หลังจากกฎหมาย PDPA เริ่มบังคับใช้ ส่งผลให้ทั้งประชาชนและหน่วยงานต่างตื่นตัวเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น การถ่ายภาพ-คลิปต้องขออนุญาตเจ้าตัวก่อนถ่าย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากล้องวงจรปิดในห้างและตู้ ATM หรือแม้กระทั่งขึ้นเวทีถ่ายรูปต้องทำเรื่อง-เซ็นต์เอกสารไหม ?
ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวในงานสัมมนา “แนวทางการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ไม่ได้มีเจตนาให้หน่วยงานต่าง ๆ เกรงกลัวจนทำอะไรไม่ได้เลย การขอการยินยอมให้บันทึกข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้น
"ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราในการขอการยินยอมจากบุคคลต่าง ๆ ในการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลในงานสาธารณะ เช่น การเชิญขึ้นมาถ่ายภาพบนเวที เราก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แค่ให้พิธีกรบอกว่า ขอเชิญขึ้นมาถ่ายภาพ เพื่อประชาสัมพันธ์งานเสวนาวันนี้ แล้วแขกยินยอมขึ้นมาถ่าย แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการยินยอมแล้ว ซึ่งถ้าหากแขกไม่ยินยอมให้ถ่ายภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นไปถ่ายภาพ เพราะเมื่อแขกมางานสาธารณะ แขกรู้ว่ามีการถ่ายภาพ ก็ถือเป็นการยินยอมให้บันทึกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ใบหน้า-ชื่อในป้ายที่โต๊ะ"
ดร.มนต์ศักดิ์ มองว่า การขอการยินยอมให้บันทึกภาพ ไม่จำเป็นต้องเซ็นต์ลายเซ็นต์เป็นเอกสารเสมอไป แต่มีหลักฐานอื่น ๆ เช่น วิดีโอที่พิธีกรพูดว่าขอเชิญขึ้นมาถ่ายรูป ก็สามารถทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้
ในโลกความเป็นจริง มีอะไรที่ขอการยินยอมโดยที่เราไม่สังเกตุบ้าง ?
ย้อนกลับมาในโลกความเป็นจริง ป้ายหนึ่งที่เรามักลืมหรือไม่ทันสังเกตุ คือ ป้ายกล้องวงจรปิด CCTV "สถานที่แห่งนี้มีการบันทึกภาพด้วยกล้องวงจรปิด เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย" ที่ติดไว้ในห้างสรรพสินค้าและตู้ ATM สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การเตือนให้มิจฉาชีพรู้ แต่เป็นการบอกให้เราทราบและขออนุญาตถ่ายภาพเราเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย
ขณะที่งานสาธารณะอื่น ๆ เช่น งาน Brick LIVE งานแสดงเลโก้ ที่เปิดให้เด็ก ๆ ซื้อบัตรเข้ามาเล่นเลโก้ ก็มีการติดป้ายหน้างานว่าภายในงานมีการบันทึกภาพเพื่อประชาสัมพันธ์งาน ขณะที่งานคอนเสิร์ตต่าง ๆ ก็เริ่มมีการติดป้ายว่ามีการบันทึกภาพจากทีมงานมาตั้งแต่ช่วงที่กฎหมายนี้เริ่มเปิดตัวแล้วเช่นกัน