svasdssvasds

เรียนรู้จาก 3 บริษัท "มหาชน" ต้นแบบด้าน ESG ในประเทศไทยที่ไปผงาดในเวทีโลก

เรียนรู้จาก 3 บริษัท "มหาชน" ต้นแบบด้าน ESG ในประเทศไทยที่ไปผงาดในเวทีโลก

บริษัท "มหาชน" ต้นแบบด้าน ESG ที่จะมาถ่ายทอดกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนตามแนวคิด ESG ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC

สำหรับ Session 1 "ต้นแบบด้าน ESG ไทยพร้อมกลยุทธ์ที่พาองค์กรไปผงาดในเวทีโลก" ในงาน SPRiNG News Special Forum : INNOVATION x SUSTAINABILITY นวัตกรรมนำธุรกิจยั่งยืน มี 3 องค์กรต้นแบบที่มาเผยกลยุทธ์ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ว่า "การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน" นั้นเป็นอย่างไร

เรียนรู้จาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

โดย ดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการลงทุน และหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

เรียนรู้จาก 3 บริษัท \"มหาชน\" ต้นแบบด้าน ESG ในประเทศไทยที่ไปผงาดในเวทีโลก

ดาเนียลกล่าวถึงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ว่า บีทีเอส เป็นกลุ่มธุรกิจทางรางแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเป็นอันดับ 1 ของโลกจากการจัดอันดับดัชนี DowJones ในด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น เพราะการที่ผู้โดยสารเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ก็จะไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ และตั้งแต่บีทีเอสเริ่มให้บริการรถไฟฟ้า จนเดินรถไปแล้วมากกว่า 3,600 ล้านเที่ยว เท่ากับเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 1.9 ล้านตัน

รายชื่อบริษัทในไทยที่เข้าไปอยู่ใน The Sustainability Yearbook 2022 ของ S&P Global มี 41 บริษัท โดยมี 8 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับด้านความยั่งยืนขององค์กรในระดับ Gold Class นั่นคือ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ธุรกิจด้านคมนาคมขนส่งทางรางแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลนี้

ในด้านกลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น ดาเนียลเผยว่า ต้องมีธุรกิจที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิม บีทีเอสจึงกำหนดกลยุทธ์ 3M - Move Mix & Match ขึ้น โดย Move คือ มุ่งพาผู้โดยสารเดินทางจากต้นทางไปยังปลายทางในรูปแบบที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ ดูแลสภาพอากาศภายในรถตามหลัก ESG ส่วน Mix คือ ธุรกิจโฆษณาและธุรกิจเพย์เมนต์ (Rabbit Group) ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อเสริมแกร่งให้ธุรกิจเดิม และสุดท้าย Match คือ การร่วมทุนและลงทุนในภาคธุรกิจอื่นๆ

อ่านเพิ่ม

บีทีเอส เทียบให้เห็นว่า ปริมาณคาร์บอนขนาด 1 ตัน ใหญ่ขนาดไหน

หากพิจารณาในด้านการลงทุนในธุรกิจคมนาคมขนส่ง บีทีเอสต้องใช้งบมหาศาลและต้องบริหารธุรกิจนาน 30 ปี และในขณะที่เชื่อมั่นว่า รถไฟฟ้าจะเป็นธุรกิจที่มีความต้องการสูง แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายคือ เป็นธุรกิจที่ต้องมีภาระผูกพันกับรัฐบาล หากรัฐบาลไม่สนับสนุน ธุรกิจก็จะไม่มีความยั่งยืน

บีทีเอสจึงยินดีที่จะสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่งที่จะเกิดประโยชน์ต่อรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบอุปสรรคสำคัญ นั่นคือ นโยบายของภาครัฐในด้านการลงทุน พร้อมกับต้องคำนึงถึงการสร้างกำไรอย่างยั่งยืนร่วมด้วย

เรียนรู้จาก บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC

โดย ชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ "เคทีซี" หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

เรียนรู้จาก 3 บริษัท \"มหาชน\" ต้นแบบด้าน ESG ในประเทศไทยที่ไปผงาดในเวทีโลก

ชุติเดชเล่าย้อนว่า สถาบันการเงินในยุคอนาล็อก ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องไปชำระเงินที่เคาน์เตอร์ ต่อมา เคทีซีพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าดู Statement ผ่านแอป ตามมาด้วยเปลี่ยน คูปองส่วนลด ที่เคยอยู่ในรูปแบบซองไปเป็นแบบออนไลน์ การชำระค่าบัตรเครดิตในปัจจุบันก็สะดวกขึ้นอย่างมาก เพราะลิงก์กับบริการ NEXT ของกรุงไทย ซึ่งเชื่อมต่อกับไลน์ได้ ส่วนพาสเวิร์ดก็จะกำหนดผ่านระบบสุ่ม เพื่อให้คาดเดายากขึ้น

