ทำความรู้จัก "สับปะรดสีชมพู" หรือ "สัปปะรดเนื้อสีชมพู" คืออะไร ทำไมพืชตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) ถึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม และทำไม อย. ถึงประกาศเตือนห้ามถือครอง
กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจทันที เมื่อมีการพบ "สับปะรดสีชมพู" หรือ "สัปปะรดเนื้อสีชมพู" เผยแพร่เป็นโฆษณาจำหน่ายบนโซเชียล โดยได้รับการแจ้งเบาะแสมาโดยตลอด ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เปิดเผยว่ามีการนำเข้ามาเป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้ว แต่ยังมีการทะลักเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
สับปะรดดังกล่าวใช้ชื่อการค้าว่า Pinkglow® pineapple ซึ่งเป็นของบริษัท DEL MONTE ประเทศคอสตาริกา โดยพัฒนาพันธุ์สับปะรดให้มีเนื้อสีชมพูด้วยกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Pineapple : GMO) ที่มีการประกาศขายออนไลน์ในประเทศไทย จึงเร่งรัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสับปะรดจีเอ็มโอในประเทศไทย เร่งออกประกาศเรื่องผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอรวมถึงฉลากจีเอ็มโอ และร่วมกันเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนที่พืชผักผลไม้จีเอ็นโอจะปนเปื้อนพืชท้องถิ่นสร้างปัญหาการปนเปื้อน การส่งออก และผลกระทบต่อผู้บริโภค
ปกติแล้วสัปปะรดเป็นผลไม้ที่รู้จักในฐานะที่มีสีเหลือง แต่ "สับปะรดสีชมพู" หรือ "สัปปะรดเนื้อสีชมพู" เกิดจากการตกแต่งพันธุกรรม โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ บอกว่า "สัปปะรดสีชมพูดตกแต่งพันธุกรรมเพื่อให้เนื้อมีสีชมพูและรสหวาน ทั้งยังมีความปลอดภัยสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างกันกับสีเหลือง"
โดยปกติแล้วประเทศไทยมีนโยบายปลอดพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด พร้อมทั้งเตือนประชาชนไม่ให้นำเข้าพืชดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนในการซื้อขาย หากผู้ใดครอบครองจะผิดตามกฎหมาย
ล่าสุด นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดแถลงข่าว เรียกร้องให้ภาครัฐจัดการปัญหาลักลอบนำเข้า ผักผลไม้จีเอ็มโอ โดยเฉพาะสับปะรดสีชมพูนั้น ทาง อย. ได้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมาย โดยกำหนดให้อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือ GMO เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย เว้นแต่ผ่านการประเมินความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กำหนด
รวมทั้งแก้ไขให้อาหาร GMO ทุกชนิดต้องแสดงฉลากตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการแสดงฉลากครอบคลุมอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม
นอกเหนือไปกว่านั้นขณะนี้ ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับทางกฎหมายต่อไป
อย. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฝ้าระวังการนำเข้าสับปะรดสีชมพูอย่าง เข้มงวด และจากการตรวจสอบของทั้ง 2 หน่วยงาน ไม่พบข้อมูลการนำเข้าสับปะรดสีชมพู แต่จากการที่พบมีการจำหน่ายเชื่อว่าไม่ผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย "ทั้ง 2 หน่วยงานจะประสานกับกรมศุลกากรเพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสับปะรดสีชมพูเข้ามาในประเทศต่อไป"
สับปะรด จัดเป็นอาหารทั่วไป ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การนำเข้าซึ่งอาหาร เพื่อจำหน่ายต้องมีใบอนุญาตนำเข้า และผ่านการตรวจสอบของด่านอาหารและยา แต่สับปะรดสีชมพูเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 การนำเข้าจึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว