวบรวมวิธีและแนวคิดเพื่อให้เราสามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตความไม่มั่นคงด้านอาหารที่กำลังมาถึง ผู้เชี่ยวชายจาก Royal Botanic Gardens ในเมืองคิวจากลอนดอนได้กล่าวว่าแคลลอรีส่วนใหญ่ที่มนุษย์ได้รับมาจาก พืชผลเพียง 15 ชนิดเท่านั้น

“เรารู้ว่ามีพืชที่บริโภคได้หลายพันชนิดทั่วโลกที่บริโภคโดยประชากรที่แตกต่างกันออกไป การหาวิธีแก้ปัญหาสำหรับเรื่องนี้คือสิ่งที่ท้าทายระดับโลกเลย สำหรับอนาคตของเรา”

จากพืชที่รับประทานได้กว่า 7,000 ชนิดทั่วโลก จะมีเพียง 417 ชนิดเท่านั้น ที่สามารถปลูกและใช้เป็นวัตถุดิบอาหารได้ในอนาคต

ประเภทอาหารแห่งปีอนาคตปี 2050

ในอนาคตที่จะต้องจัดการกับความท้าทายหลายอย่างพร้อมกัน ผู้บริโภคจะไม่ถูกทิ้งให้ไม่มีทางเลือก ท้ายที่สุดแล้ว การกินสามารถตอบสนองความต้องการทางอารมณ์และสังคมได้ นอกเหนือจากการให้สารอาหาร วัฒนธรรมอาหารส่วนสำคัญของสังคมส่วนใหญ่ และคนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ถ้าที่กล่าวไปข้างต้นเป็นพืชที่จำเพาะไปล่ะก็ งั้ลองมาดูเทรนด์ประเภทอาหารแห่งอนาคตดูไหมว่ามีอะไรบ้างที่นักวิจัยคาดว่ามันจะกลายเป็นอาหารในอนาคตของเรา และตอนนี้มันก็ได้เริ่มทำหน้าที่ของมันแล้ว

  • แมลง

หลายวัฒนธรรมบนโลกนี้ โดยปกติแล้วมีวันธรรมหรือประเทศที่มีการกินแมลงเป็นอาหาร ยกตัวอย่างประเทศไทย ที่มีอาหารเป็นสตรีทฟู้ดเต็มไปหมด และมีผู้คนเกือบ 2 พันล้านคนกินแมลงเป็นปกติอยู่แล้วในวัฒนธรรมของตนมานานหลายศตวรรษแล้ว

ไม่เพียงแต่แมลงจะเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยโปรตีนและสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และกรดอะมิโนเท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในด้านของการเจริญเติบโต ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกน้อยกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างมาก

  • สาหร่าย

สาหร่าย หรือบางครั้งก็เรียกว่า ผักทะเล เป็นเทรนด์อาหารอีกอย่างหนึ่งที่รุกเข้าสู่นิสัยการบริโภคของเราแล้ว คุณอาจเคยกินพวกมันในซูชิ หรือในรูปของสาหร่ายแปรรูปในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งอาหารเสริมยอดนิยมสำหรับคนรักสุขภาพ เช่นเดียวกับแมลง 

สาหร่ายยังก่อให้เกิดอันตรายเพียงเล็กน้อยต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีสารอาหารมากมาย ทำให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด ในการเป็นอาหารแห่งอนาคต ตัวอย่างเช่น บริษัทสตาร์ทอัพ Cascadia Seaweed ในแคนาดา ได้ดำเนินการทำฟาร์มนอกชายฝั่งและโรงเพาะเมล็ดแล้ว และตอนนี้ก็เน้นที่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้บริโภค

  • เนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based meat)

มีการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชโมเลกุลที่เรียกว่า heme ที่สามารถรับรสชาติและเนื้อสัมผัสแบบเนื้อสัตว์ได้ กำลังถูกดัดแปลงเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ส่วนผสมอื่น ๆ เช่น โปรตีนจากข้าวสาลี น้ำมันมะพร้าว และแป้งมันฝรั่ง ก็มีส่วนช่วยในการสร้างสรรค์ทางเลือกจากพืชแทนเนื้อสัตว์ และตลาดนี้ก็กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดย IPO ประสบความสำเร็จมากที่สุดงานหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นของ Beyond Meat ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชายด้านผลิตด้านผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากพืช

plant based products Cr.green queen

  • เนื้อที่ปลูกในห้องปฏิบัติการ (Lab-grown meat)

สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่าเนื้อสัตว์จากพืชเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาจากสัตว์ มีทางเลือกอีกหนึ่งทางคือ การปลุกในห้องปฏิบัติการซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นเนื้อสัตว์จริง ยกเว้นแต่ว่าไม่มีสัตว์ถูกฆ่าหรือถูกทำอันตรายในกระบวนการนี้ เบอร์เกอร์ชิ้นแรกที่ทำจากเนื้อสัตว์ในห้องทดลองมีราคาสูงถึง 325,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 11 ล้านกว่าบาทเพื่อคืนทุนในปี 2013

อย่างไรก็ตาม บริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทหลายแห่งกำลังมีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อสัตว์ในห้องปฏิบัติการ ด้วยรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อจริงอย่างไม่น่าเชื่อ เนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องปฏิบัติการกำลังอยู่ในแนวทางที่ดีในการทำให้แนวคิดเรื่องการปลูกสัตว์เพื่อการฆ่าเป็นเรื่องผิดสมัย

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้นทุนของเบอร์เกอร์ที่ปลูกในห้องปฏิบัติการได้ลดลงเหลือเพียง 12 ดอลลาร์ หรือ 420 กว่าบาท AT Kearny ประมาณการว่า ตลาดโปรตีนที่ปลูกในห้องปฏิบัติการอาจมีสัดส่วนถึง 35% ของตลาดเนื้อสัตว์ทั่วโลก ภายในปี 2040 ด้วยความเร็วของการพัฒนา

อนาคตของอาหารดูไฮเทคและไม่มีรสชาติหรือไม่? เรื่องนี้อาจไม่จำเป็น เนื่องจากอาหารอาจถูกกำหนดเพื่อให้มีสุขภาพดีขึ้น บางครั้งก็มีรสชาติดีขึ้น และอาจยั่งยืนกว่า โดยรวมแล้ว ทางเลือกเหล่านี้คาดว่าจะดีต่อโลกและสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ อาหารจะถูกผลิตและบริโภคแตกต่างออกไปอย่างแน่นอนในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

คุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับอาหารแห่งอนาคต อาหารจานโปรดของคุณจะยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่?

ที่มาข้อมูล

https://www.hdi.global/infocenter/insights/2021/future-of-food/

https://www.bbc.com/news/science-environment-61505548

https://www.bbc.com/news/business-61523624

related