เคทีซียังเป็นแบรนด์แรกที่ให้ลูกค้ากำหนดวงเงินใช้จ่าย ขอเพิ่มวงเงินฉุกเฉินผ่านช่องทางออนไลน์ได้ และเมื่อหันไปใช้บริการออนไลน์ ไม่ต้องพิมพ์ Statement ช่วยให้ประหยัดกระดาษได้ 6 ล้านใบ ซึ่งเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 88 ไร่ในปีเดียว และถ้าเราทำอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ก็จะลดการใช้น้ำมัน ลดการปล่อยคาร์บอน นำไปสู่ความยั่งยืนในท้ายที่สุด

การเก็บ Data และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญมากและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้ เพราะหากเกิดความผิดพลาดอาจส่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือ 

เคทีซี พัฒนาแอปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในยุคดิติทัลผ่านทาง​ KTC Mobile Application

อีกส่วนคือ การทำงานในแง่กายภาพ กล่าวคือ Risk Management หรือ การบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งเคทีซีมุ่งป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ อุดรอยรั่วหรือช่องโหว่ในระบบ และยังเพิ่มศูนย์ดูแลการคุกคามทางไซเบอร์อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น หากระบบตรวจพบความผิดปกติหรือเกิดภัยคุกคามขึ้น ก็จะมีการแจ้งเตือน ป้องกัน หรือแก้ปัญหาแบบเรียลไทม์

และในขณะที่ฝั่งยุโรปให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยออกข้อบังคับใช้ด้าน PDPA ในฐานะที่บริษัทเก็บข้อมูลลูกค้าหลากหลายด้าน เคทีซีจึงเริ่มทำเรื่อง PDPA ตามมาตรฐานยุโรปทั่วทั้งองค์กร เตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากร โดยฝึกให้เข้าใจหลัก PDPA และมีความรัดกุมเพียงพอนับตั้งแต่ปี 2564 บริษัทจึงมีความพร้อมสำหรับการบังคับใช้ PDPA ในประเทศไทยที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะเดียวกัน ก็ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้าอีกทางหนึ่ง

เรียนรู้จาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY

โดย พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

เรียนรู้จาก 3 บริษัท \"มหาชน\" ต้นแบบด้าน ESG ในประเทศไทยที่ไปผงาดในเวทีโลก

พูนสิทธิ์กล่าวถึงเป้าหมายของ กรุงศรี ว่า มุ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนมาก โดยใช้กรอบ Sustainable คล้ายกับโมเดลของบีทีเอส กล่าวคือ ต้องการเพิ่มผลลัพธ์เชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบ 

ผลจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนตามแนวคิด ESG อย่างต่อเนื่อง กรุงศรีจึงโดดเด่นด้าน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและพิจารณามิติด้าน ESG และหมุดหมายในด้านสินเชื่อที่จะทำต่อไปคือ เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้สินเชื่อต่างกันไปตาม Positive Risk & Negative Risk และเพิ่มการเข้าถึง Gender Bond

Positive Risk หมายถึง อุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวก ปล่อยคาร์บอนน้อย เช่น การให้สินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง Green Building ส่วน Negative Risk กหมายถึง อุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมาก เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน โดยกรุงศรีจะลดการปล่อยสินเชื่อให้แก่อุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมาก โดยช่วยซัพพอร์ต High Carbon Intensity เพื่อลดผลกระทบเชิงลบ แต่ไม่ได้หยุดการทำธุรกรรมแต่อย่างใด

พันธกิจ วิสัยทัศน์​ และรางวัลด้านความยั่งยืนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

เรื่องการเข้าถึง Gender Bond หรือ พันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ กรุงศรีร่วมระดมทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ราว 6,500 ล้านบาท เพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารหรือเป็นเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นกู้ไปประกอบธุรกิจต่อได้ โดยต้องมีการดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด และต้องมีการกำหนดระยะเวลาที่จะบรรลุผล (Commitment) รวมถึงไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ

พันธบัตรดังกล่าวยังเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดการจ้างงานอีกหลายหมื่นอัตรา และหลังจากนี้ กรุงศรีก็จะเน้นไปที่การให้สินเชื่อแก่ Micro SME ธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรง ด้วยเงื่อนไขในการอำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อคือ ผู้กู้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม และต้องมีระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ 

จากการประเมินหลักทรัพย์จดทะเบียน ในปี พ.ศ. 2564 กรุงศรีได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในทำเนียบ ESG100 เป็นปีที่ 6 สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของกรุงศรีในการการบูรณาการด้าน ESG ทุกมิติ เข้ากับกระบวนการทำงานตามแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

ในด้าน ความเป็นกลางทางคาร์บอน กรุงศรีตั้งเป้าที่จะทำให้สำเร็จภายในปี 2030 และพอร์ตสินเชื่อของธนาคารจะต้อง Net Zero Carbon คือ การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยการผลักดันให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเทรนพนักงานในการให้ความรู้แก่ลูกค้า เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบที่ค่อนข้างใหม่

——————————————————————————
ติดตามข่าว ไอที เทคโนโลยี นวัตกรรม ธุรกิจดิจิทัล สำหรับไลฟ์สไตล์ในโลกยุคใหม่ได้ที่สปริงนิวส์ www.springnews.co.th

related