svasdssvasds

RGuard กับการใช้ Open Data เพื่อทำให้ชีวิตพวกเราดีขึ้น

RGuard กับการใช้ Open Data เพื่อทำให้ชีวิตพวกเราดีขึ้น

ทำความรู้จัก RGuard แอปพลิเคชันที่นำ Open Data จากศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาทำให้ชีวิตพวกเราดีขึ้น หลังจากที่ ดีอีเอส มอบหมายให้ เอ็นที ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM ทั่วประเทศ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยเชิงรุก

RGuard เป็นแอปพลิเคชันใหม่ของไทยที่เหมาะจะติดตั้งในมือถือ เพราะซิงก์กับ ข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Open Data จากข้อมูลในคลังของ ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งบอกได้ว่า พื้นที่ไหนในไทยมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน และที่สำคัญ ใช่จุดที่คุณอยู่หรือเปล่า

Application : RGuard

แหล่งรวมข้อมูลฝน ฟ้า อากาศ ที่จะส่งต่อไปยัง RGuard

ด้วยเป้าหมายในการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำนวน 8,000 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 900 อำเภอ 5,000 ตำบล ใน 77 จังหวัด สถานีทั้งหมดจะเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งฝุ่น (PM 1, PM 2.5, PM 10) อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ รวมทั้งทิศทางและความเร็วลม เข้าสู่คลังข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ทุกคน ทุกหน่วยงานสามารถเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลได้ และสำหรับประชาชนที่ต้องการเช็กปริมาณฝุ่นควันในพื้นที่ต่างๆ ก็สามารถโหลดแอปพลิเคชัน RGuard มาติดตั้งในมือถือได้เลย (อยู่ระหว่างการติดตั้งสถานีตรวจวัดทั่วประเทศ)

หน้าตาแอปพลิเคชัน RGuard

Open Data และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของชาติ

ในงานเปิดตัว ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีการเสวนา AQI Open Data และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประโยชน์ต่างๆ รวมถึงข้อเสนอแนะจาก 4 ผู้ร่วมเสวนา

  • ธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
  • อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการใหญ่และกรรมการบริหาร Nation Group
  • ภลลกร พิมพ์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบร์คอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด

..........................................................................................................................

ข่าวและคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง 

..........................................................................................................................

ภาพขณะเสวนาในหัวข้อ "AQI Open Data และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของชาติ" ณ NT Tower วันที่ 23 มีนาคม 2565

ธีรวุฒิ ธงภักดิ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการของประชาชนพบว่า 81.3% พึงพอใจที่รัฐเปิดเผยข้อมูลและจัดทำ Open Data หรือ ข้อมูลเปิดภาครัฐ

"ตั้งแต่ เอ็นที เข้ามาขอรับการสนับสนุนจากกองทุน ถือว่าเกาถูกที่คัน เพราะปัญหาฝุ่นควันยังคงอยู่ ซึ่งคนดำเนินการก็ไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์ และยังให้ข้อมูลได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ใครจะเอาไปทำโมเดลคาดการณ์ภัยพิบัติ ต่อยอดสิ่งที่เห็นก็ได้ นี่ยังไม่รวมฝั่งสตาร์ทอัพว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร สังคมก็จะปลอดภัยขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล"

นั่นคือ เมื่อแต่ละหน่วยงานมีฐานข้อมูล ก็สามารถนำ ข้อมูลเปิดภาครัฐ ไปต่อยอดเพื่อการปฏิบัติตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อได้ 

"เมื่อรู้ว่าที่ไหนฝุ่นเยอะ หน่วยงานอาจแจกหน้ากากอนามัยให้คนในย่านนั้นได้ หรือเช้าฝุ่นเยอะ ก็ออกจากบ้านช่วงบ่าย เราเปิดข้อมูลอดีต ย้อนหลังให้หมด รวมข้อมูลด้านการเผาไหม้และอื่นๆ ด้วย ก็จะสามารถทำ Predictive Model และถ้ามีข้อมูลมากพอ บอกได้ว่าอีก 5 วัน ปริมาณ PM 2.5 จะเป็นอย่างไร"  ดร.วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ อธิบาย

AQI Dashboard ภายในศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Data)

ในแง่การทำงานของสื่อ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐว่า

"ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์อากาศซึ่งจะมากกว่าแค่ฝนตก สื่อต้องคิดต่อว่า จะนำเสนอแบบไหน ทั้งบนทีวีดิจิทัล ซึ่งเข้าถึงคนตามชนบทได้จำนวนมาก และบนออนไลน์ ที่มีคนเข้าเว็บไซต์ค่อนข้างเยอะ"

และข้อเสนอแนะว่า "ทาง เอ็นที ต้องให้ความรู้ว่า นำ Open Data ไปใช้ในรูปแบบไหนได้บ้าง ช่วงหลังเห็นสตาร์ทอัพทำแอปออกมาหลากหลาย แต่เชื่อว่ายังไม่สมบูรณ์พอ ผู้สนใจอาจนำข้อมูลเปิดไปทำเรื่องท่องเที่ยว การเดินทาง ขนส่ง คือไปต่อได้อีกเยอะ"

ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เบื้องหลังคลังข้อมูลของ RGuard

มาที่ ภลลกร พิมพ์สุวรรณ จาก แบร์คอน คอร์ปอเรชั่น เล่าถึงการเช็กค่าฝุ่นว่า "ก่อนหน้านี้โรงเรียนปิด 437 แห่ง เราไปติดตั้งให้โรงเรียนใน กทม. 2 แห่ง ทำให้รู้ว่า ค่าฝุ่นไม่ได้พีคตลอดเวลา ในอนาคตอันใกล้ เมื่อตรวจวัดและวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณฝุ่นจากการเก็บข้อมูล 8,000 จุด ก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืน"

RGuard จึงเป็นตัวอย่างในด้านการใช้ ข้อมูลสาธารณะ หรือ ข้อมูลเปิดภาครัฐ ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งเก็บข้อมูลเข้าคลังมากเท่าไหร่ เทคโนโลยี Big Data ก็จะคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝุ่น และฟีเจอร์อื่นๆ ที่จะตามมาได้แม่นยำมากขึ้น และเมื่อรู้สภาพแวดล้อมล่วงหน้า เราก็สามารถวางแผนชีวิตได้ดีขึ้น และปลายทางของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย

related