เพลงรักเป็นหนึ่งในสิ่งที่บันทึกประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย สิ่งหนึ่งที่ทำใส่สิ่งเหล่านี้บันทึกไว้ คือ เทคโนโลยีการสื่อสารของคนรักในเพลง ซึ่งบางครั้งคนรุ่นใหม่ที่มาฟังอาจ งง ว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ?
ปกติแล้วเพลงรักนอกจากการนำความรักมาพรรณนา เล่า อธิบาย ด้วยคำที่สละสลวย หรือบางครั้งก็แปลงมาด้วยสแลงที่ออกไปในแนวส่อเสียดทางเพศสุด ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในเนื้อเพลงและบอกเราประวัติศาสตร์การสื่อสารของมนุษย์ลงไปก็อยู่ในเพลงรักนี่แหละ แล้วคุณเคยผ่านประสบการณ์การบอกรัก-คิดถึง ด้วยวิธี-เทคโนโลยีการสื่อสารแบบเพลงเหล่านี้ไหม ?
เริ่มต้นด้วยเพลง Please Mr Postman ของวง เดอะคาร์เพนเทอส์ ของสองพี่น้อง ริชาร์ดและแคเรน คาร์เพนเทอส์ เพลงนี้ถูกวางจำหน่ายในปี พ.ศ.2518 โดยเยื้อหาของเพลงเป็นเรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังรอจดหมายฉบับหนึ่งจากคนรักของเธอ อย่างไร้จุดหมาย โดยหวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมาหาเธอ ด้วยการรอบุรุษไปรษณีย์ในทุก ๆ วันและขอให้เขารื้อกระเป๋าไปรษณีย์ของเขาดูอีกทีว่ามีจดหมายส่งถึงเธอไหม
วิธีการสื่อสารที่หญิงสาวในเพลงนี้ใช้ คือ จดหมาย รูปแบบการสื่อสารแบบเก่าที่ในสมัยก่อนอาจใช้เวลาหลายวันในการติดต่อ ไม่รู้ว่าผู้รับจะได้รับเมื่อไหร่ เพราะไม่มีอินเทอร์เน็ตในการเช็กเลข Tracking และถ้าเขียนที่อยู่ผิดหรือที่อยู่เก่า เราก็จะไม่สามารถติดต่อเขาได้เลย
ดังนั้นคนในสมัยก่อนหากนัดทางไกลกันทางจดหมาย เวลาและสถานที่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะถ้าคุณมาสายหรือหลง คือ จบ
ในยุคถัดมาที่การสื่อสารรวดเร็วขึ้น เราเริ่มสามารถโทรศัพท์ทางไกลได้ การติดต่อกันด้วยเสียงจึงเข้ามามีบทบาทในเนื้อเพลง โดยเพลง I Just Called to Say I Love You ผู้พิการทางสายตา-ผิวสี สตีวี วันเดอร์ วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2527 โดยเนื้อหาของเพลง คือ การโทรหาคนรักเพียงเพื่อบอกว่า ฉันรักคุณ ฉันแคร์คุณมากแค่ไหน ซึ่งตัวเนื้อเพลงเกริ่นว่าวันนี้ไม่ใช่วันสำคัญอะไรทั้งนั้นฉันแค่อยากโทรหา
หากย้อนกลับไปในยุคนั้นการสื่อสารผ่าน โทรศัพท์ เป็นเรื่องที่มีค่าบริการสูงและมีความสำคัญมาก หากใครที่ดุเรื่อง คังคุไบ ต้องจองเวลาโทรด้วยนะ! เพราะเมื่อเราพลาดสายไปแล้วเราจะไม่รู้เลยว่าใครโทรมาในสมัยนั้น ดังนั้นการโทรหามักเป็นการโทรหากันในเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของเพลงนี้ว่า ทำไมการโทรหาเพื่อบอกรัก ถึงมาเป็นเพลงได้
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ
ในยุคถัดมาการติดต่อสื่อสารเริ่มทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีราคาที่สูงอยู่ การสื่อสารไร้สายด้วยเสียงยังเป็นของที่มีราคาสูงมากอยู่ ดังนั้นจึงมีอุปกรณ์ชื่อ เพจเจอร์ เป็นอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่มีแค่จอและปุ่มกดไม่กี่ปุ่ม เวลาที่คนจะติดต่อสื่อสารกันก็ต้องโทรเข้าศูนย์ เพื่อบอกเบอร์เพจเจอร์และข้อความที่จะส่ง เป็นข้อความสั้น ๆ ซึ่งถ้าเป็นประโยคจีบกัน... ใช่ครับ ... คุณก็ต้องบอกคอลเซ็นเตอร์ที่ศูนย์ว่า คุณจะจีบแฟนด้วยข้อความอะไรบ้าง
