svasdssvasds

คนไทยใจดี เช็กลิสต์ 5 ข้อก่อนคิดบริจาค-เรี่ยไรเงิน

คนไทยใจดี เช็กลิสต์ 5 ข้อก่อนคิดบริจาค-เรี่ยไรเงิน

การบริจาคเงิน เป็นวิธีการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งคนและสัตว์ ยิ่งคนไทยเป็นคนขี้สงสาร เมื่อเห็นใครลำบากก็อยากจะยื่นมือช่วย แต่ก็อาจจะกลายเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสนี้ เป็นช่องทางเรี่ยไรเงินเพื่อประโยชน์อื่น เช็กกฏหมายเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบด่านแรก

จากประเด็นร้อน เพจ หมามะเร็ง Dogs Cancer กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ กับการโพสต์ขอรับบริจาคและประกาศยุติเพจ
บ่อยครั้งจนเป็นที่น่าสงสัย โดยบัดนี้ยังไม่ได้ขอสรุปว่าแท้จริงแล้วเส้นทางการเงินและจุดประสงค์การใช้เงินตรงกับที่แจ้งไว้หรือไม่ 

แต่ก็ทำให้ทาสหมา ทาสแมว ใจดี ต้องเสียความรู้สึกไปไม่น้อย เพราะเงินที่โอนให้หวังให้ว่าจะได้ไปช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์และเจ็บป่วยจริงๆและกลายเป็นว่าคนที่มีเจตนาบริสุทธิ์จริงๆ ต้องลังเลที่จะโอนช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการ 

จริงๆ แล้วมีกฏหมายระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ขอรับบริจาคไม่ว่าจะแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ต้องมีการขออนุญาตตามระเบียบกันก่อน ดังนี้ กฏหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ระบุไว้ว่า 
มาตรา 6  การเรี่ยไรเงินซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการ เทศบาลหรือสาธารณประโยชน์จะจัดให้มีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับแก่การเรี่ยไรเงินซึ่งกระทรวง ทบวงหรือกรมเป็นผู้จัดให้มี

ใบอนุญาตเรื่ยไร มี 2 ประเภท ดังนี้

  • ประเภท ร.3 เป็นใบอนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไรเงิน โดยหัวหน้าหน่วยหรือประธานมูลนิธิเป็นคนขอในใบจะระบุว่า
  1. เรี่ยไรเพื่อวัตถุประสงค์ใด 
  2. จำนวนเงินที่จะเรี่ยไร 
  3. วิธีทำการเรี่ยไร 
  4. วันเวลาที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไร
  5. วันหมดอายุ
  • ประเภท ร.4 เป็นใบอนุญาตให้ทำการเรี่ยไร จะระบุรายละเอียดที่อนุญาต ให้ทำการเรี่ยไร ถ้าเป็นการเรี่ยไรโดยแต่งตั้งตัวแทนเพื่อทำการเรี่ยไร คนที่มาทำการเรี่ยไรแทนจะต้องมีรายชื่อในใบอนุญาตเท่านั้น ใบอนุญาตทั้งหมดที่กล่าวมาจะต้องใช้เอกสารตัวจริงเท่านั้น 

พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน 2559 ระบุไว้ว่า 
มาตรา 13 ห้ามบุคคลใดทําการขอทาน การกระทําอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน

  1. การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความหรือการแสดงกิริยาอาการใด
  2. การกระทําด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้การแสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีหรือการแสดงอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือ ทรัพย์สินจากผู้ชมหรือผู้ฟัง การขอเงินหรือทรัพย์สินกันฐานญาติมิตร หรือการเรี่ยไรเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร ไม่ถือว่าเป็นการขอทานตามพระราชบัญญัติ

โดยมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เปิดศูนย์บริการประชาชนบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนหรือหน่วยงานที่ต้องการเปิดทำการเรื่อไร กรอกข้อมูลแบบฟอร์มเอกสารทั้งหมด 8 ฉบับให้ครบเรียบร้อยเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาต

เบื้องต้นนี้จึงอยากรวบรวมเช็กลิสต์ที่ต้องตรวจสอบกันก่อนกดโอน

  1. สติ! คิดเสมอว่าก่อนโอนหรือให้เงินต้องเช็กก่อน
  2. เลือกบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ โรงเรียน โรงพยาบาล แทนบัญชีส่วนตัวเพราะจะสามารถตรวจเช็กสืบกลับไปได้ว่าใครนำเงินไปใช้ในกิจกรรมใดบ้าง
  3. ถ้าเป็นเพจทั่วไป ควรเช็กความเคลื่อนไหวของเพจ รายละเอียดการใช้เงินรับบริจาค
  4. นำรายละเอียดที่ผู้รับบริจาคเขียน เช่น ชื่อ เลขบัญชี นำไปเช็กในกูเกิ้ลเพื่อสืบว่ามีใครเคยโดนชื่อที่อ้างนี้เคยเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงหรือไม่
  5. ถ้าพบเห็นบุคคลหรือเพจที่น่าสงสัย สามารถแจ้งให้ กรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมเลี่ยงภาษีต่างๆ ได้ ที่นี่ 

ส่วนใครที่อย่างสนับสนุนหน่วยงานและมูลนิธิที่มีความน่าเชื่อถือ กรมสรรพากร เปิดบริการแบบ e-donation สำหรับโอนเงินให้กับมูลนิธิที่ลงทะเบียนข้อมูลทางออนไลน์ไว้ซึ่งการบริจาคให้กับมููลนิธิจะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และน่าเชื่อถือกว่า  

สำหรับใครที่เปิดรับเงินเอาไปใช้เรื่องไม่เกี่ยวกับการช่วยเหลือ จะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง จำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกหมื่นทั้งนี้ถ้าเป็นการโพสต์ออนไลน์ทำให้มีคนเห็นเป็นแบบสาธารณะ มีโทษ จำคุกสูงสุดห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสน

ที่มา

1 2 3 4