ช่วงเวลาคร่าว ๆ ที่เพจเจอร์ ถูกใช้งานในไทย คือช่วงปี พ.ศ. 2530 และยี่ห้อที่เข้ามาในไทยเป็นเจ้าแรกคือ Paclink สมัยนั้นราคาราว 5,000 บาท/เครื่อง การใช้งานแพร่หลายมากจนกลายเป็นที่มาของเพลง ไอ้หนุ่มแพคลิ้งค์ ของ ยิ่งยง ยอดบัวงาม ที่มีใจความสุดตรงว่า “วันไหนถูกทิ้ง แพ็กลิ้งค์มาบอก บอกให้ได้รู้ จะรีบไปอยู่ คอยดูเอาใจ”
จะเห็นได้ว่าการสื่อสารเริ่มเร็วขึ้น จากยุคไปรษณีย์ มาจนถึงยุคเพจเจอร์ ที่แค่ข้อความดัง อยู่ที่ไหนก็จะรีบไปหาได้ทันที ต่างจากโทรศัพท์ที่อาจจะต้องคุยหมุนหาเบอร์ที่สำนักงานหรือที่บ้าน เพื่อรอว่าเขาจะรับไหม
ยุคต่อมาพอโทรศัพท์มือถือถูกลง เปลี่ยนจากคุยโทรศัพท์กระดูกหมา มาเป็นเครื่องเล็ก ๆ จากราคาหลักแสนมาเหลือหลักหมื่น คนเริ่มจะบต้องได้มากขึ้น การโทรคุยกันด้วยเสียงทำได้ง่ายขึ้น เวลาเราพลาดการรับสายใครก็แสดงว่าใครโทรมา จึงทำให้เกิดพฤติกรรม “ไม่อยากรับสาย” ขึ้น
เพลง ช่วยรับที ของ เบิร์ด ธงไชย วางจำหน่ายช่วงปี พ.ศ.2550 เป็นเนื้อเรื่องของชาย-หญิงคู่หนึ่งที่ทะเลาะกันเพราะจำวันสำคัญไม่ได้ ทำให้ฝ่ายหญิงงอนและตัดสินใจจะจบความสัมพันธ์ ขณะเดียวกันฝ่ายชายก็พยายามโทรหานับครั้งไม่ถ้วนแต่กลับไม่รับสักครั้ง
“หากตรงนั้นมีใครใจดี ได้ยินเสียงนี้ดัง บอกเจ้าของเครื่องนี้ให้รับ มันสักครั้งได้ไหม”
แสดงให้เห็นว่าเวลาผ่านไปการสื่อสารเร็วขึ้น การสื่อสารที่เร็วขึ้นเริ่มทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น จากหลักเดือน สัปดาห์ วัน มาเป็น ชั่วโมง และ นาที
ในยุคถัดมาเมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มจับต้องได้มากขึ้น ประกอบกับโปรแกรมแชทของไมโครซอฟต์ อย่าง MSN เริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มวัยรุ่นไทยมากขึ้น จึงกลายเป็นเพลง MSN ของ เฟย์ ฟาง แก้ว ที่กลุ่มวัยรุ่นมักจะรอให้เพื่อน ๆ หรือ คนรักล็อคอินเข้ามาออนไลน์ในระบบของ MSN เพื่อแชทหากัน โดยจัว MSN เองมีระบบที่ผู้ใช้สามารถปิดตัวเองให้แสดงว่าจัวเองออฟไลน์อยู่เพื่อหลบใครสักคนที่มาชอบแต่เราไม่ได้ชอบกลับได้
ในช่วงยุค MSN มาจนถึง LINE ก็มีการแชทหลายหลายแพลตฟอร์มตั้งแต่ Blackberry ไปจนถึงแชท Facebook แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเรื่องของวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่ยังไม่ค่อยได้ปรับใช้ในชีวิตประจำวันกัน จนมาถึงยุคที่แอปพลิเคชัน LINE เข้ามามีบทบาท ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ต่างใช้แอปฯนี้ในการสนทนา ซึ่งเพลง อยู่ดีๆก็... ของ WONDERFRAME แสดงให้เห็นถึงการสื่อสารที่สั้นลงมาก ๆ เมื่อเทียบกับหลาย ๆ เพลงที่กล่าวมา
เพราะในแอปฯ LINE สามารถดูได้ว่าผู้รับอ่านข้อความหรือยัง ส่งไปตั้งแต่เมื่อไหร่ กลายเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ว่า ทำไมไม่ตอบ-อ่าน LINE ทั้ง ๆ ที่ผู้รับอาจจะไม่ได้จับโทรศัพท์มือถือ นั่งเล่นเกม หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ อยู่ ในเนื้อเพลงเลยทำให้ฝ่ายหญิงคิดไปไกลว่า หรือฉันจะเป็นแค่คนคุยเล่น เพราะเขาไม่ให้ความสำคัญกับ LINE ฉันเลย
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ เพลงที่มีการใส่เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาในเนื้อเพลง และบอกเล่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ผ่านผลงานของพวกเขาให้คนรุ่นหลังได้หันกลับมาดูว่าเมื่อก่อนความสำคัญของการสื่อสารแต่ละยุคเป็นอย่างไร ?
แล้วคุณเคยผ่ายยุคไหนมาบ้าง ?